รองนายกฯ วิษณุ ชื่นชม “กำพล วัชรพล” มีคุณูปการต่อการศึกษาชาติ ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา-มูลนิธิไทยรัฐ สร้างชื่อเสียงเกียรติคุณขจรขจายระดับโลก ยูเนสโกประกาศยกย่อง “บุคคลสำคัญของโลก” ด้านการศึกษาและสื่อสารมวลชน พร้อมยกย่องไทยรัฐวิทยา “รัฐประชาศึกษาสมาสัย” ชี้การเรียนประวัติศาสตร์สร้างความเข้าใจ-ภูมิใจ-ปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

ที่โรงแรมนภาลัย จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงานสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 111 แห่งทั่วราชอาณาจักร ครั้งที่ 40 ประจำปี 2565 โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นางเกศทิพย์ ศุภวินิช รองเลขาธิการ กพฐ. ว่าที่ร้อยตรีธนุ วงษ์จินดา รองเลขาธิการ กพฐ. นายวันชัย จันทร์พร รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายมานิจ สุขสมจิตร กรรมการบริหารมูลนิธิไทยรัฐ นายสมชาย กรุสวนสมบัติ กรรมการมูลนิธิไทยรัฐ และนายวิเชน โพชนุกูล เลขาธิการมูลนิธิไทยรัฐ ร่วมงาน

จากนั้นนายมานิจกล่าวรายงานว่า โรงเรียนไทยรัฐวิทยาเป็นโรงเรียนที่นายกำพล วัชรพล เจ้าของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ผู้ล่วงลับ ได้ก่อตั้งโครงการโรงเรียนไทยรัฐวิทยาเพื่อชุมชนในชนบทที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยเงินจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เพื่อเฉลี่ยความสุข ให้โอกาสที่เท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำของสังคม แม้ว่าเราจะทำได้เพียง จำนวน 111 โรง เราก็พยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ และโรงเรียนไทยรัฐวิทยาได้ทำความตกลงกับ สพฐ. เพิ่มการเรียนการสอนในวิชาสำคัญที่นอกเหนือไปจาก 8 สาระการเรียนรู้ที่มีอยู่แล้ว อีก 2 วิชา คือ วิชาความฉลาดรู้เรื่องสื่อกับวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม และในปีการศึกษา 2566 จะเพิ่มการเรียนการสอนวิชาประวัติศาสตร์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนรู้จักตัวเอง มรดกวัฒนธรรมของมนุษยชาติ และเป็นการสนองตอบเจตนาดีที่กระทรวงศึกษาธิการและ สพฐ. ที่อยากจะฟื้นฟูวิชาประวัติศาสตร์ขึ้นมาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศ

ด้าน ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุกล่าวเปิดงานสัมมนาว่า การจัดงานสัมมนาครั้งนี้ทำให้ภาครัฐซึ่งรับผิดชอบในการจัดการศึกษาของชาติได้มีโอกาสพบกับภาคเอกชนคือ มูลนิธิไทยรัฐ ซึ่งเข้ามาช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้การจัดการศึกษาของชาติดำเนินไปอย่างดีและได้ผล ทั้งยังได้พบกับบรรดาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยาทุกแห่ง เวลาที่เราพูดถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในด้านธุรกิจพาณิชยกรรม มีคำศัพท์เรียกว่า PPP หรือ Public- Private Partnership แต่เราไม่ค่อยมีตัวอย่างของการที่ภาครัฐและเอกชนจับมือกันในการพัฒนาการศึกษาของชาติ กรณีมูลนิธิไทยรัฐที่ได้จัดตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาขึ้น เป็นการแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในด้านการศึกษาและทำอย่างดี ได้ผล ยั่งยืน มั่นคงมาอย่างยาวนาน ตรงนี้น่าจะเรียกได้ว่าไม่ใช่ PPP เพราะไม่มีการเสนอหาค่ากำไร และไม่ใช่ประชารัฐเพราะไม่มีนัยทางการเมืองใดๆ แฝงอยู่ ตนอยากจะเรียกว่า เป็นรัฐประชาศึกษาสมาสัย คำนี้หมายความถึงการที่ภาครัฐและภาคประชาชนได้อาศัยช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการศึกษา

ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุกล่าวด้วยว่า นายกำพล วัชรพล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ไทยรัฐและมูลนิธิไทยรัฐนำรายได้จากการประกอบกิจการการสื่อมวลชนมาจัดสร้างโรงเรียนขึ้นมากมายหลายแห่ง จนแม้ถึงแก่ อนิจกรรมไปแล้วก็ยังมีผู้สืบทอดเจตนารมณ์ในการสร้างโรงเรียนต่อไปอีก จนบัดนี้นับได้ 111 โรง โดยโรงเรียนเหล่านี้ หากสิ้นนายกำพล วัชรพล ไปอาจจะไม่มีผู้ใดมาดูแล และจะเป็นภาระของรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่คงเป็นด้วยความห่วงใยอาลัยอาวรณ์ นายกำพล จึงจัดตั้งมูลนิธิไทยรัฐขึ้นมาเพื่อทำนุบำรุงดูแลโรงเรียนเหล่านี้ทั้งหมด มาจนถึงบัดนี้มูลนิธิไทยรัฐไม่ได้สร้างเพียงโรงเรียนหรืออาคารทิ้งเอาไว้ หากแต่ยังมีโครงการอื่นๆ ขึ้นมาด้วย เช่น จัดให้มีทุนอาหารกลางวันแก่เด็กนักเรียน จัดการประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนไทยรัฐวิทยา

รองนายกฯกล่าวอีกว่านายกำพลถึงแก่ อนิจกรรมไปโดยที่ท่านไม่ได้รู้ว่าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ที่ได้ก่อตั้งนั้น ต่อไปจะสำเร็จเกิดดอกออกผลอำนวยประโยชน์แก่ประเทศชาติมากน้อยเพียงใด ท่านก็เห็นเพียงเท่าในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อสิ้นชีวิตไปแล้ว มีผู้คนที่เห็นคุณงามความดี เห็นคุณูปการที่นายกำพลมีต่อการศึกษาของชาติ เห็นเจตนาดีที่ท่านได้จัดตั้งโรงเรียนและมูลนิธิไทยรัฐขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดชื่อเสียงเกียรติคุณขจรขจาย ไม่เพียงแต่เกิดความซึ้งใจประทับใจในเด็กและเยาวชนของชาติ ในบรรดาครูอาจารย์ของชาติ ในวงการศึกษาของชาติ แต่สะท้อนไปจนกระทั่งถึงองค์การระดับโลกอย่างยูเนสโก

“ด้วยเหตุนี้เอง ในโอกาสที่นายกำพล มีอายุชาตกาลครบ 100 ปี ในปี 2562 ยูเนสโก จึงได้ประกาศให้นายกำพลเป็นบุคคลสำคัญของโลกมีผลงานดีเด่นด้านสื่อสารมวลชนและการศึกษา และเชิญชวนให้บรรดาประเทศสมาชิกของสหประชาชาติทั้งหลายร่วมเฉลิมฉลองเกียรติคุณนี้ให้แก่คนไทยที่เป็นลำดับที่ 28 ทั้งที่เป็นสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง ซึ่งท่านได้ประกาศว่า ท่านเกิดมาเป็นคนยากจน การศึกษาน้อย เมื่อวัยเด็กต้องประกอบอาชีพล่องเรือขายข้าวไปตามริมน้ำ วันดีคืนดีโชคดีประกอบอาชีพประสบความสำเร็จมีเพื่อนฝูง มีคนรัก มีเพื่อนร่วมงาน ทำหนังสือพิมพ์ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักทั่วประเทศ มีผลกำไร ท่านจึงอยากคืนกำไรให้แก่สังคม แต่คืนทางใดคงไม่บังเกิดผลสมใจเท่ากับการคืนให้การศึกษาเท่ากับเป็นการปั้นคนพัฒนาคนให้มีสติ ปัญญา คนเหล่านั้นจะได้เรียนรู้ ได้เฉลียวฉลาดมีสติปัญญามาก อย่างที่ท่านเองเคยอยากมีและไม่มีโอกาสตรงนี้เป็นเกียรติคุณที่น่ายกย่อง” รองนายกฯ กล่าว

จากนั้น ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรลืม” ตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และตนมีความห่วงใยที่อยากจะนำวิชาประวัติศาสตร์กลับขึ้นมาให้เป็นวิชาหลัก ไม่ใช่ไปสอดแทรกเข้าไปในวิชาอื่น เพราะเกรงว่าในที่สุดก็จะถูกมองข้ามไป ดังนั้น ตนยินดีและดีใจเป็นอย่างมากที่มูลนิธิไทยรัฐได้ขอประสานกับ สพฐ.ในการเพิ่มวิชาประวัติศาสตร์เข้าไปในหลักสูตรของโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งสามารถทำได้ และตอนนี้ตน และ น.ส.ตรีนุช ได้ทำเรื่องนวัตกรรมทางการศึกษาหรือพื้นที่ทดลองทางการศึกษา โดยได้เลือกโรงเรียนในไม่กี่จังหวัดที่ประกาศเป็นพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาซึ่งมีอะไรที่แปลกไปจากโรงเรียนอื่น และถ้าเป็นได้ก็อยากฝากผู้ที่เกี่ยวข้องว่า อาจจะนำวิชาความรอบรู้เกี่ยวกับสื่อมวลชนวิชาหน้าที่พลเมืองและศีลธรรม รวมถึงประวัติศาสตร์ใส่ไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนพื้นที่นวัตกรรมด้วย ถ้าทำได้ก็จะเป็นการดี

รองนายกฯกล่าวอีกว่า ประวัติศาสตร์นั้นมีประโยชน์มากมายหลายประการ ประการที่ 1 ใช้คำภาษาอังกฤษว่า To Understand คือประวัติศาสตร์ทำให้เราเข้าอก เข้าใจซาบซึ้งตรึงใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในอดีตอะไรก็ตามถ้าเรารู้เรื่องในอดีตแล้วจะทำให้เราเข้าใจ และเมื่อเข้าใจแล้วจะสามารถคิดอะไรต่อได้อีกหลายอย่าง ถ้านำมาใช้ให้เป็นก็จะเป็นประโยชน์ ประการที่ 2 To be proud คือ การเรียนรู้เข้าใจประวัติศาสตร์จะทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจ ถ้าเราเข้าใจประวัติศาสตร์ของครอบครัววงศ์สกุลของเรา เราจะเกิดความภาคภูมิใจในตระกูลของเรา ถ้าเรามีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ของประเทศ เราก็จะเกิดความภาคภูมิใจในประเทศของเรา จะมองเห็นอะไรต่อมิอะไรได้ทะลุปรุโปร่ง
ดังที่นักปราชญ์จีนคนหนึ่ง ชื่อ ซุนวู ได้เคยเขียนเอาไว้ว่า คนที่รู้เขารู้เรารบ 100 ครั้ง ก็ชนะ 100 ครั้ง คนที่ไม่รู้ประวัติศาสตร์ของเขา ไม่รู้ประวัติศาสตร์ของเรา เมื่อรบไปก็เหมือนกับคนตาบอดคลำช้าง รบไปส่งเดชอย่างนั้นเอง ถ้าชนะก็เป็นเราฟลุก ประการที่ 3 คือ To Apply ถ้ารู้ประวัติศาสตร์แล้วสามารถดึงนำมาใช้ประโยชน์ก็จะเป็นประโยชน์เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันนี้อาจจะเคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต ถ้าเรารู้ว่าในอดีตได้แก้ปัญหานั้นอย่างไร เราอาจจะนำมาใช้แก้ปัญหาด้วยวิธีเดียวกันหรือถ้าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปเราก็จะสามารถดัดแปลงได้