นายสานิตย์ พลศรี นายกสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิ เปิดเผยว่า ตนได้ทำหนังสือในนามสมาคมครูชนบทจังหวัดชัยภูมิส่งถึง น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เมื่อวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา เรื่องขอให้ตรวจสอบการทำประกันเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค. ที่อาจส่อขาดความโปร่งใส เนื้อหาในหนังสือมีใจความสรุปว่า ด้วยสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้จัดหาบริษัทประกันเงินกู้โครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิกการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเหลือเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.) โครงการที่ 5-7 ให้กับสมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้ มีพฤติการณ์ที่อาจส่อเงื่อนงำหลายประการ 1.มีข้อสงสัยกรณีก่อนหน้าที่นายธนพร สมศรี จะได้รับเลือกว่าจ้างให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการ สกสค.
ช่วงเดือน ก.ย.2563 มีกระแสข่าวกล่าวหาว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้อนุมัติให้ปรับเบี้ยประกันเงินกู้ ช.พ.ค.ให้สูงขึ้น ขณะเดียวกันมีกระแสข่าวสำนักงานคณะกรรมการ สกสค.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาหาบริษัทประกันเงินกู้ ช.พ.ค. จำนวน 2-3 คณะ แต่เรื่องเงียบหายไป จนกระทั่งวันที่ 11 พ.ย.2563 นายธนพรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.จะใช้ 2 บริษัทประกันชีวิต โดยจะเปิดช่องทางให้สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินโครงการ ช.พ.ค. 5-7 เลือกบริษัทประกัน 1 ใน 2 บริษัทนี้ได้ ซึ่งส่อว่าอาจจะมีการเอื้อประโยชน์ร่วมกันหรือไม่ ทำไมไม่เปิดกว้างหรือเปิดประมูลหาบริษัทประกันที่มั่นคง เบี้ยประกันราคาถูก ให้ครูผู้กู้เงินเลือกได้ตามสิทธิ์
2.นายธนพรให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนว่า ตามหลักแล้วธนาคารออมสินในฐานะเจ้าหนี้ไม่จำเป็นต้องให้ครูเลือกบริษัทประกัน ทั้งที่ตามกฎหมายการทำประกันสินเชื่อเงินกู้ ต้องให้ผู้กู้ทำด้วยความสมัครใจ การให้สัมภาษณ์ของนายธนพรดังกล่าว อาจส่อว่ามีอะไรแอบแฝงหรือไม่ 3.สัญญาเงินกู้กับธนาคารออมสิน สมาชิก ช.พ.ค.ผู้กู้เงินจำนวนหลายแสนคนได้จ่ายเงินค่าทำประกันไปแล้ว เพียงแต่ประกันที่สำนักงานคณะกรรมการ สกสค.หามาให้ครูผู้กู้มีระยะเวลาเพียง 9 ปี ซึ่งหมดระยะเวลาเอาประกันแล้ว แต่จำนวนหนี้ยังไม่หมด แล้วจะมาบังคับครูให้ทำประกันอีก เป็นเรื่องที่ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือไม่ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม จึงขอให้ รมว.ศึกษาธิการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงเรื่องนี้.
...