ศาลพิพากษาจำคุก 5 สมาชิกแก๊งค้าสุนัข โดยไม่รอลงอาญา เหตุเป็นการทำในลักษณะเชิงธุรกิจการค้า ที่ไม่ได้นึกถึงผลกระทบต่อสังคม อีกทั้งมีจำเลยบางรายมีการกระทำผิดซ้ำ ด้านทนาย เตรียมยื่นอุทธรณ์...
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 26 กันยายน 2554 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าคดีการลักลอบค้าสุนัขข้ามชาติ หลังจาก นายเริงศักดิ์ มหาวินิจฉัยมนตรี ผวจ.นครพนม ได้นำเจ้าหน้าที่เข้าสกัดตรวจยึด จับกุมแก๊งค้าสุนัขข้ามชาติ ขณะลำเลียงขนส่งสุนัขใส่รถบรรทุก เตรียมลงเรือในเขตพื้นที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวน 5 ราย มี 1.นายนพดล ไชยวังราษฎร์ อายุ 40 ปี ชาว ต.ท่าแร่ จ.สกลนคร 2.นายมนตรี พันกลาง อายุ 37 ปี ชาว อ.บ้านแพง จ.นครพนม 3. นายพาน อายุ 35 ปี ชาวเวียดนาม 4. นายอนุสรณ์ บุพศิริ อายุ 37 ปี และ 5. นายวีรวัฒน์ สวัสดี อายุ 22 ปี ชาว ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม พร้อมของกลางสุนัขจำนวน 1,260 ตัว รถบรรทุก 6 ล้ออีกจำนวน 4 คัน
เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2554 โดยทางตำรวจได้มีการรวบรวมพยานหลักฐานส่งอัยการ ฟ้องต่อศาลจังหวัดนครพนม ส่วนสุนัขของกลางได้นำมาเก็บรักษาไว้ที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม รอการตัดสินคดี
ล่าสุดวันนี้ ทางด้าน นายบัญญัติ ตังกบดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม ได้มีการอ่านคำพิพากษาตัดสินคดีของศาลจังหวัดนครพนม แยกเป็น 4 คดี มี 1. คดีที่มีนายนายนพดล ไชยวังรษฎร์ อายุ 40 ปี ชาว ต.ท่าแร่ จ.สกลนคร เป็นจำเลย มีการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานค้าสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 10 วัน ฐานครอบครอง (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับตัวละ 40 บาท รวม 450 ตัว เป็นเงิน 18,000 บาท รวมบทลงโทษทั้งหมด 8 เดือน 10 วัน แต่รับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 4 เดือน 5 วัน ปรับเหลือ 9,000 บาท
2.คดีที่มี จำเลย 2 คน คือ นายมนตรี พันกลาง อายุ 37 ปี ชาว อ.บ้านแพง จ.นครพนม 3. นายพาน อายุ 35 ปี ชาวเวียดนาม มีการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานค้าสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 10 วัน ฐานครอบครอง (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับตัวละ 40 บาท รวม 560 ตัว เป็นเงิน 22,400 บาท แต่รับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 4 เดือน 5 วัน ปรับเหลือ 11,200 บาท
3. คดีอาญาที่มี นายวีรวัฒน์ สวัสดี อายุ 22 ปี ชาว ต.นาหว้า อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นจำเลย มีการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานค้าสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 10 วัน ฐานครอบครอง (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับตัวละ 40 บาท รวม 300 ตัว เป็นเงิน 12,000 บาท แต่รับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 4 เดือน 5 วัน ปรับเหลือ 6,000 บาท
คดีที่ 4 คดีที่มี นายอนุสรณ์ บุพศิริ อายุ 37 ปี เป็นจำเลย ซึ่งมีการลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานค้าสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานเคลื่อนย้ายสัตว์ (สุนัข) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน จำคุก 4 เดือน ฐานกระทำทารุณสัตว์ (สุนัข) โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำคุก 10 วัน ฐานครอบครอง (สุนัข) ไม่จัดการให้สัตว์ได้รับการฉีดวัคซีนจากสัตวแพทย์โดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ปรับตัวละ 40 บาท รวมจำนวน 400 ตัว เป็นเงิน 16,000 บาท รวมบทลงโทษทั้งหมด 8 เดือน 10 วัน แต่รับสารภาพจึงลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 เหลือจำคุก 4 เดือน 5 วัน ปรับเหลือ 8,000 บาท โดยการตัดสินคดีครั้งนี้ไม่รอลงอาญาเนื่องจากทางศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นการทำในลักษณะเชิงธุรกิจการค้า ที่ไม่ได้นึกถึงผลกระทบต่อสังคม อีกทั้งมีจำเลยบางรายพบว่ามีการกระทำผิดซ้ำ
เบื้องต้นทางทนายความของจำเลยทั้ง 5 ราย ได้มีการยื่นอุทธรณ์ต่อศาล ขอประกันตัวออกไป ตามขั้นตอนของกฎหมาย ส่วนที่ปัญหาตามมาคือ สุนัขของกลางที่ด่านกักกันสัตว์นครพนม ที่รอดชีวิตเหลือจำนวน 770 ตัว ตายสะสมรวม 440 ตัว ยังต้องให้การดูแลเลี้ยงดู ไปจนกว่าคดีจะถึงที่สิ้นสุด ซึ่งขณะนี้มียอดการบริจาคผ่านกองทุนช่วยเหลือสุนัขนครพนม ที่ 22 ล้านบาท ใช้ไปแล้วประมาณ 4 ล้าน บาท ในการเลี้ยงดู และปรับปรุงสถานที่ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตกวันละประมาณ 50,000 บาท ที่ต้องเลี้ยงดูไปตลอดหากไม่มีใครมาติดต่อขอรับคืน และหากเจ้าของสุนัขที่ต้องการติดต่อรับสุนัขกลับไปเลี้ยงสามารถนำหลักฐานมายืนยันขอรับไปเลี้ยงได้
ทางด้าน นายบัญญัติ ตังกบดี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนครพนม กล่าวว่า ในการพิจาณาคดีครั้งนี้ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมอย่างละเอียด ที่มีการสืบสวน สืบเสาะหาข้อมูลหลักฐาน อย่างชัดเจน และพบว่ามีหลักฐานในการกระทำความผิดชัดเจน แตกต่างจากการพิจารณาตัดสินคดีการค้าสุนัขเมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการรอลงอาญาแก่จำเลย แต่ในครั้งนี้ จากหลักฐานพบว่ามีการกระทำผิดในจำนวนสุนัขมาก อีกทั้งในลักษณะเชิงธุรกิจการค้า ที่ไม่ได้นึกถึงผลกระทบต่อสังคม และถือว่าทารุณโหดร้าย ส่วนผู้ต้องหาอีก 2 ราย ที่มีการจับกุมเพิ่มเติม กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินในครั้งต่อไป
...