“ตำรวจเครียดจัดฆ่าตัวตายสูงและฆ่าผู้อื่นตาย” ...ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสบอกว่า “ตำรวจ” เป็นข้าราชการที่มีการฆ่าตัวตายสูงสุดและฆ่าผู้อื่นตาย เกิดกรณีกราดยิงที่หนองบัวลำภู ที่มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนมาก

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากย้อนมองถึงสาเหตุ...ในภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นในมุมลบจากที่ผ่านๆมา เริ่มจาก... “ตัวระบบ” ที่เป็นระบบรวมศูนย์อำนาจทางดิ่งทำให้เกิดพฤติกรรมเบี่ยงเบนทั้งนายและพลตำรวจ?

ประการถัดมา...ตำรวจผู้น้อยถูกบีบคั้น จากทั้งข้างบนและข้างล่าง ด้วยระบบรีดไถ ส่งส่วยนาย ทำให้เป็นที่เกลียดชังของประชาชน? ประการที่สาม...ภาระหนักเกิน ลองไปดูที่สถานีตำรวจยามค่ำคืนเพราะต้องรับภาระอย่างโดดเดี่ยว?

ประการที่สี่...เงินเดือนน้อย ต่างจากตำรวจญี่ปุ่นที่เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการอื่นๆเพราะต้องคัดเลือกอย่างพิถีพิถัน?

ถอดบทเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์กราดยิงหนองบัวลำภู นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และอดีตนายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวในรายการ “เปิดปากกับภาคภูมิ” ไทยรัฐทีวีระบุว่า...จากการศึกษาในระดับโลก เหตุการณ์กราดยิงกว่า 96% มาจากคนที่ไม่ป่วยทางจิต

...

แต่...มีความเครียด ทะเลาะเบาะแว้ง เมา ฯลฯ และอีกไม่ถึง 5% คือคนป่วยจิต และ 5% จะมาจาก 2 โรคที่ไม่ได้รับการรักษาเท่านั้น คือ โรคจากการติดยาเสพติด และโรคจากการหลงผิดที่รุนแรง แต่หากได้รับการรักษา โอกาสก่อความรุนแรงก็จะน้อยมากเพราะบำบัดได้

ดังนั้น “คนที่ติดยา” ซึ่งถือว่าเป็นผู้ป่วย จึงควรได้รับการบำบัด แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รับการบำบัด เพราะไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วย

นอกจากนี้ คนที่อยู่ในสายงานความมั่นคง เป็นคนที่เข้าถึงอาวุธได้ง่าย และมีประสบการณ์ในการใช้อาวุธ ปัญหาใหญ่คือเราใช้มาตรการวินัยเป็นหลัก ก็ลงโทษด้วยการตักเตือน ปลดออก ไล่ออก โดยเฉพาะ
ปลดออก ไล่ออก ถ้าคนคนนั้นป่วย ก็อาจเป็นสาเหตุให้เขาก่อความรุนแรงได้โดยไม่ได้ตั้งใจ

เรียกว่า...ใช้มาตรการทางวินัยนำมาตรการด้านสุขภาพจิตให้ออกอย่างเดียวโดยไม่ได้รับการบำบัดสุขภาพจิต แล้วออกมาอยู่ในสังคม ซึ่งจริงๆแล้วเราต้องใช้มาตรการบำบัดนำมาตรการทางวินัย ต้องรักษาแบบจริงจัง

เพราะ...คนกลุ่มนี้มีลักษณะที่ก่อความรุนแรงและความเสียหายได้มากกว่าคนทั่วไป

หากจะถามถึงแนวทางแก้ปัญหาแบบไม่วัวหายล้อมคอกจากเงื่อนปมนี้ หลักคิดในการปฏิรูป ใช้หลักคิด... “ระบบภูมิคุ้มกันประเทศ” เลียนแบบระบบร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นระบบที่ดีที่สุดในจักรวาล

“ร่างกายมนุษย์แม้จะสมบูรณ์แข็งแรงเพียงใดถ้าไม่มีระบบภูมิคุ้มกันชีวิตก็ไม่รอด เพราะภยันตรายเกิดขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกตัว ระบบภูมิคุ้มกันจึงสำคัญยิ่งและเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆทุกระบบ ประเทศก็ควรมีระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและเชื่อมโยงกับระบบอื่นๆทุกระบบ”

ระบบตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันแบบมีส่วนร่วม ไม่ใช่ทั้งหมด

ศ.นพ.ประเวศ ย้ำว่า แนวทางปฏิรูประบบตำรวจอันดับแรกต้องกระจายอำนาจพิทักษ์สันติราษฎร์ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ให้มีตำรวจที่ขึ้นกับชุมชนและตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่น

“ยามชุมชนก็คือตำรวจของชุมชนได้รับเงินเดือนจากชุมชนจะรับผิดชอบต่อชุมชนสูง เพราะถ้าไม่รับผิดชอบ ชุมชนเขาก็ไล่ออก ตำรวจที่ขึ้นกับท้องถิ่นก็เช่นเดียวกัน ตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น ไม่ต้องมีหน้าที่รีดไถ ส่งส่วยนาย ตำรวจจึงเป็นที่รักของประชาชน”

...

ทุก “ชุมชน” และ “ท้องถิ่น” ควรมีตำรวจของตัวเองและถนอมรักตำรวจของตัวเองอย่างดี มีเงินเดือนและสวัสดิการสูง สอง...ลดภาระความรับผิดชอบ อะไรที่ให้คนอื่นทำได้ก็ควรกระจายภารกิจออกจากตำรวจ...ชุมชนท้องถิ่นควรจัดให้มี “อาสาสมัครความปลอดภัย” ของชุมชนและท้องถิ่น

ดูแลความปลอดภัยทุกอย่างเป็นชุมชนปลอดภัย ท้องถิ่นปลอดภัย ทีมอาสาสมัครความปลอดภัยชุมชนท้องถิ่นทำงานเป็นทีมกับตำรวจชุมชนและตำรวจท้องถิ่น อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ

แค่สองประการนี้ คือการกระจายอำนาจไปสู่ชุมชนท้องถิ่นและระบบความปลอดภัยของชุมชนท้องถิ่นก็จะส่งผลให้ประชาชนมีความปลอดภัยสูง

“ตำรวจทั้งประเทศมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นที่รักของประชาชน ไม่เครียดอีกต่อไป” ศ.นพ.ประเวศ ว่า “โดยสรุป...ทั้งประชาชนและตำรวจ ต่างถนอมรักซึ่งกันและกัน”

พุ่งเป้าไปที่การปฏิรูปบทบาทขององค์กรตำรวจส่วนกลาง

...

“องค์กรตำรวจส่วนกลางเหลือกำลังพลน้อย เพราะตำรวจเกือบทั้งหมดไปขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นแล้ว องค์กรตำรวจส่วนกลางแม้มีขนาดเล็กแต่มีบทบาทใหญ่ คือสนับสนุนระบบตำรวจทางวิชาการ...บทบาททางนโยบาย...เสริมกำลังตำรวจชุมชนท้องถิ่นในกรณีมีปัญหาที่เกินความสามารถของกำลังในชุมชนท้องถิ่น”

หัวใจสำคัญสำหรับในทางวิชาการนั้น ต้องวิจัยสำรวจความปลอดภัยของประชาชนทั่วประเทศ และนำมาสังเคราะห์เป็น “นโยบาย” และ “ยุทธศาสตร์” ความปลอดภัยของประชาชนทั้งประเทศและทำการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์

ทำโครงการฝึกอบรมตำรวจทั้งประเทศให้มีคุณธรรมและสมรรถนะสูง

ตำรวจส่วนกลางก็ควรมีเงินเดือนและสวัสดิการสูงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี

ดังนี้ “ตำรวจ” ทั้งประเทศจะเป็น “คนเก่ง” และ “คนดี” เป็นที่รักของประชาชน ไม่เป็นต้นเหตุของโศกนาฏกรรม แต่เป็นผู้ป้องกันโศกนาฏกรรมทางสังคม

ต่อเนื่องเชื่อมโยงไปถึง...กลไกในการปฏิรูประบบพิทักษ์สันติราษฎร์คือคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ ศ.นพ.ประเวศ บอกอีกว่า ต้องเข้าใจหลักการของคณะกรรมการอิสระ อันได้แก่ การเฟ้นหาประธานซึ่งมีปัญญาบารมีเป็นที่เชื่อถือของสังคมแล้วให้ประธานเลือกกรรมการเอง โดยรัฐบาลไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง

...

นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระตามข้อเสนอของประธาน รัฐสนับสนุนและเอื้ออำนวยความสะดวกในการทำงานของคณะกรรมการอิสระทุกทาง ซึ่งผมขอเสนอ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ เป็นประธานคณะกรรมการอิสระปฏิรูประบบตำรวจ ท่านเป็นอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม

มีแนวคิดเรื่องการปฏิรูป “ระบบความยุติธรรม” แนวคิดประสบการณ์เรื่อง...“ระบบความยุติธรรมชุมชน” ซึ่งพบว่าตำรวจคนเดียวกัน ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมแนวดิ่งจะเป็นที่เกลียดชังของประชาชน

แต่ถ้าอยู่ในระบบความยุติธรรมชุมชนจะเป็นที่รักของประชาชน แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “ระบบ” กำหนดพฤติกรรมของบุคคลไม่ใช่กรรมส่วนบุคคลอย่างเดียว จึงสมควรปฏิรูประบบ

ขออวยพรให้การปฏิรูประบบตำรวจสัมฤทธิผล ประชาชนปลอดภัย “ตำรวจ” ทั้งประเทศเป็นคนเก่งและคนดี เป็นที่ถนอมรักของประชาชน.