นักวิจัย ม.เทคโนโลยีสุรนารี เจ๋งสร้างเครื่องต้นแบบกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ชี้กำจัดแมลงได้ 100% ไร้สารเคมี คงคุณภาพการงอกของเมล็ดพันธุ์ ต้นทุนอยู่ราว 4.5 แสนบาท
เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้แถลงผลงานวิจัยเปิดตัวเครื่องต้นแบบ กำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ สามารถกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวได้ 100% โดยไม่ใช้สารเคมี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังคงคุณภาพการงอกของเมล็ด เตรียมขยายผลไปยังกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รองรับกระแสผู้รักสุขภาพ และการขยายตัวภาคการผลิตข้าวอินทรีย์พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย
...
สำหรับ เครื่องต้นแบบ กำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ เป็นผลงานวิจัยของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กมลชนก อำนาจกิติกร อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการผลิตพืช สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ร่วมกับ รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และคณะ
คณะผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าหาวิธีการเแก้ปัญหาการกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยไม่ใช้สารเคมี และยังคงคุณภาพของการงอกที่สูงขึ้นกับข้าวพันธุ์ที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจของไทย 6 พันธุ์ คือ ขาวดอกมะลิ 105, กข 15, กข 6, กข 31, ปทุมธานี 1 และสันป่าตอง 1 ด้วยการนำเทคโนโลยีคลื่นความถี่วิทยุในการกำจัดแมลงศัตรูข้าวเปลือกที่สำคัญ 3 ชนิด ได้แก่ ผีเสื้อข้าวเปลือก มอดหัวป้อม และด้วงงวง
เครื่องต้นแบบกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุ ใช้เทคนิคการกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวด้วยคลื่นความถี่วิทยุระหว่าง 31.25 - 41.25 MHz โดยมีอัตราการไหลอยู่ที่ประมาณ 300 กิโลกรัมต่อชั่วโมง ต้นทุนการผลิตเครื่องต้นแบบอยู่ที่ 450,000 บาทต่อเครื่อง สำหรับอายุการใช้งาน 4 ปี ค่าไฟฟ้า 80 บาทต่อตัน มีค่าใช้จ่ายในการกำจัดแมลงอยู่ที่ประมาณ 84 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าการใช้สารเคมีในการกำจัดแมลงที่มีค่าใช้จ่ายระหว่าง 84 – 190 บาทต่อตัน
...
โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านเครื่องต้นแบบกำจัดแมลงศัตรูเมล็ดพันธุ์ข้าวดังกล่าว สามารถกำจัดแมลงได้ผล 100% และผลการวิจัยยืนยันชัดเจนว่า เมล็ดพันธุ์ข้าวที่ผ่านการกำจัดแมลงด้วยวิธีนี้ ไม่มีความเสียหายระดับเซลล์ รวมทั้งไม่กระทบต่ออายุการเก็บรักษา การเจริญเติบโต และผลผลิตของข้าวที่มีความสำคัญมากทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการวิจัยครั้งนี้จะเกิดประโยชน์อย่างสูงแก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และคณะผู้วิจัยจะใช้ผลการวิจัยในการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติต่อไป.