น้ำท่วมเขตเทศบาลนครอุบลฯ และเทศบาลวารินชำราบ อ่วมหนัก บ้านจมบาดาล บางพื้นที่น้ำสูงกว่า 4 เมตร เส้นทางเชื่อม อ.เมือง กับวารินชำราบ รถวิ่งไม่ได้ ทหารจัดรถบรรทุกช่วยผู้ประสบภัย ด้านกรมชลฯ เร่งระบายน้ำ ลงลำน้ำโขง
เมื่อวันที่ 14 ก.ย. สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ จ.อุบลราชธานี โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี และเขตเทศบาลวารินชำราบ ซึ่งได้รับผลกระทบจากแม่น้ำมูลไหลเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนระดับน้ำสูง 3-4 เมตร ประชาชนต้องไปอาศัยอยู่ศูนย์อพยพชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ
...
ขณะที่พลโทธเนศ วงศ์ชะอุ่ม แม่ทัพน้อยที่ 2 พร้อมคณะได้ลงเรือติดตามสถานการณ์ และตรวจเยี่ยมให้กำลังใจพลทหาร กรมทหารราบที่ 6 ที่ปฏิบัติหน้าที่ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยได้นำรถบรรทุกยกสูง จำนวน 16 คัน พร้อมกำลังพลอำนวยความสะดวก วันละ 100 นาย มารับส่งนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ที่ต้องเดินทางไปกลับระหว่างอำเภอเมือง และอำเภอวารินชำราบ เนื่องจากเส้นทางถูกแม่น้ำมูลท่วมสูง รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรผ่านได้
เช่นเดียวกับ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมชลประทาน จัดตั้งศูนย์บริหารจัดการอุทกภัยลุ่มน้ำชี-มูล (ส่วนหน้า) ไว้สำหรับใช้เป็นศูนย์บัญชาการ และบูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ในการให้ความช่วยเหลือ และบรรเทาความเดือดร้อนของชาวอุบลราชธานี ทั้งยังเร่งดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ให้กลับคืนสู่สภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
รวมถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้กรมชลประทาน เร่งระบายน้ำจากลำน้ำสาขาต่างๆ ของแม่น้ำมูล ให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม โดยเร็ว อีกทั้ง จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่ปลายน้ำ และบริเวณจุดที่น้ำมูลไหลผ่านระหว่าง อ.เมือง และ อ.วารินชำราบ เป็นเหมือนแอ่งน้ำที่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชีมาบรรจบกัน ซึ่งสมัยก่อนน่าจะเป็นแก้มลิงธรรมชาติ จึงมีผลกระทบกับพื้นที่ และยังมีฝนตกลงมาในพื้นที่อีก จึงเป็นการเติมมวลน้ำมหาศาล มากองอยู่ที่จ.อุบลราชธานี
ทั้งนี้ได้ให้ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้อง เร่งระบายน้ำทุกวิถีทางให้น้ำในแม่น้ำมูลลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม เพื่อไหลออก สปป.ลาว โดยเร็วที่สุด พร้อมให้ประเมินน้ำค้างทุ่งไม่ใช่ระบายหมดน้ำออกจนหมด โดยให้มีการเติมเต็มน้ำในพื้นที่กักเก็บน้ำสาธารณะ นอกจากนี้ทุกกรมในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เข้าไปในทุกพื้นที่ที่น้ำท่วมดูแลประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรเพื่อทำการฟื้นฟูเยียวยา ชดเชยอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความตึงเครียด
...
จากนั้นได้นั่งเฮลิคอปเตอร์สำรวจสถานการณ์น้ำจากมุมสูง พร้อมติดตามการทำงานของเครื่องผลักดันน้ำบริเวณสะพานข้ามแม่น้ำมูล อ.พิบูลมังสาหาร จำนวน 60 เครื่อง และสะพานปากมูล อ.โขงเจียม 60 เครื่อง เพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วขึ้น.