ตร.โคราช จับหนุ่มโทรก่อกวน 1669 กว่า 5 พันครั้ง รบกวน จนท.อาจทำให้ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเสียโอกาสเพราะคู่สายเต็ม จัดมาตรการให้ญาติดูแลเข้มคาดโทษห้ามทำอีก หมอแนะหาเวลาทำกิจกรรมกับครอบครัว
กรณีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 083-265XXXX โทรศัพท์ก่อกวนหมายเลข 1669 กว่า 5,000 ครั้ง ซึ่งเป็นช่องทางรับแจ้งเหตุฉุกเฉินของศูนย์สื่อสารสั่งการการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ในศูนย์อุบัติเหตุและฉุกเฉิน ชั้นล่างอาคารเฉลิมพระเกียรติ รพ.มหาราชฯ
โดยพฤติการณ์การโทรใช้ถ้อยคำไม่สุภาพ ด่าบุพการีและท้าตีท้าต่อยกับผู้รับสายทุกครั้ง เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ฯ เมื่อพบหมายเลขดังกล่าวได้ใช้ความสุภาพ บางครั้งให้สุภาพสตรีรับสายพร้อมอธิบายให้ต้นสายแต่ไม่เป็นผล นายอามโทรเข้ามาตลอด บางวันโทรเข้ามาแทบทุก 5 นาที สร้างปัญหาความเดือดร้อนกับการให้บริการแจ้งเหตุฉุกเฉินผ่านหมายเลข 1669 ซึ่งมีจำนวน 9 คู่สาย ซึ่งแต่ละวันมีการประสานงานขอความช่วยเหลือประมาณ 1,000 ครั้ง ในการส่งทีมช่วยเหลือผู้ป่วยหรือผู้ได้รับบาดเจ็บเฉลี่ยวันละ 300 ราย ทำให้ผู้เดือดร้อนจริงเสียโอกาสเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินหากคู่สายไม่ว่าง เจ้าหน้าที่จึงใช้วิธีไม่วางสาย ต้นสายก็ไม่ยอมวาง ปล่อยเงียบหรือพูดคนเดียว บางครั้งนานเป็นชั่วโมง มิเช่นนั้นการวางสายแล้วนายอาม โทรมาใหม่จะทำให้แย่งช่องคู่สายคนอื่นโดยซึ่งนายอาม ได้โทรมาทุกวันเป็นเวลาร่วม 1 ปี รวมจำนวนกว่า 5 พันครั้ง
...
ล่าสุด พ.ต.อ กฤตยา เลาประสพวัฒนา ผกก.สภ.เมือง นครราชสีมา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สืบสวนแกะรอยลงพื้นที่จนสามารถติดตามตัวนายอาม (นามสมมุติ) อายุ 18 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในเขต อ.เมือง นครราชสีมา โดยนำตัวมาซักถามตามกระบวนการผู้กระทำผิดเป็นเยาวชน พร้อมเชิญญาติพี่น้องมารับทราบพฤติการณ์ของบุตรหลาน หากพบอาการป่วยทางจิตเวชต้องส่งไปรักษากับแพทย์เฉพาะทาง เพื่อบำบัดอาการป่วยและกำชับให้ญาติในฐานะเป็นผู้ปกครองต้องดูแลสอดส่องมิให้กระทำการสร้างปัญหาให้กับสังคมอีก มิเช่นนั้นอาจมีความผิดร่วมด้วย
ด้านนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า กลุ่มคนที่โทรมาก่อกวนจะมีสองกลุ่มหลัก คือ 1.กลุ่มคนไข้จิตเวชที่อาการทางจิตยังไม่สงบ หลงผิด รู้สึกไม่สบายใจจึงต้องโทรมาที่โรงพยาบาล กลุ่มนี้ญาติควรดูแลเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เรื่องการรับประทานยาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย อย่าให้ขาดยาและควรมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง เพื่อรักษาให้อาการทางจิตสงบลงไม่หลงผิดอีก กลุ่มที่ 2.คือ กลุ่มที่คึกคะนองไม่ถึงกับเจ็บป่วยทางจิตเวชเเต่อย่างใด ข้อเเนะนำคือให้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันในครอบครัวกันมากขึ้น เช่นทานข้าวร่วมกัน มอบหมายงานให้รับผิดชอบมีกิจกรรมร่วมกันในบ้านเพื่อไม่ให้เขามีเวลาว่างจะได้ไม่ไปหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากเกินไป เช่นการโทรไปก่อกวนหน่วยงานต่างๆ อีก.