สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ซึ่งวิกฤติหนักในรอบ 17 ปี ทำให้โลกโซเชียลแสดงความเป็นห่วง รวมถึงประชาชนในพื้นที่ประสบภัยได้โพสต์ข้อความและรูปภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมแฮชแท็ก #Saveubon จนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ อันดับ 1 และ #น้ำท่วมอุบล ขึ้นเทรนด์อันดับ 3

ในอดีตพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เคยเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2521 และปี 2545 กระทั่งล่าสุดในเดือน ก.ย.ปี 2562 ได้ทุบทำลายสถิติปี 2545 ไปแล้ว โดยระดับแม่น้ำมูลล้นตลิ่งอยู่ที่ 115.88 ม.รทก. จากระดับ 115.77 ม.รทก. ขณะที่มวลน้ำก้อนใหญ่จากพื้นที่ จ.ยโสธร ร้อยเอ็ด และอำนาจเจริญ กำลังเข้ามาสมทบในวันที่ 12 ก.ย.นี้ หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องเตรียมพร้อมรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะลักเข้าพื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน

“ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์” เกาะติดสถานการณ์ โดยสอบถามไปยัง “อภิชัย จำปานิล” หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุบลราชธานี ว่า ขณะนี้น้ำในพื้นที่ตอนบนของ จ.อุบลราชธานี ได้ระบายออกจากทุ่งน้ำลงสู่แม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งได้ชะลอการไหลของน้ำในแม่น้ำมูลที่จะลงมาสมทบกับลำน้ำชี โดยใช้น้ำเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าพื้นที่หลัก ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตอนกลาง ซึ่งขณะนี้ยังวิกฤติในเขต อ.เมือง, อ.วารินชำราบ, อ.พิบูลมังสาหาร และ อ.สว่างวีระวงศ์ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ และติดตั้งเพิ่มเครื่องผลักดันน้ำใน อ.พิบูลมังสาหาร เพื่อระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง รวมถึงเปิดประตูเขื่อนปากมูลทั้งหมด 8 บาน

นอกจากนี้จากการคาดการณ์ของกรมชลประทานจะมีมวลน้ำก้อนใหญ่ในวันที่ 12 ก.ย. ซึ่งจะถึงจุดพีคช่วงประมาณเที่ยงคืน และหลังจากนั้นน้ำจะเริ่มนิ่ง เนื่องจากก่อนหน้านั้นสถานการณ์น้ำได้เลยจุดสูงสุดไปแล้วจากวันละ 40-50 ซม. เหลืออยู่ที่ 15 ซม. กระทั่ง ณ วันนี้เหลือไม่เกิน 10 ซม. ภายหลังได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักจากร่องมรสุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งไม่ใช่จากพายุ และโดยภาพรวมยังคงมีฝนประมาณ 30-40%

...

ส่วนสาเหตุทำให้ จ.อุบลราชธานีเกิดน้ำท่วม เนื่องจากเป็นพื้นที่รวมแม่น้ำสายหลักทั้งแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งรองรับน้ำที่ไหลมาจากพื้นที่ภาคอีสานตอนบนและภาคอีสานตอนล่าง ก่อนไหลลงลำน้ำโขง อย่างไรก็ตามทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานีได้ประสานขอเครื่องผลักดันน้ำเพิ่มเติม เพื่อเร่งระบายน้ำในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ คาดสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติหลายสัปดาห์ หรือประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากยังมีน้ำค้างทุ่งประมาณ 5 แสนไร่

ขณะที่น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนในพื้นที่ 7 อำเภอ ระดับน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ประชาชน 6 พันกว่าคนยังไม่สามารถเข้าไปในบ้านได้ ซึ่งมีบ้านเรือนรับผลกระทบ 2 หมื่นกว่าครัวเรือน ประชาชนได้เดือดร้อน 1 แสนกว่าคน ซึ่งปัจจุบันประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติทั้งสิ้น 19 อำเภอ จากเดิม 25 อำเภอ ซึ่งได้รับผลกระทบจากพายุคาจิกิ.