การชะล้างพังทลายของดินเป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งของประเทศ มีผลต่อความเสื่อมโทรมของทรัพยากรดิน โดยเฉพาะดินเพื่อการเกษตรกรรมที่เสื่อมโทรมลงและถูกชะล้างพังทลายอย่างต่อเนื่อง ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์มาเป็นเวลานาน

กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้เข้ามาส่งเสริมและรณรงค์เกษตรกรในพื้นที่ บ้านโคกพลวง ต.หนองโบสถ์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เรื่องการใช้หญ้าแฝกตามแนวพระราชดำริ เพื่อการพัฒนาปรับปรุงบำรุงดิน ฟื้นฟูดินให้มีความอุดมสมบูรณ์และแก้ไขปัญหาดินเสื่อมโทรม รวมถึงการดำเนินการขยายพันธุ์หญ้าแฝกให้เกษตรกรไว้แจกจ่ายกันในชุมชนและสร้างเป็นจุดเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากแฝก



นายสัมพันธ์ แย้มกระโทก นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ กล่าวว่า พื้นที่ของบ้านโคกพลวง เป็นพื้นที่ที่มีลักษณะดินร่วนปนทรายและขาดความอุดมสมบูรณ์ สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์จึงได้เข้ามาส่งเสริมในด้านการปรับปรุงดินและการอนุรักษ์ดินและน้ำ ในส่วนของการปรับปรุงดินก็จะสนับสนุนให้ชาวบ้านใช้ปุ๋ยพืชสดและทำปุ๋ยหมักสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และน้ำหมักสารเร่งซุปเปอร์ พด.2 ส่วนหญ้าแฝกส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำในพื้นที่ตามขอบสระ หญ้าแฝกมีประโยชน์ช่วยในการป้องกันการชะล้างพังทลายของดิน เมื่อชาวบ้านปลูกแฝกแล้วก็มีการต่อยอดนำใบหญ้าแฝกมาปกคลุมโคนต้นไม้เพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น อีกทั้งนำมาทำเป็นหลังคากระท่อม ทำตะกร้า ทำหมวก ทำหัตถกรรมต่างๆ เพิ่มรายได้ในชุมชน

...

นางสามัญ โล่ทอง ผู้ใหญ่บ้านบ้านโคกพลวง กล่าวว่า จากที่หมู่บ้านบ้านโคกพลวงเปรียบเสมือนเป็นตำนานในเรื่องดินไม่ดี น้ำไม่มี ชาวบ้านมีหนี้สิน ทุกวันนี้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีองค์ความรู้และก็ขยายผลต่อคนที่มาศึกษาเรียนรู้ในเรื่องดินและการบริหารจัดการน้ำในหมู่บ้าน กลุ่มบริหารจัดการน้ำชุมชนบ้านโคกพลวงเองก็มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านช่วยกันปลูกแฝกบริเวณสระแก้มลิง หรือตามคลองต่างๆ ในชุมชนจะปลูกแฝกทุกบ่อ เพื่อป้องกันดินพังและดูแลรักษาสระแก้มลิงหรือคูคลองต่างๆ และสามารถขยายพันธุ์แฝกในหมู่บ้านในแปลงเกษตรแล้วก็ยังขยายไปยังเครือข่ายการจัดการน้ำชุมชนของเรา โดยมีข้อตกลงกันในกลุ่มว่าถ้าขุดสระแก้มลิงแล้วชาวบ้านจะต้องปลูกแฝก เพื่อบำรุงรักษาสระแก้มลิงไว้ใช้ประโยชน์ในระยะยาว นอกจากนี้เกษตรกรยังปลูกพืชผักผสมผสาน มีทั้งพริก โหระพา บวบ มะละกอ ข้าวโพด ฟักข้าว หน่อไม้ พืชล้มลุก และไม้ยั่งยืน โดยใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ เพื่อลดต้นทุนในการผลิตและปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม ต่อตัวผู้บริโภคและต่อเกษตรกรเองด้วย



กลุ่มบริหารจัดการน้ำและการเกษตรบ้านโคกพลวง เป็นเครือข่ายชุมชนที่มี นางสามัญ โล่ทอง ผู้ใหญ่บ้านและเป็นประธานกลุ่ม ร่วมมือลงแรงกับชาวบ้านและกรมพัฒนาที่ดิน จนสามารถเปลี่ยนสภาพชุมชนที่เคยประสบปัญหาภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ ให้มีน้ำใช้ที่พอเพียงสำหรับอุปโภค บริโภคและทำการเกษตร ภายใต้แนวคิดที่ว่า "มีน้ำ มีความคิด ชีวิตพอเพียง" และนำไปใช้ร่วมกับเกษตรทฤษฎีใหม่จนเป็นต้นแบบให้หลายชุมชนในประเทศนำไปประยุกต์ใช้ จนเป็นที่รู้จักในชื่อว่า "บ้านโคกพลวงโมเดล".