นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน เผย ผลงานปรับปรุงซ่อมแซม "อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น" โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังเมื่อปี 60 ถูกพายุถล่ม จนทำนบดินขาด น้ำท่วมบ้านเรือนปชช.ยัน ซ่อมสำเร็จได้ ด้วยน้ำพระราชหฤทัย ของ "ในหลวง"

วันที่ 1 ส.ค. นายประพิศ จันทร์มา รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากอิทธิพลของพายุโซนร้อนตาลัส และพายุโซนร้อนเซินกา ที่เกิดระหว่างวันที่ 24-27 กรกฎาคม 2560 ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาล ได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของราษฎรหลายจังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้ง จ.สกลนคร มวลน้ำได้กัดเซาะทำนบดิน อ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นจนชำรุดเสียหาย ความทราบถึงพระเนตรพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้มีพระราชกระแสให้สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ประสานทุกหน่วยงาน ช่วยเหลือปรับปรุงอ่างเก็บน้ำแห่งนี้โดยเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ของราษฎร

พายุทั้ง 2 ลูก ทำให้เกิดปริมาณน้ำฝนสะสมในพื้นที่วัดได้ 245 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 20 ชั่วโมง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น 3.70 ล้านลบ.ม. ในขณะที่อ่างเก็บน้ำมีความจุเพียง 2.4 ล้านลบ.ม. ทำให้น้ำไหลข้ามทำนบดินและกัดเซาะทำนบดิน ขาด 2 ช่วง ที่กรมชลประทาน จึงได้เข้าไปซ่อมแซม โดยได้เริ่มลงมือทำงานในวันที่ 29 กรกฎาคม 2560 ต่อมาวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สำนักงาน กปร. ประสานกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการแก้ไขปรับปรุงอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้นให้ใช้การได้โดยเร็ว 

...

"เจ้าหน้าที่และข้าราชการกรมชลประทานทุกคน รับทราบความห่วงใยของในหลวง ที่รับสั่งผ่านทางสำนักงาน กปร. ทุกคนช่วยกันระดมความคิดว่า จะทำอย่างไรที่จะสกัดน้ำให้หยุดการกัดเซาะได้โดยเร็ว เพราะทำนบดินขาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า จะต้องทำเป็นทำนบดินปิดกั้นชั่วคราว (COFFER DAM) ทีมงานทำงานตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่หยุด ทั้งคน และเครื่องจักรเครื่องมือ เพื่อทำงานถวายพระองค์ท่าน ต่อมาวันที่ 2 สิงหาคม 2560  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ (ขณะนั้น) และนายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และได้เชิญพระราชกระแสของในหลวง ที่ทรงห่วงใยพสกนิกรให้ทุกคนในพื้นที่รับทราบอีกครั้ง และยังรับทราบว่าในหลวงทรงได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ และการทำงานของเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา ทุกคนจึงล้วนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นอย่างหาที่สุดมิได้ การดำเนินงานซ่อมแซมแล้วเสร็จ ในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 และสามารถเก็บกักน้ำได้ตามพระราชกระแส" นายประพิศ กล่าว

ด้วยพระเมตตาบารมี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้มีพระราชกระแส ผ่านทางกองกิจการในพระองค์แจ้งตามหนังสือกองกิจการในพระองค์ 904 ที่ พว 0005.1/3059 ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2560 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น ไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมีพระราชกระแส ดังนี้ “ถือว่าเป็นความเร่งด่วนอย่างสำคัญ และน่าจะตรวจระบบ อ่าง เขื่อน ฯลฯ ในพื้นที่นี้ต่อไป”  

กรมฯ ได้รับสนองพระราชกระแส โดยหลังจากที่ได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินชั่วคราว (COFFER DAM) แล้ว ได้ทำการปรับปรุงทำนบดินห้วยทรายขมิ้นขึ้นใหม่ให้มีความมั่นคงแข็งแรงมากยิ่งขึ้นและเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักจากเดิม 2.4 ล้านลบ.ม. เป็น 3 ล้านลบ.ม. นอกจากนั้นปรับปรุงระบบอาคารระบายน้ำล้น เพื่อเพิ่มศักยภาพการระบายน้ำ ปรับปรุงอาคารท่อส่งน้ำฝั่งขวาและฝั่งซ้ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับประชาชนในพื้นที่โครงการกรมชลประทานใช้เวลา 1 ปี ในการดำเนินการ และแล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน 2561 ใช้งบประมาณดำเนินการรวม 195 ล้านบาท แยกเป็นงบฯ กปร. 50 ล้านบาท และงบฯ กรมชลฯ 145 ล้านบาท ทั้งยังจัดตั้งคณะกรรมการจัดการชลประทาน (JMC) เพื่อบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำห้วยทรายขมิ้น ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับราษฎรทุกฝ่ายในพื้นที่ นอกจากนั้นกรมฯ ยังได้ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำในพื้นที่จ.สกลนคร และเข้าปรับปรุงซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำให้มีสภาพมั่นคงแข็งแรงเพิ่มขึ้นอีก 22 แห่ง เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ

พระมหากรุณาธิคุณด้านการชลประทานนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงงานมาต่อเนื่องยาวนาน มีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่พระราชทานให้กรมชลประทานนำไปพิจารณาก่อสร้าง รวม 84 โครงการ ซึ่งกรมชลฯ ได้ดำเนินการสนองพระราชดำริสำเร็จไปแล้ว จำนวน 62 โครงการ โดยอ่างเก็บน้ำห้วยทรายขมิ้น เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นอกจากการพัฒนาศักยภาพอ่างเก็บน้ำและทำนบให้มั่นคงแข็งแรงแล้ว ยังมีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณรอบพื้นที่ ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ จึงกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและร่มรื่นอีกแห่งใน จ.สกลนคร และใกล้เคียง สร้างรายได้ให้กับราษฎรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี.