อพท.จัดอบรมส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง หลังปลดล็อกโควิด-19 เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม กำหนดแผนงาน ให้พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว
ที่โรงแรมครอสทู ไวบ์ จ.บุรีรัมย์ วันที่ 13 ก.ค.63 ดร.วาสนา พงศาปาน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาขีดความสามารถการท่องเที่ยว องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานเปิดการฝึกอบรมแบบกลุ่ม ครั้งที่ 1 (Group Training) การส่งเสริมมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ภายใต้กิจกรรมพัฒนาเครือข่าย อพท.น้อย โครงการพัฒนาและบูรณาการกลไกเครือข่ายการบริหารจัดการที่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างมีเอกภาพ ให้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาลตำบล รวม 14 แห่ง
ดร.วาสนา กล่าวว่า อพท. มีแนวคิดที่จะเผยแพร่พัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนไปยังองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในทุกระดับ โดยใช้เครื่องมือที่มีชื่อว่า "มาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน" (Sustainable Tourism Management Standard: STMS) โดยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เราก็ยังคงเดินหน้าต่อ ทำในส่วนของการนำเครื่องมือมาใช้ในการจัดกิจกรรมออนไลน์ อบรมออนไลน์ และสื่อสารออนไลน์ และเมื่อได้รับการปลดล็อก สามารถที่จะดำเนินการได้แล้ว ก็ปฏิบัติตามข้อระเบียบทั้งในเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัย ซึ่งอพท.ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กำหนดแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า (SHA) Safety and Health Administration เพื่อให้ให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศได้รับประสบการณ์ที่ดี จากสถานประกอบการที่รับรองจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยนำมาตรการความปลอดภัยด้านสาธารณสุขผนวกกับมาตรฐานการให้บริการที่มีคุณภาพของสถานประกอบการ เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไวรัส COVID-19 และยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของไทย สำหรับกิจกรรมที่จัดในปี 2563 มีองค์กรส่วนท้องถิ่นที่เข้าร่วมมากถึง 14 แห่งด้วยกัน ประกอบด้วยจ.สมุทรปราการ ราชบุรี ชลบุรี ชุมพร ระยอง สุรินทร์ และบุรีรัมย์
...
ดร.วาสนา กล่าวว่า การจัดอบรมของอพท.เราดำเนินการตามข้อปฏิบัติทุกอย่าง มีการคัดกรองผู้เข้าร่วมกิจกรรม มีระยะห่าง มีการสวมหน้ากากอนามัย มีเจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ให้ทั้งคนเข้าร่วมกิจกรรมและคนจัดกิจกรรมมีความมั่นใจในความปลอดภัย โดยคาดหวังว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวเข้ามารับการอบรมกับเรา จะสามารถนำคู่มือ และมาตรฐานนี้ไปบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของเขาได้
"กระบวนการจะมีตั้งแต่การวางแผน การปฏิบัติ การนำไปตรวจสอบ การปรับปรุง ครบทั้งกระบวนการการบริหารจัดการการท่องเที่ยว เมื่อนำไปปฏิบัติในแหล่งท่องเที่ยวของเขาแล้ว จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวมีความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบในเชิงลบในอนาคต เพราะเขาสามารถบริหารจัดการได้ ไม่สร้างปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและชุมชน ซึ่งเน้นกระบวนการของการมีส่วนร่วม มีการตั้งคณะกรรมการ คณะทำงานและก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ จนนำไปสู่การกำหนดแผนงานเพื่อที่จะนำไปปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของเขาต่อไป" ดร.วาสนา กล่าว
ด้านนางสาวสุมณฑา ก่อแก้ว เจ้าหน้าที่พัฒนาพื้นที่พิเศษ สำนักงานพื้นที่พิเศษ 2 (อพท.2) ซึ่งรับผิดชอบดูแลพื้นที่จ.บุรีรัมย์ นครราชสีมา สุรินทร์ ศีรสะเกษและอุบลราชธานี กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นและอพท. จะเป็นเหมือนการช่วยเหลือ เสริมหนุนซึ่งกันและกัน อพท.เองก็จะเป็นพี่เลี้ยง เมื่อทุกอย่างลงตัว ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีกิจกรรมการท่องเที่ยว มีผลิตภัณฑ์จากการท่องเที่ยว ชุมชนก็สามารถดำเนินการบริหารจัดการการท่องเที่ยวด้วยตัวเองได้ ทำให้มีรายได้เสริมจากการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเราก็คาดหวังว่า เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้ามาเรียนรู้แล้ว สถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่และการดูแลของเขาจะสวยงามขึ้น รองรับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนได้เป็นอย่างดีและมีความยั่งยืนต่อไป.