ภัยแล้ง 'โคราช-มุกดาหาร - ขอนแก่น' ส่องวิกฤติหนัก พ่อเมือง สั่ง นายอำเภอ สาธารณสุข เร่งสำรวจโรงพยาบาลที่จะขาดน้ำ หวั่นหนักกว่าปีที่ผ่านมา สาเหตุค่าเฉลี่ยน้ำฝนไหลเข้าอ่างน้อยมาก ขณะที่ชลประทาน ย้ำต้องบริหารน้ำอย่างเคร่งครัด ส่วนระดับน้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดมุกดาหาร ยังคงมีระดับต่ำ ต้องรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้
เมื่อวันที่ 6 ม.ค.63 นายวิเชียร จันทรโณทัย ผวจ.นครราชสีมา เปิดเผยถึงสถานการณ์ภัยแล้งว่า ตอนนี้ได้ประสานขอให้ทางสาธารณสุขจังหวัดฯ และนายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงคือโรงพยาบาล ขอให้สำรวจอีกครั้งว่าโรงพยาบาลที่ไหนจะขาดแคลนน้ำ ขอให้บอกล่วงหน้ามาก่อนไม่น้อยกว่า 1 เดือนเราจะแก้ได้ แต่อย่าปล่อยให้ขาดน้ำแล้วเป็นข่าว ซึ่งขณะนี้ได้ให้ทางแต่อำเภอไปแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อขอรถน้ำขององค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ และรถของทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 5 ในการไปขุดเจาะบ่อบาดาล เพราะทางจังหวัดขอใช้งบประมาณ 40 บ่อ แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้นจะใช้ของ อบจ. และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลภาค 5 ด้วย เพื่อเร่งดำเนินขุดเจาะบ่อบาดาลเพิ่ม ซึ่งช่วงนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องบูรณาการการช่วยเหลือในสถานการณ์ภัยแล้งกันอย่างเร่งด่วน
...
ด้านนายกิติกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำใน จ.นครราชสีมา ขนาดใหญ่ 4 แห่ง ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว มีน้ำใช้การอยู่ 130 ล้าน ลบ.ม. หรือ 44%, อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย มีน้ำใช้การอยู่ที่ 21 ล้าน ลบ.ม หรือ 13%, อ่างเก็บน้ำชำมูลบน มีน้ำใช้การอยู่ 41 ล้าน ลบ.ม.หรือ 31% และอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรีฯ มีน้ำใช้การอยู่ 77 ล้าน ลบ.ม. หรือ 28% ส่วนการบริหารจัดการน้ำจะเห็นว่า ทั้ง 4 อ่างของ จ.นครราชสีมา ขณะนี้มีปริมาณน้ำค่อนข้างน้อยมาก
ฉะนั้น การบริหารจัดการน้ำทั้งหมดต้องบริหารจัดการตามแผนโดยเคร่งครัด และต้องย้ำว่าโดยเคร่งครัด โดยตอนนี้ไม่ให้มีการปลูกพืชข้าวนาปรังแล้ว ส่วนน้ำขาดกลาง 23 แห่งมีปริมาณน้ำที่ใช้การได้เพียง 62 ล้าน ลบ.ม. 20% และมีอ่างเก็บน้ำที่น้อยกว่า 30% จำนวน 14 อ่าง แล้วยังมีอ่างขนาดกลางที่น้ำใช้การเป็นศูนย์(0) คือ อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนบน และอ่างลำเชียงไกรตอนล่าง, อ่างหนองก๊ก และอ่างห้วยตะคร้อ อ.คง และบึงกระโตน ซึ่งเป็นลุ่มน้ำลำเชียงไกรทั้งหมด
"โดยภาพรวมในปีนี้สถานการณ์น้ำวิกฤติกว่าปีที่แล้วอีก เพราะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกมาในพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพียง 68% น้อยกว่าเกณฑ์เฉลี่ยอยู่ 32% ทำให้น้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำต่างๆ เพียง 425 ล้าน ลบ.ม. หรือ 34% ของน้ำที่เคยไหลเข้าอ่างต่างๆ โดยค่าเฉลี่ย สถานการณ์น้ำขณะนี้ถือว่าค่อนข้างจะหนัก และตั้งแต่นี้ไปการบริหารจัดการน้ำเราจะเน้นเรื่องน้ำอุปโภค บริโภค 50% ระบบนิเวศ 53% เพาะปลูกให้ 5% อุตสาหกรรม 10% ขณะนี้มีการผันน้ำจากลำตะคองเข้ามาสู่ อ.เมือง, อ.โนนไทย, อ.โนนสูง นอกจากนี้ยังมีการสูบน้ำจากเขื่อนลำปลายมาศ อ.เสิงสาง เข้าไปสำรองน้ำใน อ.ห้วยแถลงฯ, การผันน้ำจากอ่างลำเชียงไกรตอนล่างเข้าไปสู่อ่างหนองก๊ก ช่วยเหลือ อ.โนนไทย และ อ.พระทองคำ และช่วยสนับสนุนรถบรรทุกน้ำบูรณาการกับจังหวัดฯ ปภ.นครราชสีมา และ อปท."
ขณะที่ จ.มุกดาหาร สถานการณ์ภัยแล้งส่อวิกฤติ ภายหลังระดับน้ำโขงที่ไหลผ่าน จังหวัดมุกดาหารมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็วกว่าทุกปีที่ผ่านมา ซึ่งเทียบกับปีที่ผ่านมา ถือว่าต่ำกว่าถึง 2 เท่า ในช่วงเดือนเดียวกัน ปริมาณน้ำโขงที่ลดลงได้ส่งผลให้ที่ บ้านชะโนด ตำบลชะโนด อำเภอหว้านใหญ่ จังหวัดมุกดาหาร เกิดหาดทราย สันดอนทรายกลางแม่น้ำโขง เป็นพื้นที่กว้าง โดยเฉพาะบริเวณหาดมโนภิรมย์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า หาดชะโนด ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญช่วงหน้าแล้ง ในเดือนมีนาคม-เมษายน ทุกปี โดยทางจังหวัดมุกดาหารจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชน นักท่องเที่ยวได้เที่ยวพักผ่อนชมธรรมชาติสองฝั่งโขง แต่ช่วงนี้พบว่ามีหาดทรายโผล่กลางน้ำโขง ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 จนมาถึงเดือนมกราคม 2563 ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสัญญาณอันตรายเสี่ยงแล้งวิกฤติ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบอาชีพหาปลาในแม่น้ำโขงกว่า 20 ครอบครัว ยังได้รับผลกระทบเพราะช่วงนี้จับปลาได้น้อย ยิ่งในตอนกลางวันที่อากาศร้อนจัด ปลาก็จะหลบซ่อนอยู่ตามโขดหินในจุดที่น้ำลึกที่อยู่ใกล้กับฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว จึงไม่คุ้มที่จะออกไปจับปลา ทำให้ช่วงนี้ชาวบ้านหลายคนหันไปรับจ้างทำงานอย่างอื่น แทนการจับปลา
...
ส่วนที่ จ.ขอนแก่น นายฉัตรณรงค์ ศิริพร ณ ราชสีมา หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ขอนแก่น เปิดเผยสถานการณ์ภัยแล้งในจังหวัดว่า สถานการณ์ภาวะฝนทิ้งช่วงและภาวะฝนแล้งใน จ.ขอนแก่น ทำให้ได้รับผลกระทบเกิดการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร จำนวน 26 อำเภอ 198 ตำบล 2,306 หมู่บ้าน 69 ชุมชน 138,176 ครัวเรือน 330,417 คน ภาคการเกษตรในด้านการเพาะปลูกเสียหายทั้งสิ้นเชิง 8 อำเภอ จำนวน 309,269.75 ไร่ ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ จำนวน 3 อำเภอ 1.อ.พล 2.อ.หนองสองห้อง 3.อ.โนนศิลา ซึ่งมี โค/กระบือ/ไก่ จำนวน 6,935 ตัว จังหวัดได้ดำเนินการแจกจ่ายน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมากกว่า 3 ล้านลิตร สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ/ รถสูบน้ำระยะไกล เพื่อการอุปโภคบริโภค ปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 8 แสนกว่าลิตร
สำหรับปริมาณน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำอยู่ที่ + 174.47 ม.รทก. มีปริมาณน้ำเก็บกักความจุ 504.42 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20.75 % ของความจุ ปริมาณน้ำใช้งานได้ - 77.25 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น -4.18 % ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ 0.08 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระบายออก .054 ล้าน ลบ.ม.น้อยกว่าปริมาณน้ำปีที่ผ่านมา ในช่วงเวลาเดียวกัน 280.79 ล้าน ลบ.ม. (ปี 2561 มีปริมาณน้ำ 785.21 ล้าน ลบ.ม.) ส่วนน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในพื้นที่ จ.ขอนแก่น จำนวน 14 แห่ง ความจุรวม 105.877 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่าง 54.085 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้สถานการณ์น้ำในลำน้ำชีตอนบน ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งมาก เริ่มส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มลำน้ำชี ประชาชนมีน้ำใช้น้อยลง และน้ำลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น ท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ที่สถานีวัดน้ำ E.22 B บ้านท่าเม่า อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ต่ำกว่าตลิ่ง 9.51 ม. ปริมาณน้ำ 6.20 ลบ.ม./คิดเป็นร้อยละ 1.42 ของความจุอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แนวโน้มลดลง
...
ขณะที่ นายศักดิ์ศิริ อยู่สุข ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 6 กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น และ เขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย สามารถสนับสนุนน้ำได้เฉพาะการอุปโภค-บริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ส่วนที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ มีปริมาณน้ำเก็บกักอยู่ในเกณฑ์ปกติ สามารถสนับสนุนน้ำสำหรับทุกกิจกรรมได้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้า จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัดที่สุด พร้อม ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทั้ง 5 จังหวัดเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือทุกภาคตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร และเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภคตลอดฤดูแล้งนี้ไปจนถึงต้นฤดูฝนปีหน้าอย่างไม่ขาดแคลน