ภาคอีสานเจอแล้งรุนแรง ที่กาฬสินธุ์ ข้าวนาปีนอกเขตชลประทานเริ่มยืนต้นตาย ด้าน มหาสารคาม หลายพื้นที่ไม่มีน้ำทำการเกษตร ส่วนที่ยโสธรอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก แห้งสุดในรอบ 10 ปี ประปาต้องหยุดจ่ายน้ำ

เมื่อวันที่ 21 ก.ค.63 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์ความแห้งแล้ง จ.กาฬสินธุ์ เริ่มแผ่ขยายเป็นบริเวณกว้าง ถึงแม้ในช่วงนี้จะมีฝนตกลงมาแต่บางพื้นที่โดยเฉพาะในพื้นที่ ต.กลางหมื่น อ.เมือง พบว่าฝนตกลงมาน้อยมาก อีกทั้งสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ต้นข้าวของชาวบ้านที่ทำการไถหว่าน ได้ขาดน้ำเป็นเวลานานและกำลังยืนต้นตาย แล้วและมีแนวโน้มแผ่ขยายเป็นวงกว้าง   

ชาวบ้าน กล่าวว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ได้เร่งปลูกข้าวนาปีกันเนื่องจากมีฝนตกลงมา แต่ฝนกลับเกิดทิ้งช่วงเป็นเวลานาน อีกทั้งยังมีสภาพอากาศที่ร้อนจัดตลอดทั้งวัน ส่งผลให้ต้นข้าวนาปรังเริ่มยืนต้นตาย และแห้งตายแล้วโดยชาวบ้านไม่มีแหล่งน้ำสำรองเนื่องจากได้สูบมาในช่วง การไถหว่านแล้วจึงทำได้เพียงรอฝนมาช่วยบรรเทาความเดือดร้อน อยากให้หาแนวทางช่วยเหลือโดยเร็ว โดยเฉพาะน้ำที่จะช่วยให้ต้นข้าวรอดตายไปในช่วงวิกฤติแล้งนี้

...

ด้าน นายจรัส เพ็ญศิริสมบูรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานมหาสารคาม กล่าวว่า ถึงแม้จะมีฝนตกลงมาแล้ว แต่สถานการณ์ภัยแล้งยังรุนแรง หวั่นเกรงว่า หลายพื้นที่ไม่มีน้ำทำการเกษตร แม้ที่ผ่านมาจะมีฝนตกมาในจังหวัดก็ได้สร้างแค่ความชุ่มชื้นให้แก่หน้าดินเพียงเล็กน้อย แต่แหล่งน้ำธรรมชาติไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ เนื่องจากสภาพดินแห้งแล้งมานานอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่งในจังหวัดมีความจุเก็บกัก 81.42 ล้าน ลบ.ม. แต่ปริมาณน้ำในตอนนี้มีแค่ 24.07 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นน้ำเก็บกักแค่ 29.57%

ปริมาณฝนไม่ได้ช่วยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น มีเพียง 1 อ่างที่มีน้ำไหลเข้ามีปริมาณ เกิน 50% คืออ่างเก็บน้ำหนองบัว อ.กันทรวิชัย และมีปริมาณน้ำเกิน 30% แค่ 6 อ่าง คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่เขตชลประทานเป็นอย่างมาก ทางชลประทานจังหวัดมหาสารคาม จึงได้กำหนดแนวทางการเกษตรในเขตชลประทานที่มีพื้นที่เพาะปลูก 51,120 ไร่ ที่ได้เพาะปลูกครบ 100 % แล้ว ให้ใช้น้ำฝนเป็นหลักในการทำการเกษตร ส่วนน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เก็บไว้ใช้สำหรับอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศก่อน จะไม่มีการปล่อยน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำไปช่วยเหลือเกษตรกรในตอนนี้

ขณะที่ มีรายงานว่าอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลางตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บุ่งค้า อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ขณะนี้ปริมาณน้ำเริ่มแห้งขอดลงอย่างรวดเร็วโดยเหลือปริมาณน้ำเพียง 4.56 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับกักเก็บทั้งหมดจำนวน 31 ล้านลูกบาศก์เมตร จนต้องหยุดจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นการชั่วคราวเพื่อรักษาระบบนิเวศ และถือว่าปริมาณน้ำส่อวิกฤติในรอบ 10 ปี

...

ส่วน นายประสิทธิ์ ก่ำจันทึก นายช่างก่อสร้างโครงการชลประทานจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ขณะนี้ ปริมาณน้ำเริ่มแห้งขอดจนมองเห็นเนินดินและเกาะแก่งโผล่เป็นบริเวณกว้างรวมทั้งมองเห็นตอไม้จำนวนมากที่จมอยู่ใต้น้ำภายในอ่างเก็บน้ำที่โผล่ขึ้นมาจนมองเห็นอย่างชัดเจน จนทางอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบกต้องหยุดจ่ายน้ำให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเหลือน้ำดิบไว้เฉพาะผลิตประปาเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ

นายช่างก่อสร้างโครงการชลประทานจังหวัดยโสธร กล่าวต่อว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก ที่เหลืออยู่วัดได้ 4.56 ล้านลูกบาศก์เมตร จากระดับกักเก็บทั้งหมด จำนวน 31 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 14.5% ของความจุอ่าง ถือว่าปริมาณน้ำสุดในรอบ 10 ปี ซึ่งปกติในช่วงเดียวกันนี้ปริมาณน้ำในอ่างจะมีอยู่ประมาณ 40-50% แต่ในปีนี้กลับมีปริมาณน้ำเหลือน้อยมาก เนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาเติมในอ่างมีน้อยมาก และมีเกษตรกรในพื้นที่รอบอ่างเก็บน้ำห้วยสะแบก ซึ่งมีพื้นที่กว่า 12,000 ไร่ มีความจำเป็นต้องใช้น้ำทำการเกษตรเป็นประจำทุกวัน

...

นายประสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า การทำนาข้าวและปลูกพืชไร่ แต่ขณะนี้เริ่มได้รับผลกระทบ เพราะทางอ่างมีความจำเป็นต้องหยุดจ่ายน้ำชั่วคราวไปก่อน อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีพายุฝนในพื้นที่อ่างเก็บน้ำซึ่งสามารถเติมน้ำเข้าอ่างได้จำนวนมาก.