สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ ให้ความรู้เกษตรกรในการปรับปรุงบำรุงดิน หนุนทำเกษตรอินทรีย์-เกษตรผสมผสาน ประสบผลสำเร็จ มีรายได้ หายจน พร้อมพยุงคุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น...

พื้นที่ของ นางภาวนา อินผล เกษตรกรในพื้นที่ ต.โนนกอก อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ เดิมประสบปัญหาขาดทุนตอนทำนา ทำให้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด และหันมาทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะทำนา ปลูกผัก และมีการปลูกพืชแซมเพื่อให้พืชได้เอื้อผลประโยชน์กัน และที่สำคัญคือเกษตรอินทรีย์ ปราศจากสารเคมี เพราะจะได้ปลอดภัยทั้งตนเอง และผู้บริโภค โดยสถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิได้เข้ามาให้คำแนะนำและส่งเสริม เรื่องการทำปุ๋ยพืชสดปรับปรุงบำรุงดิน โดยใช้ปอเทืองซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่ว เมื่อไถกลบจะปลดปล่อยธาตุอาหาร โดยเฉพาะไนโตรเจนในปริมาณสูง นิยมปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อเพิ่มปริมาณธาตุอาหารให้กับดิน ซึ่งในการปลูกพืชในระบบเกษตรอินทรีย์ หากปลูกในพื้นที่ดินดอนจะส่งผลให้พืชเจริญงอกงาม โดยหลังจากปลูกพืชหลัก เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง อ้อย ก็จะมีการปลูกต้นปอเทือง เพื่อเป็นการปรับปรุงบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น รวมไปถึงให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ

...

นางภาวนา อินผล เกษตรกรอำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า ตนทำเกษตรผสมผสาน ซึ่งมีเนื้อที่ทำเกษตรตรงนี้ 20 ไร่ ได้ทำการปลูกข้าว ผักหวานยางพารา อ้อย และประสบปัญหาคือ ก่อนนี้ดินเป็นกรดเป็นด่าง ทำการเกษตรไม่ได้ผล ข้าวไม่งาม ปลูกผักหวานบางต้นก็ตาย สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิเข้ามาช่วยเหลือโดยแนะนำให้หมอดินนำดินไปตรวจวิเคราะห์ หาค่าดิน ทั้งยังให้กากน้ำตาล และถังน้ำหมัก พร้อมให้ความรู้เรื่องปุ๋ยหมัก ซึ่งเมื่อได้รับความรู้แล้วก็ทำมาเรื่อยๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ปลูกผักหวาน ก็ปลูกเฉยๆ ไม่ได้ใส่ปุ๋ยหรือดูแลอะไร ต่อมาสถานีพัฒนาที่ดินแนะนำให้ใส่ปุ๋ยหมัก และ พด.ต่างๆ ที่พัฒนาที่ดินชัยภูมิมาลองใช้

"เมื่อก่อนปุ๋ยหมักป้าไม่กล้าทำ กลัวว่ามันลงทุนสูง จึงไม่กล้าซื้อ ไม่กล้าคิดที่จะทำ แต่พอได้มาใช้แล้ว ใส่ผักหวานปรากฏว่าใบเขียว ใบหนา แตกยอดขึ้นมายอดก็สวยงาม เก็บมาขายใครก็บอกว่าโอ๊ยผักหวานยายแต๋วทั้งกรอบทั้งหวาน จากนั้นรายได้ก็เพิ่มขึ้น สามารถเก็บได้วันละ 10 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 200 บาท ยางพาราก็ได้กรีด ข้าวก็งามขึ้น ผลผลิตดีขึ้น จนตอนนี้ตนเองส่งลูกเรียนปริญญาสองคน ไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน ผิดกับเมื่อก่อน เพราะได้ลดต้นทุนเรื่องปุ๋ย" นางภาวนา กล่าว

นายปิยะพงษ์ วงเวียน เจ้าพนักงานการเกษตรปฏิบัติงาน สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ กล่าวว่า ในอดีตเกษตรกรรายนี้มีหนี้สิน เพราะทำแล้วขาดทุน ซึ่งหลังจากที่ได้ทำเกษตรผสมผสาน ได้เก็บผักไปขาย รายได้เพิ่มมากขึ้น ทุกวันนี้ไม่มีหนี้สินแล้ว สำหรับเกษตรกรที่สนใจเกี่ยวกับการพัฒนาที่ดิน หรือมีปัญหาเรื่องดิน อยากให้เข้ามาศึกษาและนำความรู้จากพัฒนาที่ดินไปใช้ เพราะการที่เราทำเกษตรเชิงเดี่ยวและใช้สารเคมี ทำให้เปลืองค่าใช้จ่าย และสุขภาพไม่ดี ก่อเกิดหนี้สินขึ้นมาในครอบครัว

"อยากแนะนำให้ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานรวมกัน รายได้ก็จะมีเข้ามาทุกทาง ในการทำเกษตรผสมผสาน จะช่วยให้เกษตรกรมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคในครัวเรือน และยังสามารถนำไปขาย สร้างรายได้อีกทาง ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น และการดำเนินกิจกรรมในระบบเกษตรผสมผสานก็มีการกระจายการใช้แรงงาน ทำให้มีงานทำตลอดทั้งปี" นายปิยะพงษ์ กล่าว.