วันนี้ผมจะพาท่านผู้อ่านไปชื่นชมเทศกาลศิลปะระดับโลก “Thailand Biennale, Korat 2021 งานมหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 2” ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะของศิลปินชาวไทยและต่างประเทศ 53 ท่าน จาก 25 ประเทศ โดยใช้พื้นที่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.พิมาย อ.ปากช่อง เป็นสถานที่จัดแสดงทั้งในอาคารและนอกอาคาร เริ่มแสดงมาตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมแล้ว และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2565
หลายคนสงสัย ทำไมการแสดงศิลปะนานาชาติจึงไปจัดที่ 3 อำเภอนครราชสีมา
คุณวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เล่าให้ฟังว่า จังหวัดนครราชสีมาได้รับการประกาศให้เป็น “เมืองศิลปะ” 1 ใน 3 แห่งของประเทศ มี เชียงราย นครราชสีมา และ กระบี่ รัฐบาลโดย กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้เลือกจังหวัดนครราชสีมาเป็นสถานที่จัดงาน “มหกรรมศิลปะนานาชาติ ครั้งที่ 2 Thailand Biennale, Korat 2021” เพื่อส่งเสริมให้เกิดพื้นที่ศิลปะการเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนและประชาชนทั่วไป ให้มีความรู้ความเข้าใจในศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย สร้างจิตสำนึกรักและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเอง มีส่วนร่วมในการพัฒนางานด้านศิลปะอย่างยั่งยืน และส่งเสริมการท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา
คนที่ชอบงานศิลปะย่อมรู้จัก เทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ (Biennale) เป็นอย่างดี เบียนนาเล่ ภาษาอิตาลีแปลว่า สองปี แต่วันนี้กลายเป็นแบรนด์จัดงานเทศกาลศิลปะเบียนนาเล่ไปแล้ว Art Biennale เกิดขึ้นที่ นครเวนิส เมืองแห่งศิลปะอันงดงามที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของอิตาลี ผมเคยไปชมมาแล้วและประทับใจมาก สองปีก่อน กรุงเทพมหานคร ก็เคยเป็นเจ้าภาพจัด Bangkok Art Biennale มาแล้ว ปีนี้ถึงคิว “โคราชเมืองศิลปะ” เป็นเจ้าภาพ มี ศ.ยูโก ฮาเซกาวา จากญี่ปุ่น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์
...
ศ.ยูโก ใช้แนวคิดการจัดนิทรรศการศิลปะว่า “Butterflies Frocking on the Mud : Engendering Sensible capital” ใช้ผีเสื้ออันสวยงามกับความสกปรกของดินโคลนเป็นแนวคิดการจัดนิทรรศการ ผีเสื้อกว่าจะเติบโตมาโบยบินได้ ก็ต้องผ่านการเติบโตตามวัฏจักร โดยมีแอ่งดินโคลนเป็นส่วนหนึ่ง เพื่อสื่อสารให้ผู้ชมผลงานได้ตระหนักถึง ชีวิตของมนุษย์ ไม่สามารถดำเนินควบคู่กับความสวยงามและตามความฝันเสมอไป ในหลายๆครั้งอาจต้องพบเจอกับการเปรอะเปื้อนจากความทุกข์หรือปัญหาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ชื่อภาษาไทยว่า “เซิ้ง...สิน ถิ่นย่าโม” คำว่า “เซิ้ง” ภาษาอีสานแสดงถึงความรื่นเริง ความสุข ความมีชีวิตชีวา ซึ่งเชื่อมโยงกับลักษณะของผีเสื้อ คำว่า “สิน” เป็นคำพ้องเสียงกับ “ศิลป์” หมายถึงทุนที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น และคำว่า “ถิ่นย่าโม” เป็นการระบุเฉพาะเจาะจงสถานที่จัดงาน คือ จังหวัดนครราชสีมา และยังเป็นการเชิดชู ท้าวสุรนารี หรือ ย่าโม วีรสตรีที่เคารพของชาวโคราช
ศิลปินไทยที่ร่วมแสดงผลงาน ได้แก่ ผศ.บุญเสริม เปรมธาดา, กฤช สมงาม, ประสิทธิ์ วิชายะ, ธัชมาพรรณ จันทร์จำรัสแสง, ห่มสวรรค์ อู่ม่านทรัพย์, อลงกรณ์ หล่อวัฒนา, อัคราช พรขจรกิจกุล, มณเฑียร บุญมา ฯลฯ
พื้นที่แสดงงานศิลปะมี 2 ส่วน ส่วนที่ 1 การแสดงศิลปะถาวรและกึ่งถาวรที่ อ.เมืองนครราชสีมา อ.พิมาย ส่วนที่ 2 นิทรรศการเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในโอกาสถวายพระสมัญญา “สิริศิลปิน” ณ หอศิลป์พิมานทิพย์ อ.ปากช่อง ภายใต้แนวคิด “ธรรมชาติเป็นใหญ่ในโลก ศิลปะมีอิสรภาพในตัวเอง” โดย นายปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ ผู้ออกแบบสัญลักษณ์ “สิริศิลปิน” อันหมายถึง ผู้มีศิลปะงดงาม
กว่าประเทศไทยจะได้ Art Biennale มาจัดแสดง ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมจึงขอเชิญชวนท่านที่ชื่นชอบศิลปะ ไปดื่มด่ำชื่นชมศิลปะระดับโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่นได้ตลอด 3 เดือนที่แสดงครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”