ชาวสวนสับปะรดนครพนมได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 รายได้ลดกว่า 80% ราคาตกวูบเหลือ กก.ละ 4 บาทจาก 20-25 บาท ต่ำสุดรอบ 10 ปี ซ้ำไม่มีคนรับซื้อ แบกต้นทุน วอนรัฐช่วยหาตลาด หากขายไม่หมดต้องทำปุ๋ย
เมื่อวันที่ 11 พ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ จ.นครพนม ในช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดไม่เพียงกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ทั่วไป รวมถึงธุรกิจ ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ยังกระทบต่ออาชีพการเกษตร โดยเฉพาะชาวสวนสับปะรด ในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นสินค้าเกษตร GI ท้องถิ่นขึ้นชื่อ ที่เคยส่งผลผลิตขายไปทั่วภาคอีสาน อีกทั้งเป็นสับปะรด ที่มีรสชาติหวานอร่อย มีพื้นที่ปลูกปีละหลาย 100 ไร่ สร้างรายได้ ปีละหลาย 10 ล้านบาท แต่ในปีนี้ หลังเกิดสถานการณ์โควิด-19 ระบาด ไม่เพียงกระทบต่อการค้าการขนส่ง รวมถึงการท่องเที่ยว ยังกระทบต่อชาวสวนสับปะรดในพื้นที่ อ.ท่าอุเทน ยอดขายตกกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางมารับซื้อถึงสวน
ที่สำคัญราคาตกต่ำ จากปกติ ในช่วงนี้จะขายได้ ราคาประมาณ กิโลกรัมละประมาณ 20-25 บาท และขายส่งให้โรงงาน ประมาณกิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ในช่วงนี้ราคาตกต่ำสุดรอบ 10 ปี ขายได้กิโลกรัมละประมาณ 4-5 บาท นอกจากนี้ในส่วนของพื้นที่ขายสับปะรดริมถนน ทางหลวงหมายเลข 212 นครพนม-ท่าอุเทน บริเวณบ้านธาตุ ม.13 ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ซึ่งเป็นพื้นที่ขายสับปะรดขึ้นชื่อ ไม่ค่อยมีลูกค้ามาแวะซื้อ ต้องแบกภาระต้นทุนหนัก หากขายไม่ได้ ผลผลิตต้องเสียหาย และนำไปทำปุ๋ย โดยบรรดาพ่อค้า แม่ค้า วอนให้ภาครัฐหาทางดูแลช่วยเหลือ
...
นางปรีญา มานะโพน อายุ 55 ปี ชาวสวนสับปะรด ต.โนนตาล อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม กล่าวว่า ปีนี้ยอมรับว่าสถานการณ์โควิดส่งผลกระทบหนัก ยิ่งในช่วงนี้เป็นช่วงเก็บผลผลิตส่งขายป้อนตลาด แต่ไม่มีพ่อค้า แม่ค้า มารับซื้อในสวน รวมถึงจุดขายริมทางยังขายยาก เพราะไม่มีประชาชน นักท่องเที่ยว ผ่านไปมา ถือว่ากระทบหนักรอบ 10 ปี ตนทำสวนปลูกสับปะรด จำนวนกว่า 5 ไร่ หรือประมาณจำนวน 22,500 ต้น โดยทำเป็นอาชีพมานานกว่า 10 ปีแล้ว ที่ผ่านมา 1 ไร่ ขายได้ประมาณ 50,000-70,000 บาท เป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรปีละหลาย 10 ล้านบาท
ชาวสวนสับปะรด อ.ท่าอุเทน กล่าวต่อว่า พอมาเจอพิษโควิด-19 ระลอกใหม่ ผู้คนไม่เดินทางออกจากบ้าน ด่านการค้าชายแดนถูกปิด ไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ ทำให้ยอดขายสับปะรดลดลง ราคาตกต่ำ ปกติขายในกิโลกรัมละ 20-25 บาท มีโรงงานรับซื้อให้กิโลกรัมละ 10-15 บาท แต่ปีนี้เจอโควิดระบาด ทำให้ราคาตกต่ำ เพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท จากปกติขายได้วันละ 2,000-4,000 บาท เหลือรายได้เพียงวันละ 400-500 บาท เดือดร้อนหนักขายไม่ค่อยได้ ลงทุนไปก็ไม่ได้กำไรคืนมา เงินที่ได้วันละ 400-500 บาท นำมาเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนแทบจะไม่พอ
"ยอมรับว่าขาดทุนแต่ก็ต้องทนขายกันต่อไป ดีกว่าปล่อยผลผลิตเน่าทิ้งไปเฉยๆ แต่หากขายไม่ได้จริงๆ ต้องนำผลผลิตไปทิ้งทำปุ๋ย เพราะปล่อยไว้นานทำให้ผลผลิตเสียหาย อยากให้หน่วยงานรัฐออกมาช่วยเหลือด้านการตลาด เนื่องจากสับปะรดออกผลผลิตทุกวัน ต้องเร่งระบายผลผลิตออกสู่ท้องตลาดให้เร็วที่สุด ก่อนผลผลิตจะเน่าเสียและขาดทุนไปมากกว่านี้" นางปรีญา กล่าว.