ในพื้นที่ “ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” หรือ “อีสาน” ยังคงต้องเผชิญ “ภัยแล้ง” ขยายวงกว้าง มีฝนทิ้งช่วงติดต่อกันเป็นระยะเวลายาวนานส่งผลกระทบกับ “ชาวนา” ต้องทุกข์ระทมอย่างแสนสาหัส เพราะต้นข้าวที่หว่าน ปักดำเอาไว้ มีสภาพ “ขาดน้ำ”...เริ่มยืนต้นตาย แห้งกรอบ ตามพื้นที่ดินแตกระแหงหนัก...
ส่วนหนึ่งอาจเพราะ “เกิดจาก...การบริหารจัดการน้ำผิดพลาด” และมีผลพวงจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญแบบอ่อน” แม้ไม่รุนแรงเท่ากับปี 2558 แต่มีผลกระทบต่อเนื่องยาวตั้งแต่เดือน ก.ย.2561 มาถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ประเทศไทย โดยเฉพาะภาคอีสาน มีฝนน้อยกว่าปกติค่าเฉลี่ย 30 ปี ถึงประมาณ 34 เปอร์เซ็นต์
ปรากฏการณ์นี้...ไม่ใช่เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย มีผลกระทบในประเทศแถบเอเชีย ใกล้มหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งประเทศเมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม จีน มีปริมาณฝนตกลงมาน้อย ที่มีผลลากยาวไปจนถึงต้นปี 2563 ในการบริหารจัดการน้ำ...จึงต้องระมัดระวัง หากผิดพลาด...สถานการณ์อาจเลวร้ายหนักกว่าเดิม...
...
ดร.ศิริลักษณ์ ชุ่มชื่น ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) ให้ข้อมูลว่า ในภาคอีสานที่ต้องเผชิญภัยแล้งซ้ำซาก...ต้องมาทำความเข้าใจภูมิประเทศ “อีสาน” มีลักษณะพื้นดินยกตัวขึ้นเป็นที่ราบสูงและเป็นพื้นที่ค่อนข้างแบนราบ ในการพัฒนา “เขื่อนเก็บน้ำขนาดใหญ่” ที่มีความจุจำนวนมาก “ทำได้ยาก” ต่างจากภาคเหนือ ...ที่มีภูเขาล้อมรอบพื้นที่
ปีนี้ภาคอีสานปริมาณฝนเฉลี่ย 1,328 มม. ...ที่มีเกณฑ์ต่ำกว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศ 1,467 มม.ต่อปี และฝนที่ตกลงมานั้นมีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมออีก โดยบริเวณริมแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นพื้นที่ปลายน้ำ กลับมีปริมาณฝนตกลงมามากที่สุด ที่เหมาะกับการสร้างเขื่อน แต่ก็สร้างเขื่อนไม่ได้ เพราะความขัดแย้งทางความคิด...
พื้นที่ต้นน้ำ มีที่รับน้ำ หรืออ่างเก็บน้ำ กลับมีปริมาณฝนตกลงมาน้อย...
แต่ว่า...ภาคอีสานมีพื้นที่อยู่ประมาณ 103.5 ล้านไร่ คิดเป็นพื้นที่รับน้ำได้ 32 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ...แต่ด้วยปริมาณน้ำฝนมีน้อย ทำให้มีน้ำท่าเก็บไว้ได้เพียง 28 เปอร์เซ็นต์ของทั้งประเทศ หรือ 60,790 ล้าน ลบ.ม. ซ้ำร้าย...กลับมีอ่างขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่สามารถกักเก็บน้ำได้เพียง 13,850 ล้าน ลบ.ม.
นั่นหมายความว่า...ฝนตกลงมาก็น้อยกว่าเกณฑ์เหลือเพียง 1,328 มม. ในจำนวนนี้แปลงออกมาเป็นปริมาณ หรือวอลลุ่ม (volume) ของพื้นที่ทั้งหมด 60,790 ล้าน ลบ.ม. แต่มีพื้นที่กักเก็บได้เพียง 13,850 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่เหลือไม่มีกระบวนการกักเก็บ...ต้องปล่อยลงดิน หรือปล่อยระเหยทิ้งไป
วิเคราะห์พื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด มีความต้องการใช้น้ำ ทั้งด้านการเกษตร อุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศต่างๆ ประมาณ 28,000 ล้าน ลบ.ม.ต่อปี ทำให้น้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ...
ทว่า...การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต้องคำนวณการปล่อยน้ำ ให้ภาคการเกษตร ภาคการอุปโภคบริโภค ตามความเหมาะสม ผนวกกับการพยากรณ์ปริมาณฝน ทั้งในรายวัน รายเดือน และรายฤดู สามารถทราบแนวโน้มของปริมาณน้ำฝนมากหรือน้ำน้อย? จากนั้นค่อยมาบริหารน้ำ หรือการปล่อยส่งน้ำ ให้เกิดความสมดุลกัน
ปีนี้ฝนกลับมาไม่ตามคาดการณ์...จนเกิดภัยแล้งแล้ว...กลับปล่อยน้ำออกมากเกินไป ทำให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่น้อยลงอีก ณ วันที่ 29 ก.ค. 2562 มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ในพื้นที่ภาคอีสาน ปริมาณน้ำเก็บกักเฉลี่ย 31 เปอร์เซ็นต์ น้ำที่ใช้การได้จริง 11 เปอร์เซ็นต์ของความจุอ่างเก็บน้ำเท่านั้น
และมี “เขื่อนวิกฤติ” แล้ว...คือ เขื่อนลำพระเพลิง มีปริมาณน้ำใช้จริง 20.98 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนจุฬาภรณ์ มีน้ำใช้ได้จริง 5.01 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำใช้จริง–36.67 ล้าน ลบ.ม.
หนำซ้ำ...ในแม่น้ำโขงยังมีปริมาณน้ำฝนไหลมาเติมน้อย ประกอบกับเขื่อนประเทศจีนมีการปรับลดการระบายน้ำ ดำเนินการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าของโรงผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ และมีเขื่อนของ สปป.ลาว มีการทดสอบเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ทำให้ระดับน้ำท้ายน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงลดลง ในช่วงที่ผ่านมานี้
...
อีกสาเหตุ...ในช่วงต้นฤดูกาลเพาะปลูก “ภาครัฐ” ยังขาดการสื่อสารพูดคุยภาคประชาชนให้เกิดความเข้าใจตั้งแต่เริ่มต้นว่า ในปีนี้มีน้ำน้อย ต้องลดใช้น้ำให้เหมาะสม แต่ภาครัฐไม่สื่อสารกับประชาชน มีการเพาะปลูกตามปกติ ทำให้เกิดการร้องขอปล่อยน้ำหล่อเลี้ยงภาคการเกษตร จนปริมาณน้ำในเขื่อนน้อยลงอีก...
“ในพื้นที่เขื่อนมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติ และน้ำเข้าอ่างน้อยไปด้วย เพราะการคาดการณ์มองว่า ในช่วงฤดูฝนปี 2562 จะมีปริมาณน้ำมาเติมเขื่อน แต่ปีนี้กลับเผชิญเอลนีโญตั้งแต่เดือน ก.ย.2561 ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า จะมีปริมาณน้ำฝนน้อยต้องเตรียมบริหารน้ำนับแต่นั้น...แต่กลับมีการปล่อยน้ำออกไป” ดร.ศิริลักษณ์ ว่า
เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว...แนวทางแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคงต้องหวัง “พึ่งพาการทำฝนหลวง” และรัฐบาลต้องชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งนอกเขตพื้นที่ชลประทาน และส่งน้ำแบบรอบเวียนในเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อเลี้ยงนาข้าวที่เหลืออยู่ให้รอด และลดพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้ง รวมถึงรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ
จากนั้นตั้งตารอ...“น้ำฝน” ที่คาดกันว่า เดือน ส.ค.-ก.ย.62 จะเริ่มมีฝนตก และมีพายุเข้าประเทศไทย 1 ลูก เคลื่อนมายังภาคอีสานตอนบน ใน จ.หนองคาย ทำให้มีน้ำไหลเติมแม่น้ำโขง และอาจเคลื่อนสู่ภาคเหนือตอนล่าง ช่วยเติมเขื่อนสิริกิติ์ รวมทั้งอาจรับอิทธิพลดีเปรสชันอีก 7 ลูก ในการช่วยบรรเทาภัยแล้งในระดับหนึ่ง...
ในการช่วยเหลือตัวเองของประชาชนเบื้องต้น อาจต้องทำสระเก็บน้ำในพื้นที่ตนเอง ด้วยร้องขอ “กรมพัฒนาที่ดิน ตามโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน” ขุดสระน้ำในไร่นา 1,260 ลูกบาศก์เมตร และเกษตรกรออกค่าใช้จ่าย 2,500 บาทต่อบ่อ จากค่าขุดบ่อ 20,000 บาท ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะเป็นผู้สนับสนุน...
...
มีวัตถุประสงค์การบรรเทาสภาพปัญหาภัยแล้ง การขาดแคลนน้ำ และเพิ่มประสิทธิภาพการเก็บกักน้ำในพื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกร นอกเขตชลประทานมีแหล่งน้ำที่เหมาะสมกับการเกษตร เป็นการสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานตามหลักทฤษฎีใหม่อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
ในระยะยาวรัฐบาล...ต้องมีส่วนร่วมช่วยเหลือพื้นที่ภาคอีสาน ด้วยการผันน้ำจากแม่น้ำโขง...ผ่านอุโมงค์ส่งน้ำใต้ดินในช่วงฤดูฝน เพราะช่วงนี้มีปริมาณน้ำไหลหลากมาก และผันน้ำเข้ามาเก็บไว้ในเขื่อนอุบลรัตน์ หรือในอ่าง ลำคลอง ระบบส่งน้ำต่างๆ ในการเตรียมน้ำช่วยในช่วงฤดูแล้ง เช่น กรมชลประทานจัดทำโครงการจัดการน้ำโขง เลย ชี มูล โดยแรงโน้มถ่วง ผันน้ำจากปากแม่น้ำเลย กระจายน้ำมาช่วยพื้นที่ภาคอีสาน
แต่นี่ถือว่าเป็น “เมกะโปรเจกต์” ต้องใช้งบประมาณสูงมาก
สิ่งสำคัญ...ต้องมีการจัดทำระบบพยากรณ์สภาพอากาศรายฤดูที่แม่นยำ มีการพัฒนาให้เกิดความทันสมัยแม่นยำ และพัฒนาบุคลากรให้เรียนรู้ และพัฒนาความสามารถหลากหลายในการมาระดมความคิด...ใช้เป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำตั้งแต่ต้นฤดูฝน เพื่อลดความเสียหายต่อการปลูกพืช
ต้องเข้าใจว่า...โลกกำลังเผชิญกับ “Climate Change” พฤติกรรมของธรรมชาติ มีสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงมาก ทุกอย่างเกิดขึ้นได้...เกินความคาดหมาย ทำให้การพยากรณ์อากาศยากกว่าเดิม...และทิศทางพายุเคยเกิดขึ้นซ้ำๆก็ไม่แน่นอนเหมือนอดีต จำเป็นต้องให้ความสำคัญ...อย่าหยุดการเรียนรู้และพัฒนา นำเทคโนโลยีต่างประเทศเข้ามาใช้ในการพยากรณ์อากาศ และการบริหารน้ำ
อนาคตจะสามารถชี้เป้าได้เลยว่า พื้นที่บริเวณใดมีความเสี่ยงต่อภัยแล้ง และจะต้องมีมาตรการควบคุมการเพาะปลูกของเกษตรกรให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำในแต่ละปี ทั้งมีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ที่ชัดเจนในกรณีที่ให้ชะลอการเพาะปลูก หรือมีการลดการเพาะปลูก...
...
“พื้นที่อีสาน”...ทำเขื่อนลำบาก...ฝนก็มีน้อย...ยิ่งมีอากาศเปลี่ยนแปลงผิดปกติ และการพยากรณ์ลำบากขึ้น ทางออกที่ดี...ทุกคนต้องปรับวิถีชีวิตใหม่...ให้สอดคล้องกับธรรมชาติด้วยเช่นกัน.