ชีวิตยังต้องสู้ ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมงพื้นบ้าน ได้รับผลกระทบจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่แห้งเหลือไม่ถึง 2 เมตร เปลี่ยนเครื่องมือจากวางตาข่ายและเครื่องมือดัก มาใช้การตกเบ็ดตามโขดหินกลางน้ำโขงแทน

เมื่อวันที่ 11 มี.ค.64 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่บริเวณจุดวัดระดับน้ำบ้านพันลำ ม.2 ต.วิศิษฐ์ อ.เมือง จ.บึงกาฬ เช้าวันนี้วัดได้ 2.40 เมตร มีระดับสูงขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว 40 เซนติเมตร ลักษณะน้ำไหลนิ่ง มีสีฟ้าคราม ใสจนมองเห็นพื้นดินแม่น้ำโขง มีเกาะแก่งและในบางพื้นที่ยังมีโขดหินโผล่พ้นน้ำขึ้นมาตามกลางแม่น้ำโขง ชาวประมงพื้นบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำโขง ทั้งชาวไทยและพี่น้องชาว สปป.ลาว ที่หาปลาในลุ่มแม่น้ำโขง จากเดิมใช้วิธีหาปลาแบบล่องเรือวางตาข่าย (หรือการไหลมอง) หรือการใส่เครื่องมือประเภทดักปลา เช่น ลอบ โพงพาง ตุ้มดักปลาชนิดต่างๆ วางเอาไว้ในบริเวณที่สังเกตว่าเป็นแหล่งที่หากิน รวมทั้งเป็นแหล่งที่จะมีการวางไข่ของปลา

...

มาทุกวันนี้ต้องปรับเปลี่ยนวิธีหาปลาแบบใหม่ ด้วยการตกเบ็ด ใส่เบ็ดราว ตามเกาะแก่งในแม่น้ำโขง โดยวิธีการคือใช้ เบ็ดปักแขวน หรือเบ็ดเต้า วางไว้ตามข้างตลิ่ง ริมฝั่ง เกาะ แก่ง สันดอน หรือตามโขดหินที่เป็นแอ่งลึก ซึ่งชาวบ้านลุ่มน้ำโขงเรียกบุ่ง จะเป็นที่อยู่อาศัยของปลา มักมีพืชน้ำที่ปลาชอบกิน รวมถึงเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และหลบภัยของปลา ทำให้บริเวณโขดหิน หรือริมเกาะแก่งกลางน้ำโขงมีปลาชุกชุม พอได้ปลามาทำเป็นอาหารในครัวเรือน.