ชาวสกลนครขานรับพร่องน้ำหนองหาร หลังระบบนิเวศเปลี่ยนไปหลังก่อสร้างประตูระบายน้ำสุรัสวดี น้ำเกิดเน่าเหม็น จึงต้องพร่องน้ำเพื่อขุดลอกตะกอนหน้าดินไม่ดีออก ชี้ที่ผ่านมาข้อจำกัดเยอะทำไม่ได้
นับเป็นเวลาเกือบ 40 ปี ตั้งแต่มีการก่อสร้างประตูระบายน้ำสุรัสวดี ที่บ้านบึงศาลา ต.นาตงวัฒนา อ.โพนนาแก้ว จ.สกลนคร และประตูระบายน้ำอีกรวม 7 แห่ง เพื่อกักเก็บน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หนองหารทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศ รองจากบึงบอระเพ็ด มีเนื้อที่ประมาณ 125.2 ตร.กม. หรือประมาณ 77,016 ไร่ ยังไม่มีการกำจัดสารพิษตกค้างหรือตะกอนดินที่ไหลลงสู่หนองหาร ปีกว่ากว่า 30,000 ตัน ซึ่งหมายถึงยังไม่เคยมีการพร่องน้ำหนองหาร จึงเป็นแหล่งรวมเชื้อโรคนานัปการ ประชาชนที่บริโภคสัตว์น้ำในหนองหารก็ได้รับผลกระทบจากสารพิษตกค้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผลวิจัยพบว่า ประชาชนที่มีชุมชนอยู่โดยรอบหนองหาร ป่วยเป็น มะเร็งถุงน้ำดี หรือ โรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นอันดับหนึ่งของโลก ซึ่งสาเหตุมาจากการบริโรคปลาดิบในหนองหาร เป็นเหตุผลที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง
...
นายชัยมงคล ไชยรบ นายก อบจ.สกลนคร พร้อมด้วย นักวิชาการ สิ่งแวดล้อม นักวิชาการประมง พร้อมปราชญ์ชาวบ้าน ตลอดทั้งองค์กรเอกชน จึงได้ร่วมกับประชาชนในพื้นที่รอบหนองหาร และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีอยู่ 14 แห่ง เห็นว่าทุกวันนี้น้ำในหนองหารกำลังจะเน่า จึงออกมาปกป้องแหล่งน้ำจืดอันเปรียบเสมือนสายเลือดที่หล่อเลี้ยงชาวสกลนครมาตั้งแต่บรรพกาล
โดยสภาพของหนองหารมีเกาะแก่งใหญ่น้อยกว่า 50 เกาะ เป็นที่อยู่ของนกน้ำหลากหลายพันธุ์ มีสายน้ำลำห้วยกว่า 21 สาย ไหลลงหนองหาร ซึ่งมีลำน้ำพุงจากเทือกเขาภูพานเป็นต้นน้ำสำคัญที่สุด และไหลลงสู่แม่น้ำโขงทางลำน้ำก่ำ หรือประตูน้ำสุรัสวดี ซึ่งมีปากน้ำอยู่ที่ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม มีปลาน้ำจืดเป็นปลาประจำถิ่น เช่น ปลาโด ปลาค่อ ปลาเคิง ปลาค้าว ปลาโจก ปลาอีจน ปลาแมว ปลาเพี้ย ปลาอีกุ่ม ปลาหมากผาง ปลาเซือม ปลาซวย ปลานาง ปลายอน ปลายี่สก ปลาเสือ ปลาดุก ปลาช่อน ฯลฯ ซึ่งชาวประมงได้อาศัยเป็นแหล่งทำกินหาเลี้ยงครอบครัวมาช้านาน
นายก อบจ.สกลนคร กล่าวว่า หากวันนี้เราไม่กล้าที่จะเริ่มต้น เราไม่กล้าที่จะดำเนินการใดๆ กับหนองหาร ก็จะไม่มีวันแก้ไขหนองหารเน่าเสียได้อย่างถาวร ยอมรับว่าหนองหารมีข้อจำกัดที่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพมาก การจะดำเนินการใดๆ จะต้องผ่านขั้นตอนทางกฎหมายก่อน การแก้ปัญหาจึงล่าช้าและไม่มีทางเป็นไปได้ ดังนั้นเราจะต้องชี้ให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของการพร่องน้ำเป็นอย่างไร และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้รู้ว่านี่คือความต้องการของคนสกลนคร เพราะที่ผ่านมาประชาชนจะคอยทำตามที่รัฐบาลกำหนดและชี้เป้าให้ การพร่องน้ำหนองหาร เรายังไม่รู้ว่าพร่องไปแล้วจะเป็นอย่างไร เพราะไม่เคยพร่องสักที แต่ถ้าพร่องไปแล้ว 10 ซม.เกิดความเสียหายขึ้น เราก็สั่งหยุดการพร่องน้ำเสีย เพราะคนสั่งหยุดก็อยู่ที่นี่
นายชัยมงคล กล่าวอีกว่า ในอดีตน้ำหนองหารใสสะอาด ไม่มีวัชพืช ไม่มีผักตบชวา เมื่อเข้าสู่หน้าแล้ง น้ำจะลดลงห่างจากฝั่ง 1-2 กม. เกิดเป็นหาดทรายน้อยใหญ่สวยงาม ชาวบ้านที่นี่จะขูดดินขี้เทาขึ้นมาตากและต้มเป็นเกลือเพื่อใช้ทำเป็นปลาร้า ตอนกลางหนองหารก็มีสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ ถูกต้อนลงไปเลี้ยงและหาอาหาร เช่น เห็ด หน่อไม้ป่า กลับมารับประทาน ตั้งแต่มีการสร้างประตูน้ำสุรัสวดี ระบบนิเวศเก่าๆ เหล่านั้นก็หายไป ปัจจุบันหนองหารมีสภาพน้ำเน่าเสีย มีวัชพืชมากมาย ทั้งประสบปัญหาตื้นเขิน
...
นายก อบจ.สกลนคร กล่าวด้วยว่า ฉะนั้นการพร่องน้ำหนองหาร จะเห็นการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาหลายสิบปี เมื่อพร่องน้ำหนองหารแห้งลงไประดับหนึ่งแล้ว ก็ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ที่มีเขตรับผิดชอบดำเนินการขุดลอกตะกอนดินหน้าบ้านของตัวเอง นำวัชพืชและโคลนตมเหล่านั้นขึ้นมาทำเป็นปุ๋ยแจกจ่ายให้กับประชาชน ที่สำคัญทุกวันนี้ชาวบ้านในชุมชนรอบหนองหารมีหลายแห่งยังไม่มีเอกสารสิทธิ แต่พวกเขาเหล่านี้อยู่กันมาตั้งแต่บรรพบุรุษนานนับ 100 ปีแล้ว จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญตรงจุดนี้ด้วย เพราะเอกสารสิทธิมีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพและเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ได้.