นับเป็นอีกครั้งหนึ่งในรอบเกือบ 20 ปี เมื่อมีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ จ.บึงกาฬ ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขงในอีสาน เป็นจังหวัดลำดับที่ 77 ของประเทศ โดยแยกตัวมาจาก จ.หนองคาย...

ย้อนไปเมื่อ พ.ศ. 2537 นายสุเมธ พรหมพันห่าว ส.ส.พรรคเสรีธรรม จ.หนองคาย (ขณะนั้น) ได้เป็นแกนนำเสนอให้จัดตั้ง จ.บึงกาฬขึ้น หลังจากก่อนหน้าเมื่อ พ.ศ. 2536  มีการจัดตั้งจังหวัดใหม่ขึ้นในประเทศ 3 จังหวัด ได้แก่ หนองบัวลำภู อำนาจเจริญและสระแก้ว ทำให้ประเทศไทยมี 76 จังหวัด ขณะเดียวกันยังมีการเสนอให้จัดตั้งจังหวัดใหม่อีกเป็นระยะๆ เช่น จ.ฝาง ภูเวียง และแม่สอด เป็นต้น แต่ไม่เป็นผล

จนเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา หรือผ่านไปเกือบ 14 ปี จึงมีการประกาศจัดตั้ง จ.บึงกาฬขึ้น หลังจาก “พ.ร.บ.จัดตั้งจังหวัดบึงกาฬ พ.ศ.2554” ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 2554 โดยให้มีผลในวันที่ 23 มี.ค.2554 คล้อยหลัง 1 วันหลังลงประกาศ โดยมีการตักบาตรทำบุญเพื่อความเป็นสิริมงคลและจัดงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่

ทั้งนี้  จ.บึงกาฬ เป็นจังหวัดที่ 20 ในภาคอีสาน จัดตั้งขึ้นโดยแยก 8 อำเภอของ จ.หนองคาย ออกมาตั้งเป็นจังหวัด ประกอบด้วย 1. อ.บึงกาฬ ที่ตัวอำเภอจะถูกยกระดับขึ้นเป็นตัวจังหวัด 2. อ.เซกา 3. อ.โซ่พิสัย 4. อ.บุ่งคล้า 5. อ.บึงโขงหลง 6. อ.ปากคาด 7. อ.พรเจริญ และ 8. อ.ศรีวิไล ซึ่งสภาพพื้นที่ของจังหวัดใหมส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำโขง มีพื้นที่ 4,305 ตร.กม. ประชากรประมาณ 400,000 คน

ตัวเมือง จ.บึงกาฬ ห่างจาก จ.หนองคาย 145 กม. ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 760 กม. อาณาเขตทิศเหนือติดแม่น้ำโขง ตรงข้ามเมืองปากซัน ประเทศลาว ส่วนทิศใต้ ทิศตะวันออกและทิศตะวันตกติด จ.หนองคาย การเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวใช้ ถ.มิตรภาพ หรือใช้บริการรถโดยสารประจำทาง ถึง จ.บึงกาฬทุกวัน ส่วนความพร้อมด้านสาธารณูปโภคมีทั้งศาล สำนักงานอัยการ เรือนจำ อำเภอ คลังจังหวัด ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ แขวงการทางและสถานีตำรวจ

...


นายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า จ.บึงกาฬมีรายได้ประมาณ 89 ล้านบาทต่อปี ซึ่งก่อนหน้านี้ กระทรวงมหาดไทยได้สำรวจความเห็นของประชาชนในพื้นที่จากการประชุมประชาคมหมู่ บ้านเกี่ยวกับการตั้ง จ.บึงกาฬ ผลปรากฏว่า ประชาชน 98% เห็นด้วย ส่วนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นด้วย 96% และหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอเห็นด้วย 100%

เรื่องการแบ่งส่วนราชการ นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้มีการกำหนดตำแหน่งแล้ว โดยมีผลเมื่อ พ.ร.บ.จัดตั้ง จ.บึงกาฬบังคับใช้ ส่วนการแบ่งงานในส่วนของนายอำเภอเนื่องจาก จ.บึงกาฬ แบ่งอำเภอมาจาก จ.หนองคาย 8 อำเภอ ดังนั้น นายอำเภอนั้นๆ จะปฏิบัติหน้าที่ในนามนายอำเภอของ จ.บึงกาฬ โดยอัตโนมัติ

ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดนั้น ต้องผ่านกระบวนการสอบ กระบวนการคัดเลือกตามขั้นตอนก่อน แต่ในเบื้องต้นกระทรวงมหาดไทยมีคำสั่งให้ นายสมพงษ์ อรุณโรจน์ปัญญา ที่ปรึกษาระดับ 10 ด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ เป็นรักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการ จ.บึงกาฬ จากนั้น จะได้ดำเนินกระบวนการสรรหาโดยเร็ว  

ด้าน พล.ต.ต.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า การประชุม ก.ตร. ได้มีมติขอเปิดตำแหน่งตำรวจสังกัด บช.ส., บช.สพฐ.ตร. และบช.ก. ประมาณ 100 ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ใน จ.บึงกาฬ สำหรับตำแหน่ง ผบก.ภ.จว.บึงกาฬนั้น ขณะนี้ สตช.มอบหมายให้ พล.ต.ต.บุญเลิศ ใจประดิษฐ์ รอง ผบช.ภ.4 ทำหน้าที่ไปก่อน

ล่าสุด สตช. ได้จัดตั้งส่วนราชการ คือ บก.ภ.จว.บึงกาฬขึ้น สังกัด บช.ภ.4 มีเขตอำนาจรับผิดชอบ 8 สถานีตำรวจภูธร ตามทั้ง 8 อำเภอของจังหวัด รวมทั้งได้จัดตั้งหน่วยสนับ สนุนเพื่อรองรับภารกิจที่จะตามมา ได้แก่ ตม.บึงกาฬ พิสูจน์หลักฐาน จ.บึงกาฬ และสันติบาล จ.บึงกาฬ พร้อมกับเปิดอัตราตำแหน่งใหม่อีกทั้งสิ้น 186 ตำแหน่ง รวมตำแหน่ง ผบก.ภ.จว.บึงกาฬ ยศ พล.ต.ต.

ขณะที่ นายสมพงษ์ กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะทำ คือ การทำความเข้าใจกับส่วนราชการ ซึ่งจะส่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่มาประจำ จ.บึงกาฬ โดยต้องหาสถานที่ทำงานชั่วคราวให้ เพราะศาลากลางยังไม่มีการก่อสร้างต้องใช้ที่ว่าการ อ.เมืองบึงกาฬเป็นสถานที่ทำงานชั่วคราวก่อน ส่วนกำลังเจ้าหน้าที่แม้อาจจะยังไม่ครบจำนวน แต่ต้องให้สามารถปฏิบัติงานได้ทันที เพื่อให้สมกับชาวบึงกาฬรอคอยการเป็นจังหวัดมานานหลายสิบปี โดยทุกคนต้องช่วยกันทำความฝันของชาวบ้านให้มีความสุข ทำหน้าที่ให้เต็มภาคภูมิใจ

"สำหรับคำขวัญประจำ จ.บึงกาฬ ในช่วงแรกจะใช้คำขวัญ อ.บึงกาฬไปก่อน คือ สองนางศาลศักดิ์สิทธิ์ อิทธิฤทธิ์หลวงพ่อใหญ่ แหล่งน้ำใสหนองกุดทิง สุดใหญ่ยิ่งแข่งเรือยาว หาดทรายขาวเป็นสง่า น่าทัศนาแก่งอาฮง งามฝั่งโขงที่บึงกาฬหลังจากนั้น จะมีการหารือกับ 7 อำเภอว่า มีของดีที่โดดเด่นมาปรับให้เป็นคำขวัญประจำจังหวัดให้ครอบคลุมในอนาคต"

...

สำหรับหลักเกณฑ์ในการจัดตั้ง จ.บึงกาฬ รวมถึงการจะจัดตั้งจังหวดใหม่อื่นๆ นั้น ปัจจุบันยึดมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2524 ซึ่งได้เห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งจังหวัดใหม่ตามที่กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ เสนอ ดังนี้


1. เนื้อที่และสภาพภูมิศาสตร์

1.1 จังหวัดที่จะแบ่งแยกจังหวัดใหม่ ควรมีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตร.กม. ขึ้นไป และเมื่อแยกไปตั้งเป็นจังหวัดใหม่แล้วจังหวัดเดิมควรจะมีเนื้อที่ไม่น้อย กว่า 5,000 ตร.กม.ขึ้นไป และ 1.2 จังหวัดที่ตั้งใหม่ควรมีเนื้อที่ 5,000 ตร.กม.ขึ้นไป

2. จำนวนอำเภอและกิ่งอำเภอในเขตการปกครอง โดยจังหวัดที่แบ่งแยกขึ้นใหม่ควรมีอำเภอและกิ่งอำเภอในเขตการปกครองไม่น้อย กว่า 12 อำเภอและกิ่งอำเภอ และเมื่อแยกไปตั้งเป็นจังหวัดใหม่แล้วจังหวัดเดิมควรมีอำเภอในเขตการปกครอง ไม่น้อยกว่า 6 อำเภอ

3. จำนวนประชากร
3.1 จังหวัดที่จะแบ่งแยกจังหวัดขึ้นใหม่ควรมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 6 แสนคน และเมื่อแยกไปตั้งเป็นจังหวัดใหม่แล้ว จังหวัดเดิมควรจะมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน และ 3.2 จังหวัดที่ตั้งใหม่ควรมีจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 3 แสนคน

4. ลักษณะพิเศษของจังหวัด โดยจังหวัดที่จะแบ่งแยกจังหวัดจัดตั้งเป็นจังหวัดใหม่ควรมีลักษณะพิเศษที่ สมควรจะจัดตั้งจังหวัดเพิ่มขึ้น เช่น
4.1 เป็นท้องที่จังหวัดชายแดนที่มีปัญหาในด้านความมั่นคงสูง เช่น มีการแทรกซึมจากประเทศข้างเคียง มีการลักลอบขนอาวุธจากนอกประเทศเข้ามาในพื้นที่ เป็นต้น 4.2 เป็นจังหวัดที่มีปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงภายใน เช่น เป็นเขตแทรกซึมและบ่อนทำลายจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ เป็นพื้นที่ปฏิบัติการ พคท. เป็นพื้นที่มีปัญหาเกี่ยวกับชนกลุ่มน้อย เป็นต้น 4.3 พื้นที่กว้างขวางมีลักษณะยาวมาก ทำให้การติดต่อระหว่างอำเภอกับจังหวัดเป็นไปด้วยความยากลำบาก หรือใช้ระยะเวลามากเกินสมควร และ 4.4 สภาพภูมิประเทศเป็นอุปสรรคต่อการตรวจตราดูแลทุกข์สุขของราษฎร ซึ่งไม่อาจจะกระทำได้โดยทั่วถึง เช่น เป็นเกาะ หรือ เป็นเขา เป็นต้น

5. ผลดีในการให้บริการประชาชน โดยการตั้งจังหวัดใหม่จะเป็นผลดีในการให้บริการประชาชนมากน้อยเพียงใด เช่น ราษฎรได้รับบริการรวดเร็วขึ้น จังหวัดสามารถออกไปตรวจตราท้องที่ได้ทั่วถึง ราษฎรเดินทางไปจังหวัดได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

...


6. ปัจจัยเกี่ยวกับสถานที่ราชการที่มีอยู่แล้ว และความพร้อมในด้านอื่น
6.1 จังหวัดที่จะตั้งขึ้นใหม่มีสถานที่ราชการที่จำเป็นจะต้องตั้งขึ้นใหม่อยู่ บ้างแล้ว เช่น ศาลจังหวัด อัยการจังหวัด เรือนจำ คลังอำเภอ ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ที่ทำการไปรษณีย์ สำนักงานที่ดิน โรงพยาบาล เป็นต้น 6.2 จังหวัดที่จะตั้งขึ้นใหม่สามารถจัดหาที่ดินสำหรับใช้เป็นศูนย์ราชการจังหวัด เพื่อใช้ก่อสร้างสถานที่ราชการ เช่น ศาลากลางจังหวัด ศาลจังหวัด และเป็นบ้านพักข้าราชการที่จำเป็นได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน และ 6.3 อำเภอที่จะเป็นที่ตั้งศาลากลางจังหวัดใหม่มีความเจริญพอสมควร เป็นศูนย์รวมทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่ก่อนแล้ว

7. ปัจจัยเกี่ยวกับอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ กรณีถ้ามีการจัดตั้งจังหวัดขึ้นใหม่แล้วจะมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดอัตรากำลัง เจ้าหน้าที่ของส่วนราชการต่างๆ ที่ไปปฏิบัติราชการที่จังหวัดตั้งใหม่หรือไม่

8. ความคิดเห็นของประชาชนและจังหวัด
8.1 รับฟังความคิดเห็นประชาชนในอำเภอต่างๆ ว่า มีความพอใจหรือเห็นด้วยหรือไม่ เพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสภาตำบลและสภาจังหวัด 8.2 อำเภอและจังหวัดเห็นด้วยหรือไม่ เพียงใด และ 8.3 ส.ส. ของจังหวัดนั้นๆ เห็นด้วยหรือไม่ เพียงใด

9. รายได้
9.1 รายได้ของจังหวัดเดิม เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีสรรพากร เป็นต้น มีจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท และที่แยกไปตั้งจังหวัดใหม่แล้วจังหวัดเดิมควรมีรายได้คงเหลือไว้ไม่น้อย กว่า 2.5 ล้านบาท และ 9.2 รายได้จังหวัดใหม่ เช่น ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีสรรพากร เป็นต้น ควรมีไม่น้อยกว่า 2.5 ล้านบาท

10. หลักเกณฑ์อื่นๆ
10.1 เหตุผลทางประวัติศาสตร์ การเมืองและวัฒนธรรม ของแต่ละท้องที่อาจเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการพิจารณาจัด ตั้งจังหวัดใหม่ และ 10.2 เหตุผลความจำเป็นอื่นๆ เช่น นโยบายรัฐบาล เป็นต้น.

...