ช่างปั้นเตาบ้านช่างหม้อ อุบลราชธานี เผย เตาอั้งโล่แบบประหยัดพลังงานยอดขายพุ่ง ผลิตไม่ทัน หลังก๊าซหุงต้มราคาแพง เผย ต้องผลิตส่งออกขายในลาวและกัมพูชา ที่เผชิญปัญหาราคาพลังงานสูงแบบเดียวกันด้วย

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. 2565 ผู้สื่อข่าวเดินทางไปยังจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อดูบรรยากาศการผลิตเตาถ่านใช้หุงต้ม ที่บ้านช่างหม้อ ต.คำน้ำแซบ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ที่ถือเป็นแหล่งผลิตเตาอั้งโล่แบบประหยัดพลังงานใหญ่ที่สุดในประเทศ ซึ่งได้รับการส่งเสริมจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และเทศบาลตำบลคำน้ำแซบมานานหลายปี ทำให้ปัจจุบันที่หมู่บ้านมีผู้ผลิตเตาถ่านแบบใหม่เกือบ 10 ราย โดยแต่ละรายมีกำลังผลิตประมาณ 1,000 ลูกต่อเดือน ราคาขายส่งลูกละ 150-200 บาท ราคาหน้าร้าน 300-350 บาท แล้วแต่ขนาด

...

นายสมจิตร ผันผอง อายุ 61 ปี ผู้ผลิตเตาถ่านแบบประหยัดพลังงาน กล่าวว่า ชาวบ้านช่างหม้อได้สืบทอดอาชีพปั้นเตาถ่านส่งขายตามครัวเรือนมาจากรุ่นพ่อรุ่นแม่ และเมื่อกว่ายี่สิบปีก่อนได้รับผลกระทบยอดขายลดลงตามสมัยนิยม เพราะเตาแบบเดิมสิ้นเปลืองถ่านที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาก แต่เมื่อได้รับความรู้การผลิตเตาแบบประหยัดพลังงาน สามารถใช้ถ่านได้อย่างคุ้มค่า ทำให้เตาของหมู่บ้านกลับมาเป็นที่ต้องการของตลาด และยิ่งช่วงนี้ที่แก๊สใช้หุงต้มมีราคาแพงขึ้น ทำให้เตาถ่านอั้งโล่ประหยัดพลังงานได้รับความนิยม

ผู้ผลิตเตาถ่านแบบประหยัดพลังงาน กล่าวต่อว่า โดยเตาอั้งโล่แบบประหยัดพลังงานของที่นี่มีจุดเด่น คือ ให้ความร้อนสูง แต่อัตราการสิ้นเปลืองน้อยกว่าเตาแก๊สเกือบครึ่งหนึ่ง ที่สำคัญเตาถ่านเมื่อใช้ปรุงอาหารมีรสชาติดีกว่าเตาแก๊ส จึงมีคำสั่งซื้อจากพ่อค้าคนกลางเข้ามามาก ทำให้กำลังผลิตของชุมชนที่มีอยู่ประมาณ 10,000 ลูกต่อเดือน ไม่พอต่อความต้องการ เพราะนอกจากขายในประเทศแล้วยังต้องส่งไปขายในประเทศเพื่อนบ้านทั้งลาว และกัมพูชา

...

ด้านนายณฐพล บุญชู นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ เปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงพลังงานได้มาให้การสนับสนุนเมื่อปี 2529 ทางชาวบ้านได้นำความรู้จากกระทรวงพลังงานมาเป็นอาชีพจนถึงทุกวันนี้ ทางเทศบาลตำบลคำน้ำแซบก็ได้สนับสนุนเกี่ยวกับการทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) ของตำบลคำน้ำแซบ ตอนนี้เตาเศรษฐกิจในตำบลคำน้ำแซบเป็นแหล่งผลิตเตาที่มากที่สุดของประเทศ

...

นายกเทศมนตรีตำบลคำน้ำแซบ กล่าวด้วยว่า เตาประหยัดพลังงานที่ผลิต ล่าสุดส่งไปถึงประเทศเพื่อนบ้านได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นลาว หรือเขมร ตอนนี้เราส่งไปทั่วทั้งจังหวัดยังไม่พอ แต่ยังต้องส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนปัญหาอุปสรรคที่พบตอนนี้ คือ จำนวนการผลิตที่เท่าเดิม แต่ความต้องการของตลาดมากกว่า ทำให้ไม่สามารถผลิตได้ทัน จึงอยากให้ทางกระทรวงพลังงานนำเข้ามาส่งเสริมการผลิต.