การดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้าน โดยสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เป็นอีกเครื่องมือเพิ่มแหล่งเงินทุนหมุนเวียน ที่จะเข้ามาสนับสนุนโครงการของชุมชน เพื่อการพัฒนาความเข้มแข็งในระดับชุมชน ทั้งทางด้านการกระตุ้นให้เกิดการออม การบริหารจัดการเงินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงในครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นทุนสำหรับการต่อยอดอาชีพ สร้างรายได้ ลดภาระค่าใช้จ่าย สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกใจเลย ที่กองทุนนี้สามารถยืนหยัดมาได้จนปัจจุบันรวมแล้วระยะเวลา 21 ปี ครั้นมาถึงยุคนี้ทิศทางของรัฐบาลได้เพิ่มเติม เน้นในเรื่องของการยกระดับพัฒนาอาชีพให้เป็นไปตามโมเดล “BCG Economy Model” ให้ความสำคัญกับการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนา เศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ดี คุณภาพชีวิตดี ด้วยการใช้ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านกลไกของกองทุนฯ จนตอนนี้หลายหมู่บ้านพัฒนาตัวเองสู่กองทุนหมู่บ้านที่ให้กู้ยืมเงิน แบบไม่ต้องกู้ยืมจากสถาบันการ เงินหรือธนาคาร

...

บัว ถุระพัฒน์ ประธานกองทุนหมู่บ้านไชยชนะ หมู่ 9 ต.โนนสวาง อ.กุดข้าวปุ้น จ.อุบลราชธานี เผยว่า เดิมชุมชนเรามีนโยบายเก็บเงินออมกันในกลุ่มตั้งแต่ปี 2544 เบื้องต้นเก็บเงินแรกออมคนละ 120 บาท และให้สมาชิกเก็บเงินไว้วันละอย่างน้อย 1 บาท นำมาฝากตอนสิ้นเดือนเพื่อสะสมไว้เป็นกองทุนให้สมาชิกมากู้ยืมทำการเกษตร รวมถึงใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

ต่อมาปี 2545 จึงได้เงินกองทุนหมู่บ้านจัดสรรมา 1 ล้านบาท เพื่อมาบริหารตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ ให้ดอกเบี้ยเงินฝาก ร้อยละ 6 ต่อปี เมื่อมีผลประกอบการดีขึ้น ปี 2548 จึงเริ่มปล่อยกู้รายละไม่เกิน 75,000 บาท โดยผู้กู้ต้องมีสมาชิก 2 ราย มาค้ำประกัน คิดดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 12 ต่อปี ปี 2559 จึงได้รับงบอุดหนุนเพิ่มเติมจากกองทุนประชารัฐอีก 500,000 บาท บวกกับเงินปันผลของกองทุนมาเปิดปั๊มน้ำมันชุมชน เนื่องจากชุมชนอยู่ห่างไกลจากเมืองพอสมควร เดินทางค่อนข้างลำบาก การเติมน้ำมันแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานกว่าจะไปถึงปั๊มน้ำมัน

กระทั่งปี 2562 จึงเริ่มทำโรงน้ำดื่มสะอาดเพื่อชุมชน โดยใช้ระบบอาร์โอที่ได้มาตรฐานน้ำดื่มสากล เพื่อให้ชาวบ้านนำแกลลอนถังใหญ่ความจุประมาณ 20 ลิตร มาเติมน้ำดื่มสะอาดในราคา 10 บาท เนื่องจากแต่เดิมคนแถบนี้บางส่วนต้องซื้อน้ำดื่มในราคาค่อนข้างแพง ขณะที่อีกส่วนแม้จะมีเครื่องกรองน้ำ แต่เมื่อใช้ไปนานเข้า ขาดการล้างหรือทำความสะอาดที่ได้มาตรฐาน จากนั้นไม่นานได้เพิ่มในส่วนของเต็นท์ โต๊ะเก้าอี้ เครื่องครัว สำหรับเช่าในงานบุญ รวมถึงสิ่งของต่างๆ

เลยทำให้ปัจจุบันกองทุนหมู่บ้านไชยชนะมีสมาชิกทั้งสิ้น 221 คน มีเงินหมุนเวียนในบัญชีชุมชนรวมเดือนละไม่น้อยกว่า 100,000 บาท มีเงินออมรวม 1,480,000 บาท ฝากไว้กับ ธ.ก.ส. ปล่อยกู้ให้สมาชิกไปแล้ว 1,200,000 บาท การันตีด้วยรางวัลรองชนะเลิศกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองตัวอย่าง ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยพึ่งพาอาศัยระหว่างกันในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องไปกู้เงิน ธ.ก.ส. ไม่ต้องกู้เงินนอกระบบอีกต่อไป.