"กรมการข้าว" เร่งดูแลพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยดำเนินงานด้านการส่งเสริมการผลิตข้าวคุณภาพและได้มาตรฐาน ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นและมั่นคง
นางจุรี ภัทรกุลนิษฐ์ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการผลิตข้าว กล่าวว่า การผลิตข้าวในปัจจุบัน กรมการข้าวมีเป้าหมายให้เกษตรกรหันมามุ่งเน้นปลูกข้าวเพื่อลดต้นทุนการผลิตและมีต้นทุนต่ำลง ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งกรมการข้าวโดยสำนักส่งเสริมการผลิตข้าวได้ดำเนินการภายใต้โครงการต่างๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแต่ละพื้นที่ อาทิ โครงการผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพชั้นเลิศ (Premium Grade) ส่วนใหญ่ทางกรมการข้าวจะส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิคุณภาพของประเทศไทย
โครงการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและลดภาวะโลกร้อนจากการทำนาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ โครงการ Thai Rice NAMA เป็นโครงการที่กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี หรือ GIZ ระยะเวลาโครงการ 5 ปี (2561-2566) เพื่อดำเนินงานพัฒนาการผลิตข้าวของเกษตรกร 100,000 ครัวเรือน ในเขต 6 จังหวัดภาคกลาง ประกอบด้วย ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2.8 ล้านไร่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วมแก่เกษตรกรทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการทำนาแบบลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
...
โครงการรักษาระดับปริมาณและคุณภาพข้าวหอมมะลิ เนื่องจากเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ ซึ่งกรมการข้าวจะมีการสนับสนุนพันธุ์ข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวที่เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถส่งออกได้ สร้างรายได้สูงกว่าพันธุ์อื่นๆ, โครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ซึ่งมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจากเดิมเกษตรกรมักจะผลิตข้าวแบบรายเดี่ยว จำนวนพื้นที่การผลิตจะมีปริมาณไม่มาก เกษตรกรใช้ความรู้การผลิตข้าวแบบเดิม กรมการข้าวจึงสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตข้าว ร่วมลงทุนกันซื้อปัจจัยการผลิต พูดคุยและแบ่งปันความรู้ พัฒนาศักยภาพการผลิตด้วยเทคโนโลยีต่างๆ รวมไปถึงการรวมผลผลิตปริมาณมากๆ เพื่อจำหน่าย ลดความเหลื่อมล้ำของผู้ประกอบการหรือพ่อค้าคนกลาง ซึ่งในปัจจุบันมีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ ประมาณ 2,741 แปลง และยังคงมีผู้ที่มีความสนใจอยากเข้าร่วมเป็นกลุ่มนาแปลงใหญ่ในปี 2563 อีกเป็นจำนวนมาก
และโครงการที่กรมการข้าวยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง อย่างกิจกรรมส่งเสริมและพัฒนาการผลิตข้าวด้วยการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP ภายใต้โครงการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความสามารถในการผลิตข้าวปลอดภัย ซึ่งผลผลิตที่ปลอดภัยจากสารเคมีกำลังเป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภค โดยข้าวที่ผลิตได้ตามมาตรฐาน GAP เป็นข้าวคุณภาพที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรของกระทรวงเกษตรฯเป็นสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตที่มีคุณภาพ ปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการ และมีสัญลักษณ์เครื่องหมาย Q บนบรรจุภัณฑ์เป็นสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไว้วางใจในคุณภาพ เชื่อมั่นในกระบวนการผลิต และวางใจในการเลือกซื้อสินค้าข้าว Q เพื่อบริโภคในครอบครัวแม้ราคาจะสูงกว่าสินค้าข้าวทั่วไป
ดังนั้น เกษตรกรไทยควรคำนึงถึงความสำคัญของกระบวนการผลิต สินค้าข้าวให้ได้มาตรฐานมากขึ้น การส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรเข้าสู่มาตรฐานการผลิตข้าว GAP การตรวจสอบรับรองแปลงผลิตข้าว GAP ทั้งการรับรองรายเดี่ยวและการรับรองแบบกลุ่ม (ระบบควบคุมภายในแบบกลุ่ม หรือ ICS) ซึ่งสามารถลดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ดังนั้นการผลิตข้าวตามระบบมาตรฐานการผลิตข้าว GAP ซึ่งเป็นสินค้าข้าวที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งกระบวนการผลิตจะเป็นการสนับสนุนให้ประเทศไทยสามารถผลิตสินค้าข้าวตลาดเฉพาะที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดภัยต่อผู้ผลิต ผู้บริโภค และรักษาสภาพแวดล้อม จะช่วยยกระดับราคาข้าวให้สูงขึ้น ซึ่งจะเป็นผลให้ชาวนา ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ชุมชน และผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งห่วงโซ่มูลค่าข้าวดังกล่าวให้มีรายได้และฐานะความเป็นอยู่ที่ดี และมั่นคงขึ้น รวมทั้งมีข้าวสำรองไว้เพื่อการบริโภคในครัวเรือนอย่างพอเพียง
โครงการทั้งหมดของกรมการข้าวที่ได้ดำเนินการมาถือว่าเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเป็นหลัก โดยจะมุ่งมั่นและพัฒนาการผลิตข้าวในทุกรูปแบบ และทุกกระบวนการเพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวสามารถมีรายได้ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีบนพื้นฐานของความพอเพียง ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ.
...