(ภาพ : ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน นายดำรงค์ สิริวิชัย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทย จ.ร้อยเอ็ด ถ่ายภาพร่วมกับผู้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ โครงการ“สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” จ.ร้อยเอ็ด.)
ปัจจุบันผ้าไหมไทยเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย สวมใส่ในทุกชนชั้น จากอดีตสวมใส่กันในพิธีสำคัญๆ แต่ในปัจจุบันได้ยกระดับสู่ระดับโลกไปแล้ว ไม่เพียงแค่คนไทยเท่านั้นที่สวมใส่ แม้กระทั่งชาวต่างชาติยังนิยมสวมใส่เช่นเดียวกัน
จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ขึ้นชื่อในเรื่องของผ้าไหม โดยผ้าไหมที่พบในจังหวัดร้อยเอ็ดส่วนมากเป็น ผ้าซิ่น (ผ้าถุงผู้หญิง) ผ้าโสร่ง (ผ้านุ่งผู้ชาย) สไบ ผ้าพื้น ผ้าขาวม้า และผ้าปูม เป็นต้น
ผ้าซิ่นไหมส่วนมากจะสวมใส่ในโอกาสสำคัญหรือในงานประเพณีต่างๆ เช่น ประเพณีบุญผะเหวด บุญกฐิน งานสมรส โดยเฉพาะผ้าไหมมัดหมี่ถือเป็นเครื่องแต่งกายที่มีลวดลายอันสวยงามมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่น
...
ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดพบหลายลายที่สืบทอดมาตั้งแต่โบราณ โดยแต่ละลายเป็นลายผ้าไหมมัดหมี่โบราณของท้องถิ่นที่แยกกันอยู่ในผ้าแต่ละผืน
“ผ้าไหมลายสาเกต” เป็นผ้าไหมที่ประกอบด้วยลายผ้าที่เป็นอัตลักษณ์ในการทอผ้าไหมของจังหวัดร้อยเอ็ดที่ได้นำเอาลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลาย ที่นิยมทอในกลุ่มชนที่อยู่ในเมืองร้อยเอ็ด มาทอต่อกันในผ้าผืนเดียวกันเปรียบเสมือนเป็นการหลอมรวมความสามัคคีของชาวร้อยเอ็ดให้เป็นหนึ่งเดียว
แต่ละลายจะทอคั่นด้วยผ้าสีพื้นสีดอกอินทนิลบก (สีชมพูอมม่วง) ซึ่งเป็นดอกไม้ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด ลายมัดหมี่พื้นบ้าน 5 ลายที่ประกอบในผ้าสาเกต ได้แก่ ลายโคมเจ็ด ลายนาคน้อย ลายคองเอี้ย ลายหมากจับ ลายค้ำเพา
ทั้ง 5 ลายนี้ได้นำมาประยุกต์ไว้ในผ้าผืนเดียวกันและได้มีการประกาศชื่อลายนี้คือ “ลายสาเกต” เป็นผ้าเอกลักษณ์ประจำจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2544
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดร้อยเอ็ด ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ (MOU) ตามโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” สืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติ ให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ห้องประดับเพชร โรงแรมเพชรรัชต์การ์เด้น อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด
...
โดยมี ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นายโชคชัย แก้วป่อง รองอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน นางรชตพร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางศันสนีย์ ทาสม ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 12
นายดำรงค์ สิริวิชัย อิ่มวิเศษ รอง ผวจ.ร้อยเอ็ด นางนงรัตน์ คงเกษม ประธานแม่บ้านมหาดไทย จ.ร้อยเอ็ด และนายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมหญิง จ.ร้อยเอ็ด หัวหน้าส่วนราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคเอกชน เข้าร่วมในพิธีลงนาม
นางนวลจันทร์ ศรีมงคล หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน รักษาราชการแทนพัฒนาการจังหวัดร้อยเอ็ด กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จัดทำ โครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน”
...
มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่
“เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย และให้ชาวโลกได้ชื่นชมอีกทั้งเพื่อเชิดชูอัตลักษณ์คุณค่าผ้าท้องถิ่นให้เกิดกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ และยังเป็นการสนับสนุนส่งเสริม การสร้างงาน สร้างอาชีพ และเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นชนบทด้วย” นางนวลจันทร์ กล่าว
ด้าน ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ กล่าวว่า สภาสตรีแห่งชาติฯ ตระหนักถึงความสำคัญของภูมิปัญญาผ้าไทย จึงจัดทำโครงการอนุรักษ์ รณรงค์การสวมใส่ผ้าไทยในทุกๆวันกับ กรมการพัฒนาชุมชน และขยายผลไปยังทุกจังหวัดทั่วประเทศ
เพื่อกระตุ้นการใส่ผ้าไทยในทุกพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งแก่เศรษฐกิจครัวเรือนและชุมชน อันจะนำมาซึ่งความสามารถในการพึ่งตนเองและเป็นกำลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้คนในจังหวัดร้อยเอ็ด มีคนที่สามารถทอผ้าได้เป็นจำนวนนับหมื่นคน
...
“ดังนั้น ถ้าทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย แต่ละคนจะได้ซื้อผ้าไทย อย่างน้อย 10 เมตร หากว่าคนจังหวัดร้อยเอ็ดใช้ผ้าไทย 2 แสนคน ก็จะเกิดความ ต้องการผ้าถึง 2 ล้านเมตร เป็นการสร้างตลาดและสร้างเม็ดเงินมากกว่าแสนล้านบาท” ดร.วันดี กล่าว
โครงการดังกล่าวเป็นการสร้างความต้องการ ปลูกจิตสำนึกต่อไปสู่ลูกหลานไทย ให้หันมาทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลาน เพื่อรักษาไว้ให้เป็นมรดกภูมิปัญญาอันมีคุณค่า
นำไปต่อยอดเพื่อเป็นชื่อเสียง สร้างเป็นรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป.
คมกฤช พวงศรีเคน