ผู้ป่วยยาเสพติด จิตเวช โผล่ทุกตำบล ตำรวจขอนแก่นผุดโครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชา 1 ตำบล 1 ทีมไม้ง่าม แจกให้ผู้นำชุมชน พร้อมจัดอบรมชายฉกรรจ์ แจก "ไม้ง่าม" ให้ไปใช้ระงับเหตุคลุ้มคลั่งรายวัน

เวลา 10.00 น. วันที่ 14 กันยายน 2565 ที่หอประชุมอำเภอเมืองขอนแก่น พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดโครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชา 1 ตำบล 1 ทีมไม้ง่าม โดยมี พ.ต.อ.ปรีชา เก่งสาริกิจ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น นายประจวบ รักษ์แพทย์ นายอำเภอเมืองขอนแก่น และกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน ในพื้นที่ 9 ตำบลคือ ตำบลบ้านเป็ด บ้านทุ่ม แดงใหญ่ สาวะถี บ้านค้อ สำราญ โนนท่อน เมืองเก่า และตำบลท่าพระ ของอำเภอเมืองขอนแก่น จำนวน 180 คน เดินทางมาเข้าร่วมอบรมการใช้ไม้ง่ามระงับเหตุการณ์ผู้ป่วยจิตเวช คนวิกลจริต หรือผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตเวช มีอาการคลุ้มคลั่ง และก่อเหตุอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยมีเจ้าหน้าที่ชุดปราบปราม สภ.เมืองขอนแก่น แสดงวิธีและกลยุทธ์ เทคนิคการใช้ไม้ง่ามเข้าระงับเหตุผู้ป่วยจิตเวช คนวิกลจริต หรือผู้ป่วยยาเสพติดฯ ให้กับผู้เข้าอบรมได้ชม พร้อมมอบอุปกรณ์ไม้ง่ามให้ตัวแทนตำบลที่เข้าอบรม ตำบลละ 2 ชุด

...

นายสุทธิศักดิ์ สัสดีไกรสร กำนันตำบลบ้านเป็ด กล่าวว่า การร่วมอบรมโครงการ 1 ตำบล 1 ไม้ง่าม มีประโยชน์กับชุมชนมาก เพราะว่าปัญหายาเสพติด หรือปัญหาเกี่ยวกับผู้ป่วยทางจิตในสังคมทุกวันนี้ มีมากขึ้น ในแต่ละตำบลความแตกต่างกันออกไป ซึ่งเป็นปัญหาของชุมชนที่มีมากขึ้นจริงๆ ในทุกวันนี้

"1 ตำบล 1 ไม้ง่ามนี้ ผมคิดว่าเป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเพื่อรักษาชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนภายในชุมชนของตนเอง แม้ผู้เข้าอบรมที่เป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือผู้นำชุมชนส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ อาจจะสู้กับคนที่อาละวาดไม่ได้เรื้องนี้ไม่ใช่ปัญหา เพราะโครงการนาคาพิทักษ์รักประชาเราได้มีการอบรมภายในตำบลของตัวเอง เน้นอบรมหนุ่มฉกรรจ์ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 30 ปี แต่ละหมู่บ้านให้ส่งหมู่บ้านละ 3 คนเข้ารับการอบรม จึงคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์สำหรับชุมชนเป็นอย่างมาก"

ทางด้าน พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส กล่าวว่า โครงการนาคาพิทักษ์รักประชา 1 ตำบล 1 ทีมไม้ง่ามนั้น เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทางฝ่ายปกครองโดยนายอำเภอเมืองขอนแก่น ต้องการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ทั้งยังเป็นการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและความรู้ด้านยุทธวิธีในการระงับเหตุกรณีผู้ป่วยจิตเวช และผู้ป่วยยาเสพติด ที่มีอาการทางจิตเกิดอาการคลุ้มคลั่ง เพื่อเป็นการป้องกันระงับเหตุและควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที เป็นไปตามหลักยุทธวิธีสากล มีประสิทธิภาพ ไม่ให้เกิดความสูญเสียทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และผู้ก่อเหตุที่มีอาการทางจิตเวช และผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิต

ทั้งนี้เรามีการสำรวจผู้ป่วยที่เกี่ยวกับยาเสพติดทั้งจังหวัดขอนแก่นมีประมาณ 2,000-3,000 คน นำมาคัดกรองวัดระดับความรุนแรงแต่ละบุคคล ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทางงฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมกันขับเคลื่อนในเรื่องของการระงับยับยั้งกรณีที่บุคคลดังกล่าวได้มีการคุ้มคลั่งและอาละวาด ขณะที่กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เพียงพอ จึงต้องบูรณาการกับฝ่ายปกครองและกำนันผู้ใหญ่บ้านและผู้นำชุมชนในการที่จะฝึกยุทธวิธีในการใช้ไม้ง่าม เพื่อขับเคลื่อนไปด้วยกันระหว่างที่มีเหตุเกิด ทีมระดับตำบลสามารถที่จะไปเจรจาหน่วงเหนี่ยวและใช้ยุทธวิธีไม้ง่ามในการระงับยับยั้งในส่วนนี้ได้

พล.ต.ต.นพเก้า โสมนัส กล่าวอีกว่า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นมีการอบรมตั้งแต่ปี 2564 มีการฝึกไม้ง่ามไปสู่ระดับตำบลในทุกอำเภอ ในส่วนของอำเภอเมืองพื้นที่ใหญ่ มีความจำเป็นต้องฝึกเพิ่ม นอกจากจะอบรมผู้ระงับเหตุบุคคลคุ้มคลั่งแล้ว ผู้ฝึกอบรมทุกคนต้องมีความปลอดภัย ซึ่งจะมีการฝึกยุทธวิธีและมีการประเมินผู้คุ้มคลั่งว่าสภาพอาการต้องใช้หลักยุทธวิธีอย่างไร เพื่อความปลอดภัยของบุคคลที่ไปปฏิบัติหน้าที่ ทั้งผู้ช่วยเจ้าพนักงาน กำนันผู้ใหญ่บ้าน และตำรวจด้วย.