แมลงวันลาย (Black Soldier Fly หรือ BSF) หรือแมลงโปรตีน เป็นแมลงที่ไม่เป็นพาหะนำโรค ไม่เป็นศัตรูพืช มีพฤติกรรมในการกินอาหารปริมาณค่อนข้างมากกว่าแมลงชนิดอื่น โดยใน 1 ตัว สามารถกินได้ถึง 25-500 มิลลิกรัม/วัน ฉะนั้นจึงสามารถใช้กำจัดขยะอินทรีย์ได้เป็นอย่างดี ขณะเดียวกันก็เป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม ในระยะก่อนเป็นดักแด้ (14 วัน) จะเหมาะนำไปเป็นอาหารสัตว์ที่สุด โดยเฉพาะในยามวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาสูง เพราะมีโปรตีนสูงถึง 42-45% มีไขมัน 30-35% มีธาตุอาหารสูงทั้งโอเมก้า 3, 6, 9

ห้างค้าปลีกชั้นนำอย่าง โลตัส จึงร่วมกับ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือขับเคลื่อนนวัตกรรมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ต่อยอดโครงการกินได้ไม่ทิ้งกันของโลตัส เพื่อลดขยะอาหารให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2030 โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดหรือตกเกรดจากโลตัส 30 สาขาใน จ.ขอนแก่น และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มาใช้เป็นอาหารเลี้ยงแมลงโปรตีน นำร่องสนับสนุนเครือข่ายเกษตรกรภาคอีสาน 24 ราย ช่วยลดต้นทุนอาหาร สัตว์ได้กว่าครึ่ง

...

“แมลงวันลายนอกจากจะเป็นแหล่งโปรตีน มีศักยภาพนำมาทดแทนปลาป่นและโปรตีนในอาหารสัตว์ได้แล้ว ยังเลี้ยงง่าย ไม่ค่อยมีศัตรูตามธรรมชาติ ขยายพันธุ์ได้ง่ายและเร็ว เราจึงร่วมกับโลตัสในการนำอาหารเหลือทิ้ง ทั้งอาหารที่เหลือจากการขายในร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เกต เช่น ผัก ผลไม้ อาหารสด อาหารปรุงสำเร็จรูป มาเป็นอาหารให้แก่แมลงวันลาย เพื่อให้เกษตรกรนำไปเลี้ยงเพื่อลดต้นทุนอาหารสัตว์ได้เกือบทุกชนิด ทั้งปลา ไก่ หมู จิ้งหรีด รวมถึงสัตว์แปลก ที่กำลังเป็นที่นิยมเลี้ยงในหมู่วัยรุ่น โดยอาหาร 3 กก. สามารถเลี้ยงหนอนแมลงวันลายได้ 1 กก.ต่อ 1 รอบการเลี้ยง หรือ 14 วัน”

ศ.ดร.ยุพา หาญบุญทรง สาขากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกถึงหนอนแมลงวันลายหรือหนอนแมลงโปรตีน ที่ได้ร่วมกับโลตัสลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ตาม โครงการแมลงโปรตีน เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงแมลงสำหรับผลิตโปรตีนทางเลือกให้กับชุมชนเป็นอาชีพและพึ่งพาตนเอง ลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ สร้างผู้ประกอบการให้เกิดธุรกิจใหม่ภายใต้ ‘BCG Economy Model’ และพัฒนาให้เป็นแหล่งวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

...

หนอนแมลงวันลายยังมีประโยชน์อีกหลายอย่าง เช่น มีสารต้านจุลินทรีย์ ช่วยยับยั้งเชื้อโรค จึงสามารถนำมาต่อยอดในอุตสาหกรรมเวชสำอาง รวมถึงมีคุณสมบัติทำเป็นพลาสติกชีวภาพ และผลิตเป็นไบโอดีเซลได้ ขณะที่มูลที่เป็นซากอินทรียวัตถุที่หนอนกำจัด ก็สามารถนำไปเป็นปุ๋ยได้ โดยในหนอน 1 กก. จะให้มูลถึง 6-7 ขีด ขณะที่ปัจจุบันมีสตาร์ตอัพต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ หนอนโปรตีนอบแห้ง ผงหนอนโปรตีน น้ำมันสกัดจากหนอนโปรตีน รวมถึงปุ๋ยชีวภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงเรือนต้นแบบการวิจัยและการผลิตแมลงอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นต้นแบบของการผลิตแมลงโปรตีนเพียงแห่งเดียวในขณะนี้ ที่สามารถผลิตแมลงโปรตีนที่มีปริมาณและคุณภาพสูงได้ตลอดทั้งปี และมีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีให้แก่เกษตรกรหรือผู้สนใจทั้งภาครัฐและเอกชน.

กรวัฒน์ วีนิล