สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 4 ขอนแก่น (สศท.4) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ศึกษาแนวทางการพัฒนาสินค้าอัตลักษณ์ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ (GI) จ.ร้อยเอ็ด ในพื้นที่ อ.เกษตรวิสัย สำรวจเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างที่นำเทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการผลิตข้าว กับเกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตข้าว กลุ่มละ 32 ราย

พบว่า เทคโนโลยีโดรนมาใช้ในการผลิตข้าว โดยนำมาใช้ในการฉีดพ่นยาสารเคมี พ่นปุ๋ยน้ำ หรือฮอร์โมน ทำให้เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดี

การฉีดพ่นกระจายตัวได้อย่างทั่วถึง ลดการเหยียบย่ำในแปลงนาข้าว ลดความเสียหายของผลผลิต ลดผลกระทบจากการสัมผัสสารเคมีและปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกร รวมถึงลดระยะเวลาในการทำงาน และสามารถแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานอีกด้วย

ผลสำเร็จของการใช้เทคโนโลยีโดรนในการผลิตข้าว ส่งผลให้เกษตรกรได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 393 กก.ต่อปี ในขณะที่เกษตรกรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีโดรนในการผลิตข้าว ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 342 กก.ต่อปี

เกษตรกรที่ใช้เทคโนโลยีโดรนในการผลิตข้าว มีผลผลิตต่อไร่มากกว่าร้อยละ 15

ด้านราคาขายข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ GI จ.ร้อยเอ็ด ราคาเฉลี่ยปี 2564 ความชื้น 15% ที่เกษตรกรขายได้ ณ ไร่นา เฉลี่ยอยู่ที่ กก.ละ 10.3 บาท

ในส่วนของการแปรรูปเป็นข้าวสารบรรจุถุง ขนาด 1 กิโลกรัม ขายได้ราคาเฉลี่ยถุงละ 40-45 บาท ข้าวกล้องบรรจุถุงสุญญากาศ ราคาเฉลี่ยถุงละ 60-75 บาท

ด้านภาพรวมของสถานการณ์ตลาด ผลผลิตร้อยละ 56 เกษตรจะจำหน่ายให้กับโรงสีและกลุ่มเกษตรกร แบ่งเป็น ร้อยละ 21 จำหน่ายให้โรงสี, ร้อยละ 20 จำหน่ายให้กลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตข้าวหอมมะลิ GI ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด และร้อยละ 15 จำหน่ายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ พ่อค้าคนกลางและเกษตรกร

...

ส่วนผลผลิตร้อยละ 44 แบ่งเป็น ร้อยละ 33 เก็บไว้บริโภคในครัวเรือน และร้อยละ 12 เก็บเป็นเมล็ดพันธุ์.

สะ-เล-เต