โคราชภัยแล้งหน้าฝนยังน่าห่วง แม้ฝนตกในเกณฑ์ดี แต่เขื่อนเก็บน้ำไม่ได้เลย เหตุมีการดึงน้ำใต้ดินมาใช้ ดินขาดความชื้น ส่งผลไม่อุ้มน้ำ ผู้ว่าฯ กำชับนายอำเภอติดตามสถานการณ์ให้ใกล้ชิด
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.2563 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซา อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมาและหัวหน้าส่วนราชการ ประจำเดือนกรกฎาคม 2563 โดยได้กำชับเน้นย้ำให้นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ทุกพื้นที่ ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการกักเก็บน้ำเข้าในแหล่งกักเก็บเนื่องจากในช่วงนี้มีปริมาณฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง กำชับให้มีการเร่งสูบน้ำไว้เพื่อรองรับกับสถานการณ์ภัยแล้ง
ผวจ.นครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำของ จ.นครราชสีมา น่ากังวลทุกจุด เช่น อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว เองก็มีอยู่ประมาณร้อยละ 20 และเราได้ตรวจสอบไปทุกอำเภอเรายังต้องแจกจ่ายน้ำถึง 46 หมู่บ้านถือว่าจำนวนมาก เรากังวลมากตอนนี้น้ำไม่เข้าเขื่อนหรือน้ำไม่ลงในอ่างเก็บน้ำ เรากังวลว่าสิ้นปีนี้หากฝนหมด เราจะต้องเจอกับความยากลำบากอีก ซึ่งตอนนี้ตนกำลังให้ทุกอำเภอลองไปดูว่า หมู่บ้าน 46 หมู่บ้านี้เป็นปัญหาเร่งด่วนเราจะทำอะไรได้ในโอกาสที่จะเติมน้ำลงในพื้นที่กักเก็บน้ำของหมู่บ้าน
นายวิเชียร กล่าวต่อว่า แม้ว่าช่วงนี้เป็นช่วงฤดูฝนก็ตามจังหวัดฯ ก็ได้มีการประสานตลอดเวลากับหน่วยฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา พอเมื่อท้องฟ้ามีความชื้นหน่วยฝนหลวงก็จะขึ้นทำการบิน เราเองได้ประสานขอฝนหลวงเหนือเขื่อนต่างๆ เพื่อจะให้มีน้ำกักเก็บอยู่ในเขื่อนให้ได้ แต่ตอนนี้ยังน้ำก็ยังไม่ลงมาก ทาง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรณ รองนากรัฐมนตรีห่วงสถานการณ์น้ำมากก็ได้มอบงบประมาณให้จังหวัดฯมาแก้ปัญหาแล้ว จำนวน 12 ล้านบาท ตอนนี้กำลังขุดลอกและเจาะบ่อบาดาลในหลายพื้นที่ ซึ่งก็ทำให้หลายพื้นที่ปัญหาภัยแล้งเบาบางลงไป แต่วันนี้เรายังต้องแจกจ่ายน้ำ 46 หมู่บ้านต่อไป โดยเฉพาะ อ.โนนสูงฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งคงจะต้องมีการของบประมาณเป็นงบกลางจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่า พล.อ.ประวิตร รองนายกฯ ท่านเอาใจใส่ในเรื่องของการขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก
...
ด้าน นายกิตติกุล เสภาศรีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของจังหวัดนครราชสีมา ว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 4 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 23 แห่ง ปัจจุบันมีปริมาณน้ำรวมกัน 21 เปอร์เซ็นต์ จากความจุทั้งหมด 1,241 ล้าน ลบ.ม. ใช้การได้เพียง 17 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำฝนสะสมที่ตกลงมาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เมื่อมาถึงครึ่งทางของฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำฝนสะสม 508 มิลลิเมตร ถือว่าปริมาณน้ำฝนอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำต่างๆ นั้นมีเพียง 30% เท่านั้น
ผอ.โครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวอีกว่า จึงเป็นขอสังเกตได้ว่า ฝนตกเยอะแต่น้ำในอ่างน้อย อาจเป็นเพราะความชื้นในดินที่ลดลงจากการดึงน้ำใต้ดินมาใช้มากขึ้น ทำให้ความสามารถในการเก็บน้ำใต้ดินลดลง ดินไม่อุ้มน้ำเพราะขาดความชื้น เวลามีฝนตกลงมาน้ำจึงไหลลงสู่พื้นดินจนหมด เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงในการดึงน้ำใต้ดินมาใช้
นายกิตติกุล กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ทางชลประทานจังหวัดมีแผนในการจัดสรรน้ำไว้ให้เพียงพอต่อฤดูแล้งในปีต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการสูบน้ำเข้าอ่างเก็บน้ำ เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกัก การลดใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำลง โดยเฉพาะการทำการเกษตรที่ได้ขอความร่วมมือให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร เพื่อสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำไว้ใช้อุปโภค-บริโภค หากประชาชนให้ความร่วมมือประหยัดน้ำ และปฏิบัติตามแผนที่รัฐกำหนด เมื่อสิ้นฤดูหน้าฝนนี้ จังหวัดนครราชสีมาจะมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำกว่าร้อยละ 60 ตามแผนที่ตั้งไว้.