เป็นที่รับรู้กันว่าการทำ “ธนาคารน้ำใต้ดิน” หรือ Groundwater Bank สามารถเอาชนะภัยธรรมชาติได้ยั่งยืน หลายพื้นที่พิสูจน์ให้เห็นเป็นที่ยอมรับกันอย่างแพร่หลาย

เทศบาลตำบลโคกสี อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ภายใต้การบริหารของ นายทองใบ สุทธิประภา นายกเทศมนตรี เล็งเห็นความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม เมื่อถึงฤดูน้ำหลากเกิดน้ำท่วมพืชผลเสียหาย ครั้นเข้าสู่หน้าร้อนก็แล้งจนน้ำแห้งขอด

ตัดสินใจยกคณะไปศึกษาดูงานถึงความมหัศจรรย์ของนวัตกรรมธนาคารน้ำใต้ดินของ หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ ประธานสถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ ที่ไปช่วยแก้ภัยแล้งปัญหาอุทกภัย และน้ำเค็มให้ชาวบ้านเก่าขาม ต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี จนประสบความสำเร็จ

กลายเป็นโมเดลต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ศาสตร์การบริหารจัดการน้ำได้อย่างลงตัว

เพราะการทำธนาคารน้ำใต้ดินใช้หลักการเอาน้ำไปเก็บในชั้นใต้ดิน ใช้วิธีขุดบ่อบริเวณพื้นที่น้ำท่วมขัง หรือจุดรวมน้ำ เพื่อกักน้ำให้ซึมลงชั้นหิน เป็นการพักน้ำรวมไว้เหมือนธนาคาร

หรืออีกวิธีคือใช้เศษไม้ ขวดแก้ว เศษอิฐ กรวด หิน หรือวัสดุอื่นๆมาถมในบ่อเพื่อแทนที่น้ำให้น้ำล้นออกมาใช้ได้เร็วขึ้น แนวคิดนี้เป็นเหมือนกับการออมหรือกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในหน้าแล้ง หรืออุ้มน้ำในยามน้ำหลาก

ขนาดของบ่อขึ้นอยู่กับความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ ความลึกก็จะไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสภาพดินและชั้นหิน แต่ต้องขุดลึกให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ

สำหรับพื้นที่ ต.โคกสี บ่อมีขนาดกว้าง 25 เมตร ยาว 40 เมตร ลึก 7 เมตร ขุดให้ความลาดชัน 45 องศาให้ด้านบนบ่อกว้างกว่าก้นบ่อ ความลาดชันมีส่วนช่วยให้น้ำไหลลงสู่ก้นบ่อและชั้นหินอุ้มน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว

...

ปัจจุบันมีบ่อธนาคารน้ำใต้ดิน 40 บ่อ ครอบคลุมพื้นที่การเกษตรกว่า 2,000 ไร่ จากทั้งหมดกว่า 5,000 ไร่ ในอดีตเกษตรกรบ้านโคกสีทำนาแค่ปีละครั้ง ตอนนี้น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวได้ถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังเหลือใช้ในแปลงพืชผักสวนครัวได้อย่างเพียงพอ

สร้างอาชีพสร้างรายได้ให้ชาวบ้านมีกินมีใช้ไปตลอดปี.

สุทัศน์ บุญช่วยเหลือ