บนพื้นที่เกษตร 30 ไร่ ของนายไพศาล แดงพะยนต์ หมอดินอาสา ที่บ้านสนามชัย หมู่ 17 ต.หนองแวง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ ได้ทำการเกษตรแบบผสมผสาน แต่ก่อนหน้านั้นบริเวณพื้นที่นี้ ได้มีการใช้ปุ๋ยเคมี ทำให้สภาพดินเสื่อมโทรมลง เนื่องจากดินเจอสารเคมีมาเป็นเวลานาน ทำให้ดินเกิดการชะล้าง ธาตุอาหารที่จำเป็นหายไป และเมื่อปลูกพืชทำให้ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ดี และผลผลิตน้อย จึงได้หาวิธีการแก้ไข ปัญหาดินดังกล่าว

สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ ได้เข้ามาให้คำแนะนำ และให้ความรู้แก่เกษตรกร โดยสนับสนุนในเรื่องของการนำหญ้าแฝกมาให้เกษตรกรปลูก เพื่อลดปัญหาการชะล้างของหน้าดินบริเวณสระน้ำ และแนะนำวิธีการนำเศษวัสดุที่เหลือใช้มาทำปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อนำไปใช้รดพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งทำให้ดินมีสภาพดีขึ้นอีกด้วย

นางสาวแก้วใจ อ้อชัยภูมิ นักวิชาการเกษตรชำนาญการ กล่าวว่า ตอนที่ทางสถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิได้เริ่มงานดูแลส่งเสริม คุณลุงไพศาล ซึ่งเป็นเกษตรกรในพื้นที่ได้เข้ามาสมัครมาเป็นหมอดินอาสา ซึ่งหมอดินอาสาจะเป็นกลุ่มบุคคลแรกๆ ที่สถานีพัฒนาที่ดินชัยภูมิ จะให้การสนับสนุน หรือว่าให้การช่วยเหลือ ในเรื่องของการปรับปรุงบำรุงดิน โดยตอนแรกสถานีได้เข้ามาขุดสระให้ และขุดบ่อจิ๋วในไร่นานอกเขตชลประทาน และดินในบริเวณนี้ค่อนข้างจะเป็นทรายมาก ทำให้เกิดการชะล้างพังทลายสูง ทำให้บ่อน้ำตื้นเขิน เราจึงแนะนำให้ปลูกแฝกก่อนอันดับแรก นอกจากนี้ยังมองเห็นปัญหาต่างๆ มากขึ้น ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ คือเรื่องดินเสื่อมโทรม เราจึงสนับสนุน และให้ความรู้เรื่องการปรับปรุงดิน โดยได้ให้ถังหมัก น้ำหมักชีวภาพ สอนวิธีการทำ รวมไปถึงสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด. ต่างๆ จะเห็นได้ชัดเลยว่า จากสภาพพื้นที่ดินที่มีความเสื่อมโทรม ก็สามารถปลูกไม้ผล ทำการเกษตรอื่นๆ ได้ในหลายรูปแบบ

...

นอกจากนี้ คุณลุงสามารถพัฒนาต่อยอดให้พื้นที่ของตนเองเป็นศูนย์เรียนรู้ประจำตำบลคือเกษตรกรส่วนใหญ่ที่นี้เขาจะเคยชินกับการคิดว่า หญ้าแฝกเป็นวัชพืชชนิดนึง ที่ไม่มีคุณค่าอะไร แต่คุณลุงไม่ได้คิดแบบนั้นกลับนำหญ้าแฝกนั้นเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้ ไม่ว่าจะเป็นการนำมาปลูกรอบไม้ผล เพื่อรักษาความชุ่มชื้น หรือการปลูกริมขอบสระ ริมขอบแปลงนา มันจะเห็นการใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทำให้เกษตรกรรอบข้าง ก็จะเห็นว่าหญ้าแฝกดีอย่างไร และก็นำมาถ่ายทอดต่อกันไปเรื่อยๆ ณ ตอนนี้บริเวณนี้ จะเป็นจุดที่ใช้ถ่ายทอดความรู้ในเรื่องหญ้าแฝกได้ เกษตรกรท่านอื่นเห็นแล้วก็สามารถทำตามได้

ด้านนายไพศาล แดงพะยนต์ หมอดินอาสา กล่าวว่า ตนจะนำเอาหญ้าแฝกที่ได้จากสถานีพัฒนาที่ดิน มาปลูกตามขอบสระ ขอบคันเนิน ตามราดเทของพื้นที่ เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ถ้าในกรณีที่ลาดเอียง อย่างเราปลูกต้นไม้แบบนี้ เราก็จะเอาแฝกปลูกตามโคนด้วย อาจจะเป็นครึ่งวงกลม เพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน ซึ่งมีสารอาหารที่จำเป็นที่พืชต้องใช้ และสำคัญที่สุด คือป้องกันสารพิษ คือดักตะกอนสารพิษ ไม่ให้ตกลงไปในดินของเรา ซึ่งเป็นการป้องกันพังทลายของหน้าดิน อันนี้เป็นอันดับหนึ่งเลย สองสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นดิน

นอกจากนี้ กรณีพื้นดินที่มีความแข็งของหน้าดิน พวกหน้าดินตื้น เราสามารถที่จะมาประยุกต์ใช้กับโคนต้นไม้ได้ เช่นถ้าเราปลูกเป็นครึ่งวงกลม รากของหญ้าแฝกก็จะเจาะลงไปในดิน เมื่อรากของแฝกลงไปในดิน รากของพืชก็จะตามลงไป เพราะในดินจะมีน้ำและอากาศ เป็นที่อาศัยของรากพืช ทำให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ในดิน ดินจะมีสีดำมากขึ้น มีความชุ่มชื้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน และสำคัญที่สุด คือถ้าเราปลูกหญ้าแฝกแล้ว ก็จะมีสารอะไรหลายๆ อย่างในต้นหญ้าแฝกทำให้แมลงไม่กล้าเข้ามาใกล้ หลังจากที่ตนเองนำหญ้าแฝกมาปลูกแล้วเห็นผลได้ว่าดินดีขึ้น ลดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน.