สถานการณ์ภัยแล้งนับวันยิ่งหนักหนาสาหัสขึ้นทุกวัน แม้หลายฝ่ายจะเห็นตรงกันปีนี้ฝนจะมาเร็วช่วยเติมน้ำในเขื่อนทุเลาภัยแล้งไปได้ในระดับหนึ่ง แต่ช่วยเกษตรกรได้เฉพาะในพื้นที่ชลประทาน... เกษตรกรส่วนใหญ่อยู่นอกเขตชลประทานคงต้องพึ่งตนเอง

แต่ด้วยโครงการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ที่เป็นการดำเนินการด้วยกันหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน อาทิ มูลนิธิอุทกพัฒน์ฯ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. กรมทรัพยากรน้ำ หอการค้าแห่งประเทศไทย เอสซีจี เครือข่ายพันธมิตรเอกชนและชุมชน ตั้งแต่ปี 2555 จนปัจจุบัน

ทำให้ 60 ชุมชน และเครือข่ายอีก 1,773 หมู่บ้าน น้ำไม่แล้ง ไม่ท่วม คิดเป็นพื้นที่รวม 2.55 ล้านไร่ เพิ่มปริมาณน้ำ 112 ล้าน ลบ.ม. เพิ่มผลผลิตในฤดูแล้งคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 3,867 ล้านบาท ช่วยรัฐประหยัดค่าชดเชย 2,517 ล้านบาท

ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น ที่เคยได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แล้งที่สุด ในภาคอีสาน ฝนตกน้อยที่สุด...เป็นหนึ่งในนั้น

“พื้นที่แถบนี้น้ำแล้ง 4 ปี ฝนดี 2 ปี ทำให้ชุมชนต้องเผชิญภัยแล้งซ้ำซากมากว่า 40 ปี ไม่สามารถทำการเกษตรได้ คนหนุ่มคนสาวต่างพากันอพยพไปรับจ้างขายแรงงานในเมืองใหญ่ โอกาสที่ครอบครัวจะอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันมีเฉพาะช่วงเทศกาลหยุดยาวเท่านั้น ช่วงแล้งที่สุดคนในหมู่บ้านกว่า 300 คน ต้องยืนต่อคิวอาบน้ำในบ่อน้ำบ่อเดียวกัน ส่วนน้ำดื่มต้องตื่นตั้งแต่ตี 2 ตี 3 ไปตักน้ำในบ่อน้ำตื้นใกล้ป่าภูถ้ำ ผมจึงตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าที่กรุงเทพฯ แต่สุดท้ายด้วยสภาพที่ไม่คุ้นเคยก็อยู่ได้แค่ 28 วัน ต้องตัดสินใจกลับมาพัฒนาบ้านเกิด”

...

พิชาญ ทิพวงษ์ แกนนำชาวบ้าน ชุมชนภูถ้ำ ภูกระแต อ.แวงน้อย จ.ขอนแก่น สะท้อนเรื่องราวในวันวาน...หลังจากตัดสินใจกลับถิ่นเกิด คิดเองว่าชุมชนต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหาน้ำด้วยตัวเองแทนการรอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ จึงเริ่มปลุกพลัง ชาวชุมชนให้พึ่งตนเองก่อน โดยเฉพาะการช่วยกันปลูกป่าสร้างความชุ่มชื้นให้ผืนดิน พร้อมกับพยายามจัดการน้ำชุมชน เช่น เมื่อฝนตกต้องมีที่กักเก็บน้ำเพิ่มไม่ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งเสียประโยชน์ กระทั่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายขึ้น จนได้รับคัดเลือกจาก สสน.ให้เป็น “ชุมชนจัดการน้ำดีเด่น”

ต่อจากนั้นมีโอกาสเข้าอบรมเรียนรู้เรื่องการจัดการน้ำกับมูลนิธิอุทกพัฒน์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สสน. รวมทั้งเอสซีจีเข้ามาทำงานร่วมกับชาวบ้าน ปรับวิธีคิดและเปิดมุมมองใหม่ให้ชาวบ้านในชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะ “โครงการเอสซีจี ร้อยใจ 108 ชุมชนรอดภัยแล้ง” ที่เข้ามาทำงานร่วมกับชุมชน สนับสนุนการเชื่อมน้ำขุดคลองเข้าพื้นที่ ขุดแก้มลิงให้เป็นแหล่งน้ำประจำไร่นา จนสามารถเก็บน้ำไว้ใช้อย่างเพียงพอ และสามารถฟื้นฟูอนุรักษ์ผืนป่ากว่า 2,800 ไร่ ให้กลายเป็นแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเองในชุมชนได้

นอกจากนั้นชาวบ้านยังได้ร่วมกันศึกษาสภาพพื้นที่ด้วยแผนที่ชุมชนนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ใช้ เช่น เครื่อง GPS แผนที่ภาพถ่ายจากดาวเทียม เพื่อสำรวจสภาพพื้นที่ของตัวเอง สำรวจโครงสร้างแหล่งน้ำ สถานะแหล่งน้ำ ทางน้ำธรรมชาติ และความต้องการใช้น้ำ ทำให้ทราบค่าระดับความสูงต่ำนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างน้ำที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ จากนั้นร่วมกันจัดระบบการบริหารจัดการน้ำผ่านเครื่องมือต่างๆ เช่น คลองดักน้ำหลาก แก้มลิงกักเก็บน้ำ คลองขุดดักน้ำที่ไหลหลากจากที่สูง เพื่อให้น้ำไหลไปรวมกันไว้ในสระแก้มลิง

ที่สำคัญชุมชนมีการตั้งกติกาการใช้น้ำร่วมกัน หากน้ำอยู่ในระดับวิกฤติจะลดการใช้น้ำครอบครัวละไม่เกิน 10 คิวต่อเดือน

ขณะเดียวกันเกษตรกรในชุมชนยังได้เรียนรู้ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ นำมาประยุกต์ใช้จัดรูปที่ดินเพื่อให้บริหารจัดการง่ายขึ้น พร้อมทั้งมีการวางแผนการผลิตใหม่ เพื่อให้ปลูกพืชได้หลากหลายมากขึ้น สร้างรายได้เพิ่มขึ้น 4-5 เท่า จากเดิมปีละ 30,000-50,000 บาท เป็นปีละ 120,000 บาท และช่วยลดรายจ่าย โดยเฉพาะค่าอาหารลดลงกว่าเดือนละ 3,000 บาท ปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่ายเปลี่ยนวิถีการผลิตไปแล้ว 68 ราย มีรายได้จากผลผลิตรวมปีละ 12 ล้านบาท.

...

กรวัฒน์ วีนิล