ชาวบ้านนำเรือมาบริการนักท่องเที่ยวพาชมธรรมชาติในหนองหาร ซึ่งปัจจุบันแหล่งน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้กำลังเจอวิกฤติเน่าเสีย.
นับเป็นเวลาเกือบ 40 ปี แล้วที่มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำ สุรัสวดี บริเวณบ้านบึงศาลา ต.นาตงวัฒนา อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร และประตูระบายน้ำอีกรวม 7 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำในหนองหารไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค
เพราะ หนองหาร คือทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจาก บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 125.2 ตร.กม. หรือประมาณ 77,016 ไร่
...
ที่ผ่านมา ยังไม่มีการกำจัดสารพิษตกค้าง หรือตะกอนดินที่ไหลลงสู่ หนองหารในปริมาณมากถึงปีละกว่า 30,000 ตัน ซึ่งหมายถึงว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีการพร่องน้ำในหนองหารเลย กลายเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคนานัปการ
ผลการวิจัยพบว่า ประชาชนที่มีชุมชนอยู่โดยรอบหนองหาร ป่วยเป็น มะเร็งถุงน้ำดี หรือ โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็น อันดับหนึ่งของโลก สาเหตุ มาจากการบริโภคปลาดิบในหนองหาร กลายเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
ด้วยเหตุนี้เอง นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร พร้อมด้วยนักวิชาการ สิ่งแวดล้อม นักวิชาการประมง ปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดทั้งองค์กรเอกชน จึงได้ร่วมประชุมกับประชาชนในพื้นที่รอบหนองหาร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ 14 แห่ง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหา
ลงความเห็นว่าทุกวันนี้น้ำใน หนองหาร กำลังจะเน่า จำเป็นต้อง ช่วยกันปกป้องแหล่งน้ำจืดแห่งนี้ อันเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชาวสกลนครมาตั้งแต่บรรพกาล
อีกทั้งสภาพของ หนองหาร มีเกาะแก่งใหญ่น้อยกว่า 50 เกาะ เป็น ที่อยู่อาศัยของนกน้ำหลากหลายพันธุ์ มีสายน้ำลำห้วยกว่า 21 สาย ไหลลงหนองหาร มีลำน้ำพุงจากเทือกเขาภูพานเป็นต้นน้ำสำคัญที่สุด และไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางลำน้ำก่ำ หรือประตูน้ำสุรัสวดี
...
โดยมีปากน้ำอยู่ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มีปลาน้ำจืดเป็นปลาประจำถิ่น เช่น ปลาโด ปลาค่อ ปลาเคิง ปลาค้าว ปลาโจก ปลาอีจน ปลาแมว ปลาเพี้ย ปลาอีกุ่ม ปลาหมากผาง ปลาเซือม ปลาซวย ปลานาง ปลายอน ปลายี่สก ปลาเสือ ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ ซึ่งชาวประมงได้อาศัยเป็นแหล่งทำกิน หาเลี้ยงครอบครัวมาช้านาน
นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า หากวันนี้ยังไม่กล้า ที่จะเริ่มต้น ไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆกับหนองหาร จะไม่มีวันแก้ไขปัญหาน้ำในหนองหารเน่าเสียได้อย่างถาวร ยอมรับว่าหนองหารมีข้อจำกัด มีหน่วยงาน เป็นเจ้าภาพมาก การจะดำเนินการใดๆจะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายก่อน
การแก้ปัญหาจึงล่าช้าและไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นจะต้องชี้ให้ชาวบ้าน เห็นความสำคัญของการพร่องน้ำเป็นอย่างไร และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้รู้ว่า นี่คือความต้องการของคนสกลนคร
...
“ที่ผ่านมา ประชาชนจะคอยทำตามที่รัฐบาลกำหนดและชี้เป้าให้ การพร่องน้ำในหนองหาร เรายังไม่รู้ว่าพร่องไปแล้วจะเป็นอย่างไรเพราะ ไม่เคยพร่องสักที แต่ถ้าพร่องไปแล้ว 10 ซม. เกิดความเสียหายขึ้น เราก็ สั่งหยุดการพร่องน้ำเสีย เพราะคนสั่งหยุดก็อยู่ที่นี่” นายชัยมงคล กล่าว
นายชัยมงคล กล่าวอีกว่า ในอดีตน้ำในหนองหารใสสะอาด ไม่มีวัชพืช ไม่มีผักตบชวา เมื่อเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง น้ำจะลดลงห่างจากฝั่ง 1-2 กม. เกิดเป็นหาดทรายน้อยใหญ่สวยงาม ชาวบ้านที่นี่จะขูดดินขี้เทาขึ้นมาตากและต้มเป็นเกลือเพื่อใช้ทำปลาร้า
ตอนกลางหนองหาร มีสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ถูกต้อนลงไปเลี้ยงและหาอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ป่า กลับมารับประทาน ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำ สุรัสวดี ระบบนิเวศเก่าๆเหล่านั้นก็หายไป ปัจจุบันหนองหารมีสภาพน้ำเน่าเสีย มีวัชพืชมากมาย ตื้นเขิน
ฉะนั้นการพร่องน้ำในหนองหาร จะเห็นการ เปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาหลายสิบปี เมื่อพร่องน้ำหนองหารแห้งลงไประดับหนึ่งแล้วจะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ที่มีเขตรับผิดชอบ ดำเนินการขุดลอกตะกอนดินหน้าบ้านของตัวเอง
...
นำวัชพืชและโคลนตมเหล่านั้น ขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยแจกจ่ายให้กับประชาชน ทุกวันนี้ชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหาร มีหลายแห่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ แต่พวกเขาเหล่านี้อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานนับ 100 ปีแล้ว
จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญตรงจุดนี้ด้วย เพราะเอกสารสิทธิมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพและเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ได้
สำหรับโครงการนี้คาดว่าจะสามารถดำเนินการ ได้ในเดือน ธ.ค.2562 แค่เปิดประตูระบายน้ำทุกบานระบายน้ำออกจากหนองหาร หลังจากนั้น ให้ อบต.แต่ละแห่งที่อยู่รอบหนองหารเป็นเจ้าภาพ ช่วยกันขุดลอกหนองหาร
หากโครงการนี้แล้วเสร็จ นอกจากจะเป็นการคืนชีวิตให้กับหนองหารแล้ว ยังกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของชาวสกลนครด้วย.
วัฒนะ แก้วก่า