น่าปลื้ม นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พบ “ปลาปอดชนิดใหม่ของโลก”

เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสำรวจขุดค้นซากดึกดำบรรพ์ ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ โดยทีมนักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์สิรินธร สำนักงานทรัพยากรเขต 2 กรมทรัพยากรธรณี ร่วมกับ ศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ทำให้ค้นพบชิ้นส่วนซากดึกดำบรรพ์ปลาปอด ที่ประกอบด้วย ชิ้นส่วนของกะโหลก และแผ่นฟัน ซึ่งคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจากปลาตัวเดียวกัน หลังจากการศึกษาวิจัยซึ่งนำโดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องซากดึกดำบรรพ์ปลา ดร.Lionel Cavin พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจนีวา ร่วมกับ ดร. อุทุมพร ดีศรี อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา และศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และ ดร.พรเพ็ญ จันทสิทธิ์ นักธรณีวิทยาชำนาญการ พิพิธภัณฑ์สิรินธร กรมทรัพยากรธรณี พบว่า รูปสัณฐานของส่วนกะโหลกและแผ่นฟันปลาปอดที่พบที่ภูน้อย จัดอยู่ในสกุล เฟอกาโนเซอราโตดัส แต่มีความแตกต่างจากชนิดอื่น จึงได้ตั้งชื่อปลาปอดที่พบที่ภูน้อย เป็นปลาปอดชนิดใหม่ของโลก ชื่อ “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” (Ferganoceratodus annekempae) ซึ่งชื่อชนิดตั้งเป็นเกียรติให้กับ Dr.Anne Kemp (ดร.แอน เคมป์) ผู้เชี่ยวชาญปลาปอดของโลก

ปลาปอดจัดเป็นปลาโบราณ เนื่องจากพบปรากฏมาตั้งแต่ในยุคดีโวเนียนและยังคงพบในปัจจุบัน ลักษณะของปลาปอดคือ สามารถหายใจด้วยปอดร่วมกับการหายใจด้วยเหงือก ครีบอกและครีบท้องมีลักษณะเป็นเนื้อหุ้ม ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดแบบคอสมอยด์ ฟันมีลักษณะเป็นแผ่นฟัน ซากดึกดำบรรพ์ปลาปอดสกุลเฟอร์กาโนเซอราโตดัส ถือว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์ที่หายากโดยเฉพาะส่วนกะโหลก โดยสกุลนี้มีการพบในประเทศจีน ประเทศรัสเซีย และประเทศไทยเท่านั้น ดังนั้นการค้นพบปลาปอด “เฟอร์กาโนเซอราโตดัส แอนเคมเป” ณ แหล่งซากดึกดำบรรพ์ ภูน้อย อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ จึงมีความสำคัญในการศึกษาวิวัฒนาการและถิ่นอาศัยในอดีตของปลาปอดของโลก

...

สำหรับแหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย อยู่ในพื้นที่ตำบลดินจี่ อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในหมวดหินภูกระดึง กลุ่มหินโคราช ยุคจูแรสซิกตอนปลาย มีอายุประมาณ 150 ล้านปี เป็นแหล่งมีการสำรวจขุดค้นมามากกว่า 10 ปี มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์มีกระดูกสันหลังที่หลากหลาย เช่น ฉลามน้ำจืด ปลากระดูกแข็ง ปลาปอด เต่า จระเข้ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก เทอโรซอร์ และไดโนเสาร์ ถือว่าเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมาก และจัดว่าเป็นแหล่งที่มีการค้นพบซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังมากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้

ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีได้ประกาศให้พื้นที่ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศไทย ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองซากดึกดำบรรพ์ พ.ศ.2551

ทั้งนี้ กรมทรัพยากรธรณี จะจัดแถลงข่าวในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการต่อไป