ผู้ขับขี่จยย.รับจ้างที่โคราช เผยมาตรการช่วยค่าน้ำมัน 3 เดือนของรัฐ ยังไม่ได้สิทธิ์สักราย ขณะที่รถตู้โดยสารสาธารณะวอนรัฐช่วยเหลือให้เท่าเทียมกัน

วันที่ 4 พ.ค. 65 ภายหลังจากที่ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการปรับปรุงรายละเอียดมาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาผลกระทบประชาชนจากสถานการณ์ราคาพลังงานในปัจจุบัน สำหรับช่วยเหลือค่าน้ำมันผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง โดยให้ส่วนลดราคาน้ำมัน “กลุ่มเบนซิน” ทั้งหมด สำหรับผู้ขับขี่รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (วินมอเตอร์ไซค์) ที่มีใบอนุญาต - จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก จำนวน 106,655 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 22 มี.ค. 2565) ในรูปแบบรัฐร่วมจ่าย 50% ไม่เกิน 50 บ./คน/วัน และไม่เกิน 250 บ./คน/เดือน กับปั๊มน้ำมันที่ร่วมโครงการ เริ่ม พ.ค.-ก.ค. 2565 (รวม 3 เดือน) พร้อมยกเว้นภาษีเงินได้ฯ สำหรับผู้ที่ได้รับเงินจากโครงการนี้ โดยผู้ขับขี่วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะต้องยืนยันสิทธิ์และเงื่อนไขผ่านแอปพลิเคชัน และจ่ายเงินโดยสแกนคิวอาร์โค้ดกับปั๊มน้ำมันที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น

ล่าสุด วันนี้ (4 พฤษภาคม 2565) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สอบถามกลุ่มผู้ประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ โคราช ซึ่งมีอยู่กว่า 40 คัน พบว่าทุกคนยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เนื่องจากไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้สิทธิ์ โดยนายองอาจ พบโชค อายุ 53 ปี วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างรายหนึ่ง กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวนี้มาบ้าง แต่ไม่รู้รายละเอียดที่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะช่วยเหลืออย่างไร เพราะขนส่งในท้องที่ก็ไม่ได้มีการแจ้งรายละเอียดให้รับทราบถึงขั้นตอนต่างๆ ที่จะได้รับสิทธิ์ ซึ่งการช่วยเหลือวันละ 50 บาท แม้ไม่มากสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างถือว่าสามารถช่วยแบ่งเบาภาระค่าน้ำมันได้เป็นอย่างดี

...

"ทุกวันนี้ลูกค้าก็ลดลงมาก จากเดิมก่อนช่วงโควิด-19 ระบาด จะมีรายได้ประมาณ 600-700 บาท แต่ตอนนี้เหลือแค่วันละ 200 กว่าบาทเอง ซึ่งยังน้อยกว่าค่าแรงขั้นต่ำด้วยซ้ำ ถ้าคนที่ผ่อนรถจักรยานยนต์อยู่ จะอยู่ไม่ได้แน่นอน ต้องไปหาอาชีพอื่นทำเป็นรายได้เสริม ถึงจะอยู่รอด" นายองอาจ กล่าว

ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่ท่ารถตู้โดยสารสาธารณะ ภายในสถานีขนส่งนครราชสีมาแห่งที่ 2 พบว่าบรรยากาศเป็นไปด้วยความเงียบเหงา เนื่องจากประชาชนยังหวาดกลัวการระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้มีผู้มาใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะลดลงกว่า 80% โดยนายอำนาจ ชำเกษม อายุ 64 ปี ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารสาธารณะ สายโคราช-ขอนแก่น กล่าวว่า ทุกวันนี้คิวรถตู้แทบจะไม่ได้วิ่งตามเวลาที่กำหนด เพราะแต่ละคันจะต้องรอให้ผู้โดยสารซื้อตั๋วขึ้นรถให้ได้อย่างน้อยเที่ยวละ 8 คนขึ้นไป หรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของที่นั่งทั้งหมด 13 ที่นั่ง ถ้าผู้โดยสารไม่ถึง 8 ที่นั่ง วิ่งรถออกไปก็จะไม่คุ้มทุน แต่ถ้ารถคันไหนที่ใช้น้ำมันดีเซลไม่ต้องพูดถึงเลย คงเลิกวิ่งไปนานแล้ว ที่อยู่ได้เพราะใช้แก๊ส NGV จึงสามารถอยู่ได้ แต่ช่วงหลังๆ ค่าครองชีพต่างๆ เริ่มปรับราคาสูงขึ้นไปหมด ทำให้ขณะนี้รายได้ที่น้อยอยู่แล้ว บวกกับรายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการรถตู้โดยสารเริ่มจะอยู่ไม่ได้แล้วเหมือนกัน จึงอยากให้รัฐบาลมีมาตรการออกมาช่วยเหลือเหมือนกับช่วยวินมอเตอร์ไซค์ด้วย.