กินดิบเสี่ยงตาบอด อันตรายพยาธิหอยโข่งชอนไชจากลำไส้ขึ้นสมอง บางรายไปถึงลูกตา แพทย์ มข.เผยโรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่นมีผู้ป่วยโรคนี้ มากที่สุดในโลก 

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ ศ.นพ.วีรจิตต์ โชติมงคล อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ รศ.พญ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ หน่วยจอตาและน้ำวุ้นตา อาจารย์ประจำภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงวิธีการป้องกันการเกิดโรคพยาธิปอดหนู หรือพยาธิหอยโข่ง เพื่อเป็นความรู้แก่ประชาชน

ศ.นพ.วีรจิตต์ โชติมงคล กล่าวว่า โดยธรรมชาติวงจรชีวิตของพยาธิชนิดนี้ เมื่อเรากินตัวอ่อนเข้าไป ตัวอ่อนนั้นจะเข้าไปอยู่ในลำไส้ของเรา ทะลุลำไส้เข้าไปในกระแสเลือด และเจริญเติบโตที่สมอง เพราะฉะนั้นอาการของโรคนี้ส่วนใหญ่จะเป็นอาการปวดศีรษะอย่างมากอย่างที่ไม่เคยปวดมาก่อน กินยาแก้ปวดก็ไม่หาย คนไข้ก็จะมาโรงพยาบาล ซึ่งในทางการแพทย์นั้น การปวดศีรษะมีสาเหตุมากมาย แต่หากซักประวัติพบว่าคนไข้มีประวัติการกินของดิบ ประเภทหอยน้ำจืดดิบ เช่น หอยจุ๊บ หอยโข่ง หอยเชอรี่ กุ้งฝอยดิบ หรือตะกวด ซึ่งเป็นพาหะของพยาธิมีตัวอ่อนของพยาธิระยะติดต่ออยู่

...

"เมื่อตรวจร่างกายพบอาการอักเสบที่เยื่อหุ้มสมอง ผู้ป่วยจะมีอาการคอแข็ง ก็จะวินิจฉัยโดยการเจาะน้ำไขสันหลัง และหากพบการอักเสบที่เข้าได้กับโรคนี้ จะมีการตรวจเลือดหาภูมิต้านทานของพยาธิตัวนี้ต่อไป ซึ่งนานๆ ครั้งจึงจะพบเคสที่มีอาการรุนแรง ที่พยาธิได้ทำลายสมองจนคนไข้เกิดอาการโคม่าและเสียชีวิต ส่วนกรณีที่พยาธิไปปรากฏอยู่ในอวัยวะอื่น เช่น ตา นานๆ จะเจอเคสแบบนี้ เพราะการชอนไชไปที่อวัยวะอื่นๆ ไม่ใช่วงจรชีวิตของพยาธิ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ และจากผลงานวิจัยจากโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบว่าการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ในระยะเวลาประมาณ 2 อาทิตย์จะช่วยลดการอักเสบ และทำให้ลดอาการปวดศีรษะได้อย่างชัดเจน วิธีการนี้เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลก"

ด้าน รศ.พญ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ กล่าวถึงกรณีการติดเชื้อพยาธิในลูกตาในพื้นที่ภาคอีสานว่า การติดเชื้อพยาธิในลูกตามีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบมากที่สุด คือพยาธิหอยโข่ง พบมานานประมาณ 30 ปีแล้ว โดยเฉลี่ยช่วงหลังๆ มาจะพบกรณีศึกษาประมาณ 2 รายต่อปี จากทั่วภาคอีสาน เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ก็พบเคสที่เจอตัวพยาธิหอยโข่งทางด้านหน้าของลูกตา ซึ่งโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มีรายงานการพบจำนวนผู้ป่วยมากที่สุดในโลก โดยมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยแพร่หลายในฝั่งตะวันตกโดยติดต่อขอรูปจากเรา เพื่อนำไปลงในตำราทางวิชาการ

"พยาธิในลูกตาสามารถพบพยาธิได้หลายชนิด แต่ที่พบมากที่สุด คือ พยาธิหอยโข่ง และเคสที่เพิ่งเจอล่าสุดก็เป็นพยาธิหอยโข่งเช่นกัน เป็นคนไข้ที่ส่งตัวมาจากจังหวัดเลย ซึ่งประมาณ 80% ของคนไข้จะมาด้วยอาการตามัว และหากเราตรวจร่างกายโดยการตรวจตา ดูลักษณะของพยาธิจะสามารถบอกได้ว่าเป็นพยาธิชนิดใด และส่วนใหญ่พยาธิที่ชอบชอนไช นอกจากพยาธิหอยโข่งแล้ว จะเป็นพยาธิตัวจี๊ด พยาธิตัวตืด แต่จะเจอได้น้อยว่าพยาธิหอยโข่งมาก ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารดิบ ตัวพยาธิตัวนี้นอกจากรายงานการพบในภาคอีสานแล้ว ที่จังหวัดเชียงใหม่ก็มีเช่นกัน และส่วนใหญ่เคสที่พบ คือ มีพยาธิในตาแค่ตัวเดียว แต่ก็เคยมีรายงานว่าพบพยาธิสองตัวในตาเช่นกัน ซึ่งมีแค่เคสเดียวในโลก"

รศ.พญ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ กล่าวอีกว่า พยาธิหอยโข่ง เป็นพยาธิชอบเนื้อเยื่อที่เป็นระบบประสาท ดังนั้น ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบมากกว่าตา การที่พยาธิมาที่ตาได้ คือจะชอนไชมาทางเยื่อหุ้มเส้นประสาทตา แล้วเข้ามาในลูกตา ซึ่งเชื่อว่าเป็นทิศทางของพยาธิที่เข้ามาในลูกตามากที่สุด ซึ่งพบน้อยมาก ประมาณสัก 1-1.1 % ของผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และจากการรวบรวมข้อมูลมา กว่า 20 ปี พบว่ามีคนไข้น้อยมาก ที่จะมีประวัติเรื่องของปวดศีรษะ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบนำมาก่อน และมีคนไข้เพียงรายเดียวเท่านั้น ที่พบว่าคนไข้มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบในขณะที่เราวินิจฉัยว่าพบพยาธิที่ลูกตา คือ ขึ้นอยู่กับว่าพยาธิจะไปที่ไหนมากกว่า ส่วนความรุนแรงมีได้ตั้งแต่น้อยมาก จนถึงผู้ป่วยมีอาการตาบอดแล้วก็มี และคาดว่าอาจจะขึ้นอยู่กับขนาดของพยาธิด้วย และก็ขึ้นอยู่กับว่าพยาธิชอนไชมาแค่ไหนแล้ว ในบางเคส เมื่อคนไข้มาถึงก็เห็นว่ามีร่องรอยของการชอนไชของพยาธิในลูกตามากแล้ว ขั้วประสาทตาซีดแล้ว นั่นแสดงว่าคนไข้เป็นมานานแล้ว แต่ในขณะที่บางรายคนไข้เห็นแค่รอยเงาดำ ซึ่งเป็นลักษณะของการเคลื่อนไหวของพยาธิในลูกตา เมื่อคนไข้เขาสังเกตว่าเห็นเงาดังกล่าว ซึ่งคนไข้ยังไม่มีอาการตามัว และมาพบแพทย์เร็ว ก็จะทำให้ผลการรักษาค่อนข้างดี

สำหรับการรักษา ใช้วิธีการผ่าตัดเอาออก เพราะว่าตัวพยาธิเองหากมันตายก็จะก่อให้เกิดการอักเสบทำให้เนื้อเยื่อในตามีความเสียหาย แต่บางกรณี พยาธิอยู่ใต้จอตา การผ่าตัดจะต้องกรีดจอตาเพื่อหยิบพยาธิออกมา แต่การผ่าตัดก็จะมีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้นเราจะใช้วิธีการยิงเลเซอร์ร้อน ซึ่งเป็นเหมือนกับการเผาพยาธิ และเป็นวิธีที่แนะนำสำหรับกรณีที่ไม่สามารถผ่าตัดเอาออกได้ หลังการรักษาผู้ป่วยประมาณ 70% การมองเห็นไม่ดีขึ้นแม้จะรักษาแล้ว ไม่ว่าจะด้วยการยิงเลเซอร์ ด้วยการผ่าตัด หรือว่าการรับประทานยาถ่ายพยาธิ ซึ่งการรับประทานยาถ่ายพยาธิไม่ได้เป็นการรักษาพยาธิที่เรามองเห็น เพราะเมื่อเราทานยาถ่ายพยาธิไปแล้วนั้น พยาธิจะไม่ได้ตายทันที จะต้องเอาพยาธิออกให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิเข้าไปในตาอีกข้างหนึ่ง หรือเข้าไปในอวัยวะอื่นๆ รศ.พญ.สุธาสินี สีนะวัฒน์ กล่าว

...