นายกฯ “บิ๊กตู่” ควงรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องบินตรวจอุทกภัย จ. ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี ย้ำในหลวง-ราชินีทรงห่วงใยประชาชน ขณะที่แม่น้ำมูลยังวิกฤติระดับน้ำเพิ่มขึ้นเกือบครึ่งเมตรเอ่อท่วมชุมชน 2 ฝั่งเขตเทศบาลนครอุบลฯ และวารินชำราบ ทะลักเข้าศูนย์อพยพ ชาวบ้านต้องย้ายหนีน้ำรอบ 2 ส่วนที่ จ.นครพนม พบศพแล้วเด็กหญิงวัย 13 ลงเล่นลำน้ำอูนถูกซัดจมหาย จ.ตาก ฝนถล่มหนักเจดีย์เก่าแก่ในอาศรมพระธรรมจาริกบ้านป่าโหย่วีโจ อ.ท่าสองยาง พังถล่ม ด้านเขื่อนเจ้าพระยาแจ้งเตือนพื้นที่ลุ่มท้ายน้ำ อุตุฯเฝ้าระวังฝนตกหนักอีก
หลายจังหวัดภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่ ถึงแม้ฝนจะหยุดตกบ้างแล้ว แต่น้ำยังท่วมสูง โดยเฉพาะตามลุ่มน้ำต่างๆ ขณะที่หน่วยงานราชการและภาคเอกชนลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือและร่วมบริจาคสิ่งของซับน้ำตาผู้ประสบภัย
“บิ๊กตู่” ยกคณะดูน้ำยโสธร-อุบลฯ
ต่อมาเวลา 12.00 น. วันที่ 9 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เดินทางด้วยเครื่องบินแอมแบร์ บ.ท.135 จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กทม. เพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัย จ.ยโสธร และ จ.อุบลราชธานี โดยถึงท่าอากาศยานทหารกองบิน 21 จ.อุบลราชธานี เวลา 13.10 น. จากนั้นนายกฯ พร้อมคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่สวน สาธารณะพญาแถน ต.ในเมือง อ.เมืองยโสธร ก่อนเดินทางด้วยรถทรานฟอร์เมอร์ของกระทรวงมหาดไทยทะเบียน 7 กบ 5125 กรุงเทพมหานคร ไปตรวจสภาพน้ำท่วมริมแม่น้ำชีและแม่น้ำยังที่ไหลมาบรรจบกันที่บ้านแจ้งน้อย ที่ ต.ค้อเหนือ อ.เมืองยโสธร
...
เผยในหลวง-ราชินีทรงห่วงใย
จากนั้นคณะของ พล.อ.ประยุทธ์ไปเยี่ยม ผู้ประสบอุทกภัยและเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงที่อพยพหนีน้ำมาอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยวัด กลางศรีไตรภูมิ อ.เมืองยโสธร พร้อมให้กำลังใจหน่วยแพทย์ โดยมีนายนิกร สุกใส ผวจ.ยโสธร และหัวหน้าส่วนราชการให้การต้อนรับ นายกฯกล่าวกับประชาชนที่มาต้อนรับกว่า 200 คน ว่า นำรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อให้ทุกคนสบายใจว่ารัฐบาลไม่ทอดทิ้งทุกคน สิ่งแรกคือ อยากนำความห่วงใยของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ฝากมากับรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆของทุกพระองค์มาถึงประชาชน
เล็งหามาตรการช่วยเพิ่มตาม ก.ม.
นายกฯกล่าวว่า วันนี้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 32 จังหวัด รัฐบาลต้องดูแลคนทุกจังหวัดไม่ได้ทำให้พื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เราเคยเจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 54 มาแล้ว วันนี้ต้องมีกำลังใจ ทุกคนย่อมได้รับความเดือดร้อนแน่นอน เพราะฝนตกมากกว่าปกติ การทำนาจะไปบังคับใครไม่ได้ แต่หากทำแบบเดิมต่อไปจะมีปัญหาแบบเดิมและเสียงบฯ ขอบางส่วนลองทำเกษตรแบบผสมผสานเพื่อให้มีน้ำเพียงพอ การเยียวยายืนยันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือตามกฎหมาย รวมถึงค่าซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และเงินเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตที่ขณะนี้มีผู้เสียชีวิต 23 คน และขอแสดงความเสียใจ เชื่อว่าสามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ โดยให้ไปหามาตรการที่เหมาะสมตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่อย่างที่ใครพูดว่าจะให้ได้เลยเพราะผิดกฎหมาย ต้องนำเข้าที่ประชุม ครม. วันนี้ต้องการมาดูด้วยตาตัวเองว่าเป็นไปตามสิ่งที่รายงานขึ้นไปหรือไม่ และขอให้ทุกคนซื่อสัตย์ต่อกันในการไปสำรวจว่าได้รับความเสียหายอย่างไร ทุกคนจะได้ทั้งหมดไม่ได้ เพราะเงินจะไม่พอไปช่วยพื้นที่อื่น
กำชับ สธ.ดูแลไข้หวัด–น้ำกัดเท้า
พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฝากสาธารณสุขดูแลโรคน้ำกัดเท้าและสัตว์มีพิษ รวมถึงไข้หวัดด้วย ห่วงพวกเราทุกวันทุกคืน อยู่ กทม.ตนไม่ได้สบาย ก่อนหน้านี้ฝนไม่ตกก็ต้องสวดมนต์ให้ฝนตก วันนี้ต้องสวดมนต์ให้ฝนหยุดตกอีกแล้ว ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการพูดคุยกับชาวบ้าน นายกฯ พยายามพูดด้วยภาษาอีสาน แต่ไม่ค่อยมีเสียงตอบรับ นายกฯจึงพูดว่า “ตกลงฉันพูดอีสานไม่รู้เรื่องหรอจ๊ะ ขอโทษที่เกิดโคราชแต่ย้ายไปนานแล้ว” จากนั้น นายกฯ กราบนมัสการพระครูใบฎีกาชินาธิปสุรปัญโญ เจ้าอาวาสวัดกลางศรีไตรภูมิ โดยเจ้าอาวาสได้มอบพระพุทธรูปอุปคุตปางจกบาตรให้แก่นายกฯ ท่ามกลางฝนที่ตกโปรยปราย ทั้งนี้ คณะของนายกฯ ได้เดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์ไปตรวจน้ำท่วมต่อที่ อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี
...
สร้างความเข้าใจพื้นที่ทำแก้มลิง
ด้านนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.ยโสธร ของ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตรวจเช็กสถานการณ์น้ำทางอากาศประกอบแผนที่ และเห็นความเสียหายส่วนใหญ่จากน้ำล้นตลิ่งไหลท่วมเป็นวงกว้าง พื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นของประชาชน นายกฯได้สั่งการให้หน่วยงานในท้องถิ่นทำความเข้าใจกับประชาชน และหามาตรการช่วยเหลือทดแทน หากต้องใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงอย่างที่เคยทำใน จ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.พิษณุโลก ยังสั่งการให้เพิ่มการขุดลอกลุ่มน้ำสาขา ทำพนังกันน้ำประตูน้ำเพิ่ม ซึ่งต้องใช้เวลาและงบฯ สูงมาก แต่จะต้องทยอยทำไปเรื่อยๆ หลังจากน้ำลด ขอให้ทางกระทรวงคมนาคม เร่งซ่อมเส้นทางเพื่อใช้งานชั่วคราวให้ได้ก่อนการซ่อมถาวร ซึ่งต้องรอให้ดินแห้งและน้ำลด
มท.1 ยันมีงบฯเพียงพอดูแล ปชช.
ส่วน พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ขณะนี้น้ำในพื้นที่เริ่มทรงตัว การระบายน้ำต้องให้สอดคล้องสถานการณ์ ปีนี้ถือว่าน้ำยังน้อยประชาชน จ.อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และยโสธร ที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่เพราะไม่สามารถพักในบ้านได้นั้น ได้ดูแลเรื่องที่พัก อาหาร โดยจัดตั้งโรงครัวพระราชทาน และบริการน้ำดื่ม ส่วนการสัญจรที่ยังเป็นปัญหาหลายพื้นที่ เจ้าหน้าที่ได้จัดรถและเรือมาบริการ และซ่อมสร้างถนนที่ชำรุดให้ใช้ได้เฉพาะหน้าไปก่อน ส่วนการเยียวยาหลังน้ำลดต้องสำรวจความเสียหายให้ชัดเจน ตามหลักเกณฑ์กระทรวงการคลัง ขณะที่นายกฯ อยากให้พิจารณาหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเพิ่มเติม ส่วนนี้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้ดำเนินการ แต่คาดว่ามาตรการช่วยเหลือที่กระทรวงเกษตรฯจะเสนอใหม่คงไม่ทันเสนอ ครม.สัปดาห์นี้ ยืนยันว่ารัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องงบฯ เพราะนอกจากงบฯ ของแต่ละหน่วยงานแล้วยังสามารถใช้งบฯฉุกเฉินได้ โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด
...
บินต่อไปเยี่ยมพี่น้องชาวเขื่องใน
ต่อมาเวลา 16.30 น. นายกฯพร้อมคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปลงที่ลานจอดโรงเรียนบ้านกอก อ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีผู้ประสบภัยย้ายมาพักอยู่ในศูนย์อพยพชั่วคราวบ้านกอก ถนนแจ้งสนิท ต.บ้านกอก ห่างจากโรงเรียนประมาณ 500 เมตร จากนั้นนายกฯนั่งรถยนต์โตโยต้าอัลพาร์ด สีขาว ทะเบียน กข 2002 อุบลราชธานี ไปเยี่ยมประชาชนและมอบถุงยังชีพ 2,000 ชุด พร้อมรับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำท่วมจากนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผวจ.อุบลราชธานี สำหรับอำเภอเขื่องในได้รับผลกระทบจากลำน้ำชี และลำน้ำเซบายเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนตั้งแต่วันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้รับผลกระทบ 18 ตำบล 183 หมู่บ้าน 24,567 ครัวเรือน ประชาชน 103,449 ราย ถนน 21 สายถูกตัดขาด
แม่น้ำมูลวิกฤติ–น้ำขึ้นอีก 44 ซม.
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำมูลที่ไหลผ่านตัวเมืองอุบลราชธานีและ อ.วารินชำราบ เพิ่มขึ้นจากวันที่ 9 ก.ย. อีก 44 ซม. เช้านี้อยู่ที่ 10.09 เมตร ปริมาณน้ำ 3,945 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใกล้เคียงเมื่อครั้งเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2545 หรือเมื่อ 17 ปีก่อน น้ำเริ่มไหลท่วมถนนสถิตย์นิมานกาล ถนนสายหลักเชื่อมระหว่างฝั่งเทศบาลนครอุบลราชธานี และเทศบาลเมืองวารินชำราบ น้ำสูงประมาณ 5-10 ซม. ส่วนบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำมูลทั้งสะพานเสรีประชาธิปไตย และสะพาน 200 รัตนโกสินทร์ การจราจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากน้ำเอ่อท่วมพื้นผิวถนนฝั่งละ 2 เลน เหลือวิ่งได้แค่เลนเดียว ส่วนย่าน ร้านค้าธุรกิจสำคัญ เช่น ร้านวัสดุก่อสร้างดูโฮมมีน้ำไหลท่วมทางเข้าแล้ว เช่นเดียวกับโรงแรมอุบลบุรีรีสอร์ท และมูลนิธิธรรมสถานถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร
...
ท่วมศูนย์ฯต้องอพยพหนีรอบ 2
ส่วนชุมชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำมูลเขตเทศบาลเมืองวารินชำราบกว่า 10 ชุมชนที่อพยพไปอาศัยอยู่ในศูนย์อพยพข้างสหกรณ์วารินชำราบ และสำนักงานที่ดินวารินชำราบต้องรีบเก็บข้าวของหนีน้ำอีกรอบทั้งที่เพิ่งเข้ามาอาศัยได้แค่ 3 วันหลังน้ำเอ่อท่วมที่พักจนอยู่ไม่ได้ เจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองวารินชำราบได้จัดพื้นที่ให้อยู่บนถนนสถานีตั้งแต่สามแยกองศาไปจนถึงทางเข้าสถานีรถไฟวารินชำราบให้เป็นศูนย์อพยพชั่วคราวแห่งใหม่ ส่วนชุมชนใน เขตเทศบาลนครอุบลราชธานี 2 ชุมชนที่อพยพอยู่สองฝั่งถนนสถิตย์นิมานกาลก็ต้องย้ายไปอาศัยอยู่บนที่สูงอีกครั้ง นายกิตติศักดิ์ ศรีมนตรี อายุ 26 ปี ชาวชุมชนหาดสวนสุข เขตเทศบาลเมืองวารินชำราบ เผยว่า น้ำท่วมปีนี้หนักมาก ชาวบ้านตั้งรับไม่ทันเพราะไม่กี่สัปดาห์ก่อนยังแล้งอยู่เลย ตอนนี้น้ำท่วมมิดหลังคาบ้าน แถมยังต้องย้ายศูนย์อพยพหนีน้ำถึง 2 ครั้ง
น้ำล้อมสวนสัตว์–จ่อศาลากลาง
ด้านสวนสัตว์อุบลราชธานีถูกน้ำในลำห้วยแจระแมเอ่อล้อมรอบพื้นที่สวนสัตว์และไหลท่วมถนนทางเข้ากับบ้านพักของเจ้าหน้าที่ แต่ยังไม่ท่วมในส่วนของการแสดงและที่อยู่ของสัตว์ สวนสัตว์ยังเปิดให้บริการตามปกติ ขณะที่เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนรองรับ หากปริมาณน้ำเพิ่มสูงขึ้นถึงจุดวิกฤติก็จะขนย้ายสัตว์ที่อยู่ในรอบนอกไปอยู่ด้านใน อีกทั้งเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าขณะนี้น้ำจะโอบล้อมสวนสัตว์ แต่เชื่อว่าจะท่วมไม่ถึงในสวนสัตว์แน่นอน เนื่องจากพื้นที่ตั้งอยู่บนที่สูง ขณะเดียวกันน้ำจากลำห้วยแจระแมยังจ่อเข้าท่วมด้านหลังศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ถนนแจ้งสนิท และศาลปกครองอุบลราชธานีอีกด้วย
เกี่ยวข้าวหนีพนังน้ำชีพัง
จ.กาฬสินธุ์ ช่วงนี้ฝนหยุดตกทำให้น้ำตามลำน้ำต่างๆเริ่มลดลง ล่าสุดวันนี้แม่น้ำชีลดลง 7 ซม. แต่ยังไหลท่วมในบางพื้นที่ โดยเฉพาะที่บ้านหนองคล้า ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย พนังกั้นน้ำที่อยู่ฝั่ง จ.ร้อยเอ็ด ถูกน้ำเซาะพังทลายน้ำไหลเข้าท่วมนาข้าว ชาวนาต้องรีบเกี่ยวข้าวหนีน้ำทั้งที่ข้าวยังไม่แก่เต็มที่ก่อนนำมาตากบนถนนฝั่ง จ.กาฬสินธุ์ แม้จะได้ราคาต่ำ แต่ก็ดีกว่าปล่อยข้าวแช่น้ำเน่าตาย ส่วนสถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว พบว่าปัจจุบันปริมาณน้ำกักเก็บอยู่ที่ 1,418 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 71 ของความจุ ยังรับน้ำได้อีกประมาณ 561 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนลำปาวจึงไม่มีการระบายน้ำออกในช่วงนี้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ ด้านนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่มสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดจะคลี่คลายภายในสัปดาห์นี้
เสริมเรือผลักดันน้ำลงโขง
ส่วนที่ จ.นครพนม นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครพนม พร้อมด้วยนายภานุวัฒน์ บุญรอด หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน สำนักงานชลประทานที่ 7 และนายศรี ศรีพุทธรินทร์ นายอำเภอนาแก ลงพื้นที่ตรวจลำน้ำก่ำ เพื่อวางแผนเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงช่วยบรรเทาทุกข์พื้นที่น้ำท่วม อ.วังยาง อ.นาแก และ อ.เรณูนคร โดยขอสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจำนวน 6 ลำจากกองทัพเรือมาติดตั้งเสริมเพื่อเร่งการระบายน้ำลงแม่น้ำโขงช่วงสะพานลำน้ำก่ำบ้านนางเลิศ ต.พุ่มแก อ.นาแก รวมถึงติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบายน้ำค้างทุ่งอีก 10 เครื่องช่วยเพิ่มการระบายได้ประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้ขณะนี้ปริมาณลำน้ำก่ำลดลงต่อเนื่องวันละ 10-20 ซม. คาดว่าหากไม่มีฝนตกลงมาอีก 1 สัปดาห์จะเข้าสู่ภาวะปกติ
เจอแล้วศพเด็กหญิงเซ่นน้ำอูน
เที่ยงวันเดียวกัน ร.ต.อ.สัตยา คำวงศ์ษา รองสว. (สอบสวน) สภ.นาหว้า จ.นครพนม รับแจ้ง พบศพเด็กหญิงจมน้ำเสียชีวิตบริเวณใกล้สะพานข้ามลำน้ำอูนบ้านดอนศาลา ต.เหล่าพัฒนา อ.นาหว้า ตรวจสอบพบศพ ด.ญ.เทวี หรือน้องเบนซ์ จันทร์พล อายุ 13 ปี อยู่บ้านเลขที่ 150 หมู่ 9 ต.โพนสว่าง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ถูกน้ำซัดอยู่ริมน้ำ สอบสวนทราบว่า ช่วงบ่ายวันที่ 8 ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้ตายชวนเพื่อนๆ อีก 4-5 คนไปเล่นน้ำบริเวณสะพานลำน้ำอูนที่มีน้ำสูงและไหลเชี่ยว ผู้ตายว่ายน้ำไม่เก่งถูกน้ำซัดจมหายไป เพื่อนไม่สามารถเข้าไปช่วยได้ทัน หลังเกิดเหตุญาติและชาวบ้านช่วยกันค้นหา กระทั่งพบศพดังกล่าว
ประกาศ 11 อำเภอเขตภัยพิบัติ
ที่ จ.ศรีสะเกษ นายบุญประสงค์ นวลสายย์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดได้ประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัยจากอิทธิพลพายุโพดุลและพายุคาจิกิ รวม 11 อำเภอ 54 ตำบล 375 หมู่บ้าน และ 1 เทศบาลเมือง 2 ชุมชน ราษฎรเดือดร้อน 57,419 ครัวเรือน รวม 228,290 คน ขณะที่แนวโน้มของสถานการณ์น้ำยังเพิ่มสูงขึ้นในพื้นที่ติดลำน้ำมูล 4 อำเภอ ได้แก่ ศิลาลาด ราษีไศล ยางชุมน้อย และ กันทรารมย์ ส่วนอำเภออื่นๆน้ำลดกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ขณะที่นายภานรินทร์ ภาณุพินทุ ผอ.โครงการ ส่งน้ำและบำรุงรักษามูลล่าง (เขื่อนราษีไศล) อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำไหลลงเขื่อนอย่างต่อเนื่อง เช้านี้วัดได้ 70 ล้าน ลบ.ม. และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากน้ำเหนือยังไหลลงมา เขื่อนราษีไศลจึงระบายน้ำเพิ่มโดยเปิดทั้ง 7 บานระบายน้ำออก 670 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อพร่องน้ำไม่ให้น้ำไหลบ่าท่วมไร่นาของชาวนาสองฝั่งแม่น้ำมูล
ฝนถล่มทำเจดีย์โบราณพังถล่ม
ที่ จ.ตาก สายวันเดียวกัน นายประทีป โพธิ์เที้ยม นายอำเภอท่าสองยาง รับรายงานเกิดฝนตกหนักตลอดแนวชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะพื้นที่เชิงภูเขาเหนือบ้านสันดอยงาม หมู่ 16 ต.แม่สอง อ.ท่าสองยาง ทำให้องค์พระเจดีย์เก่าแก่อายุร่วมร้อยปีที่สร้างภายในอาศรมพระธรรมจาริกบ้านป่าโหย่วีโจ เหนือหมู่บ้านชาวไทยชนเผ่ากะเหรี่ยง ยอดพระเจดีย์เกิดรอยแตกร้าวเป็นรอยยาวและลึกตั้งแต่จากยอดพระเจดีย์มาถึงช่วงกลางของตัวพระเจดีย์ ล่าสุดช่วงเช้ายอดพระเจดีย์เกิดพังถล่มลงมา ส่งผลให้ พระเจดีย์พังเสียหายเกือบทั้งหมด แต่โชคดีที่ไม่มีชาวบ้านและพระสงฆ์ได้รับบาดเจ็บ นายประทีป กล่าวว่า ขณะนี้ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าไปสำรวจเบื้องต้นพบว่าองค์พระเจดีย์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก จนต้องออกประกาศแจ้งเตือนชาวบ้านห้ามเข้าใกล้อย่างเด็ดขาด เนื่องจากเกรงว่าพระเจดีย์ในส่วนที่เหลือจะพังถล่มซ้ำลงมาอีก
เตือนเจ้าพระยาสูงอีก 30–80 ซม.
นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 (เขื่อนเจ้าพระยา) จ.ชัยนาท เปิดเผยว่า สั่งการเจ้าหน้าที่สำนักชลประทานที่ 12 นำเครื่องจักรเร่งจัดเก็บผักตบชวาที่ไหลมาจากภาคเหนือติดค้างหน้าบานประตูเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ ส่วนสถานการณ์น้ำในวันนี้มีการระบายน้ำที่ 901 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ระดับน้ำเหนือเขื่อนอยู่ที่ 16.64 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.57 เมตรระดับน้ำทะเลปานกลาง คาดการณ์ว่าในระยะจากนี้ไปจะระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ จะควบคุมอยู่ในเกณฑ์ระหว่าง 700-1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จะส่งผลให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมอีก 30-80 ซม. ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำน้อยด้านท้ายประตูระบายน้ำผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา ขอให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
ผันลงแม่น้ำน้อยลดผลกระทบ
ส่วนที่ จ.อ่างทอง หลังจากเขื่อนเจ้าพระยาระบายน้ำลงท้ายเขื่อนเพิ่มมากขึ้น ทำให้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี ต.องครักษ์ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง ต้องระบายน้ำลงสู่แม่น้ำน้อย ลำน้ำสาขาแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มมากขึ้นเพื่อบรรเทาผลกระทบในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทำให้บ้านเรือนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำน้อย ต.บางจัก อ.วิเศษชัยชาญ ถูกน้ำท่วมมากว่า 1 อาทิตย์แล้วและแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเขื่อนเจ้าพระยาปล่อยน้ำเพื่อรับน้ำเหนือที่ไหลลงมาเพิ่ม ด้านนายเลอศักดิ์ จันทร์ไทย อายุ 53 ปี เกษตรกรปลูกผักริมแม่น้ำน้อยในพื้นที่หมู่ 2 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ เผยว่า ขณะนี้แม่น้ำน้อยเอ่อท่วมแปลงผักเนื้อที่กว่า 2 ไร่ได้รับความเสียหายบางส่วน แต่หากน้ำยังไหลลงมาเพิ่มแบบนี้ผักที่ปลูกไว้คงเสียหายทั้งหมด
“บิ๊กป้อม” กำชับ สทนช.แก้อุทกภัย
ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการปฏิบัติราชการของรัฐบาลและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีนายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สทนช. ร่วมรับฟังนโยบาย ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรเปิดเผยว่า มีความห่วงใยในสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศจากที่ได้ลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์น้ำที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อวันที่ 7 ก.ย.ที่ผ่านมา จึงกำชับให้ สทนช. เป็นที่พึ่งให้กับประชาชน เร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่จากอิทธิพลพายุ “โพดุล” และ “คาจิกิ”
งัด 8 มาตรการรับมือฝน–ภัยแล้ง
พล.อ.ประวิตรกล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันต้องมีมาตรการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝนและฤดูแล้งปี 62/63 ดังต่อไปนี้ 1.ให้กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สถาบันสารสนเทศน้ำเพื่อการเกษตร (องค์การมหาชน) ตรวจสอบสภาพเขื่อน ฝาย อาคารชลประทาน ฯลฯ ระบบการระบายน้ำ สถานีโทรมาตร เพื่อเฝ้าระวัง 2.มอบกรมฝนหลวงและการบินเกษตร จัดทำฝนหลวง เพื่อเร่งเก็บกักน้ำไว้สำหรับฤดูแล้งถัดไป และให้ตั้งศูนย์อำนวยการน้ำเฉพาะกิจโดย สทนช. เพื่อบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปีถัดไปด้วย 3.มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจแหล่งน้ำที่ผ่านมาในปี 2561 มีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ เพื่อดำเนินการเชิงป้องกันความเสี่ยงอุทกภัย พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย จัดทำแผนการบริหารจัดการน้ำหลากสำหรับเตรียมการ บริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ และแผนการป้องกัน รับมือและเผชิญเหตุอุทกภัย
ลดดอกเบี้ยเงินกู้–เช่าพื้นที่รับน้ำ
4.มอบทุกหน่วยประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำ สภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และการแจ้งเตือนล่วงหน้าพร้อมแนวทางการปฏิบัติ 5.เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบ และปรับปรุงแก้ไขเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำให้แล้วเสร็จโดยด่วน 6.มอบหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสำรวจแม่น้ำ คูคลองและดำเนินการขุดลอกผักตบชวา ตลอดจนขยะ เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคกีดขวางการระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก 7.ให้ปรับแผนการปลูกพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และปริมาณน้ำต้นทุน 8.จะมีการสนับสนุนทางการคลังลดดอกเบี้ยเงินกู้ การเช่าพื้นที่รับน้ำหลาก และการชดเชยกรณีได้รับความเสียหายจากน้ำ
ขับเคลื่อนแผนทรัพยากรน้ำ 20ปี
รองนายกฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนแผนระยะยาวมอบหมาย สทนช.เร่งแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) ใน 66 พื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งเป็นประจำ เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการแก้ไขปัญหา แผนงานโครงการสำคัญในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการต่อไป ส่วนการขับเคลื่อนแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปีไปสู่แผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำ ขอให้สทนช.เร่งจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำและแผนการปฏิบัติในระดับลุ่มน้ำให้แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริง ส่วนการติดตามและประเมินผลแผนงานโครงการและงบประมาณในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำจากหน่วยงานปฏิบัติด้านน้ำทั้งจากส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่ ปัจจุบันมีมากกว่า 40 หน่วยงาน โดยมอบให้สทนช. เน้นจัดลำดับความสำคัญของแผนงานโครงการที่พร้อมสามารถดำเนินการได้ก่อน เพื่อเสนอคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) พิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป
กรมอุตุฯเฝ้าระวังฝนตกหนักอีก
เมื่อวันที่ 9 ก.ย.กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์สภาพอากาศว่าช่วงวันที่ 9-11 ก.ย. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะกลับมามีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมกลับมาพาดผ่านภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออก เฉียงเหนือตอนบนมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนรวมทั้งภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น และฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ระนอง และพังงา ส่วนช่วงวันที่ 12-15 ก.ย. ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยยังคงมีกำลังแรง ประกอบกับร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคกลาง ยังคงมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางแห่ง และช่วงวันที่ 9-11 ก.ย.ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะกลับมามีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้คลื่นลมในทะเลอันดามันตอนบนและอ่าวไทยตอนบนจะกลับมามีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร