การค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทย มีทั้งสกุลสายพันธุ์ไทยชนิดใหม่ของโลก และสายพันธุ์ชนิดอยู่ทั่วไป แหล่งขุดค้นพบมากสุดยังคงอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ไม่ว่าจะเป็นในพื้นที่ จ.ขอนแก่น จ.กาฬสินธุ์ จ.ชัยภูมิ จ.นครราชสีมา แต่ละแห่งล้วนทรงคุณค่านำมาใช้ประโยชน์ทางวิชาการ และถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ที่มีต้นทุนทางธรรมชาติของโลก
ข้อมูลการพิสูจน์ทางหลักวิชาการพบว่า “ภาคอีสาน” ถือว่าเป็นแหล่งอาศัยของไดโนเสาร์ใหญ่ที่สุดในแถบทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับจากปี พ.ศ.2519 มีการขุดพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์อย่างเป็นทางการชิ้นแรก ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น
สมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี ให้ข้อมูลว่า ในช่วงประมาณ 200 ล้านปีก่อน แผ่นดินเปลือกโลกยังต่อกันเป็นผืนเดียว และมีไดโนเสาร์พัฒนาการหลากสายพันธุ์และหลายรูปร่างอาศัยอยู่ทั่วพื้นที่กระจัดกระจายแพร่หลายอยู่ทั่วผืนแผ่นดินในโลก
ในยุคนั้นบริเวณพื้นที่ภาคอีสานมีสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ทั้งพื้นดินดีอุดมด้วยความเป็นธรรมชาติ มีแหล่งน้ำ ภูเขาไฟ มีความเหมาะสมเป็นที่อาศัยของไดโนเสาร์ทุกชนิดหลากหลายสายพันธุ์...
มาถึงยุคประมาณ 65 ล้านปีก่อน ไดโนเสาร์ทยอยตายไปตามกาลเวลา ประชากรเริ่มลดน้อยลงเรื่อยๆ สุดท้ายสูญพันธุ์ไปจากโลกแบบไม่หลงเหลือให้สืบสายพันธุ์
แต่ในช่วงไดโนเสาร์นอนตายลงอยู่กับพื้นดินนั้น ส่วนอ่อนของร่างกาย เช่น เนื้อ หนัง ก็เน่าเปื่อยสลายไปตามธรรมชาติ จะคงเหลือส่วนแข็ง อาทิ กระดูก ฟัน ก่อนจะถูกโคลนทรายทับถม
หากโครงกระดูกถูกทับถมด้วยโคลนทรายรวดเร็ว...รูปร่างโครงกระดูกไดโนเสาร์ก็จะคงเรียงรายต่อกันในตำแหน่งเป็นโครงร่างค่อนข้างสมบูรณ์
ทว่า...โคลนทรายและน้ำที่มีการทับถมนั้น ต่างเต็มไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลไซต์ เหล็กซัลไฟด์ และซิลิกา ซึมเข้าเนื้อกระดูกอุดตันโพรง...ช่องว่างที่มีอยู่ของกระดูก เกิดความแกร่งสามารถรับน้ำหนักของหิน ดิน ทรายที่ทับถมต่อมาภายหลังได้ เมื่อนานวันไป... “กระดูก” ก็จะกลายเป็น “ชั้นหินตะกอน” ตามธรรมชาติ
...
และ...บางพื้นที่ที่ไดโนเสาร์อาศัยอยู่นั้น...ยังมีการทิ้งรอยเท้าบนโคลนแข็งตัว และถูกทับถมด้วยชั้นตะกอน กลายเป็นฟอสซิลรอยเท้ากระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ทำให้ได้ศึกษาต่อไปถึงข้อมูลชนิด อาทิ เดิน 2 ขา หรือ 4 ขา เชื่องช้า หรือว่องไว หรืออยู่แบบเดี่ยว...แบบเป็นฝูง
แต่กาลเวลาเดินหน้า...ไม่เคยหยุดนิ่ง...เข็มของนาฬิกาหมุนไปอย่างช้าๆ ผ่านมาหลายล้านปีชั้นของทรายและโคลนยังคงทับซากไดโนเสาร์ไว้ จนกลายเป็นหินที่ถูกผนึกไว้ในชั้นหินด้วยซีเมนต์ธรรมชาติ นั่นก็คือ...“โคลนทราย”
“เมื่อพื้นผิวโลกมีการเคลื่อนตัว ทำให้ชั้นหินบางส่วนถูกยกตัวสูงขึ้น เกิดการกัดกร่อนทำลายชั้นหินด้วยความร้อนจากดวงอาทิตย์ ความเย็นจากน้ำแข็ง ฝน และลม กระทั่งถึงชั้นที่มีฟอสซิลอยู่ทำให้บางส่วนของฟอสซิลโผล่ออกมาเป็นร่องรอยกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆของประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสาน ให้นักทรัพยากรธรณีเข้ามาขุดค้นศึกษา”
สมหมาย ว่าโชคดีแผ่นดินอีสานโบราณมีลักษณะก่อตัวเป็นที่ราบสูงขนาดกว้างใหญ่ ทำให้ไดโนเสาร์มาอาศัยอยู่หนาแน่นมากที่สุดในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากการค้นพบซากฟอสซิลมากกว่า 5 หมื่นชิ้นจาก 1 แสนชิ้นทั่วประเทศ และพบซากฟอสซิลอายุแก่มากที่สุด 130 ล้านปี และอายุอ่อนที่สุด 100 ล้านปี
ที่ผ่านมา...กรมทรัพยากรธรณีนำซากไดโนเสาร์ที่ค้นพบในประเทศไทย นำไปเทียบเคียงของต่างประเทศที่มีสายพันธุ์ใกล้เคียงกัน เพื่อตรวจสอบข้อมูล หาแหล่งขุดค้น ความน่าเชื่อถือ หากพบว่าไม่มีสายพันธุ์ตรงกัน และไม่มีการโต้แย้ง จะมีการประกาศตั้งชื่อเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ที่เป็นชื่อของประเทศนั้น...
ตามหลักตั้งชื่อไดโนเสาร์ค้นพบใหม่ มักตั้งชื่อตามสถานที่ที่ขุดค้นพบซาก...หรือชื่อบุคคลค้นพบคนแรก ปัจจุบันในประเทศไทยมีการค้นพบซากฟอสซิลไดโนเสาร์ทั้งหมด 16 สายพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก 10 สายพันธุ์ ประกาศชื่อสายพันธุ์ไทยแล้ว 9 ชนิด คือ...
ตัวที่หนึ่ง...สยามโมไทรันนัส อีสานเอนซิส ไดโนเสาร์เดิน 2 เท้า ขนาดใหญ่ยาว 6.5 เมตร ตระกูลใหม่ของไทย ค้นพบกระดูกสันหลัง สะโพกและหาง ฝังในชั้นหินทรายที่จังหวัดขอนแก่น มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น 130 ล้านปีก่อน การศึกษาพบว่าอยู่ในวงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มวิวัฒนาการครั้งแรกในเอเชียแล้วค่อยแพร่กระจายไปทางเอเชียเหนือ และสิ้นสุดที่อเมริกาเหนือ
ตัวที่สอง...ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน่ เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด เดิน 4 เท้า คอและหางยาว กินพืชเป็นอาหารชนิดแรกของไทย อยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น 130 ล้านปีก่อน ถูกค้นพบกระดูกขนาดยาว 2 เมตร ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ได้รับตั้งชื่อเพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ตัวที่สาม...สยามโมซอรัส สุธีธรณี ไดโนเสาร์ชนิดแรกของไทย มีลักษณะปากคล้ายสัตว์เลื้อยคลานพวกกินปลา อยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้นประมาณ 130 ล้านปีก่อน ค้นพบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ตัวที่สี่...กินรีมิมัส ขอนแก่นเอนซิส ไดโนเสาร์นกกระจอกเทศตัวแรกของไทย พบที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น วิ่งเร็วปราดเปรียว เดิน 2 เท้า กินทั้งพืชและสัตว์เป็นอาหาร ตัวที่ห้า...อีสานโนซอรัส อรรถวิภัชน์ชี ไดโนเสาร์กินพืช มีลักษณะเก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบมา เป็นไดโนเสาร์ซอโรพอด เดิน 4 ขา คอยาว หางยาว พบที่ อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ อายุราว 210 ล้านปี
ตัวที่หก...ซิตตะโกซอรัส สัตยารักษ์กิ เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 เมตร อยู่ในยุคอายุ 100 ล้านปีก่อน จัดอยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์ปากนกแก้ว ค้นพบที่ อ.คอนสวรรค์ จ.ชัยภูมิ
...
ตัวที่เจ็ด...สยามโมดอน นิ่มงามมิ กลุ่มอิกัวโนดอนเทีย พบกระดูกขากรรไกรบน และกระดูกส่วนสมองด้านท้ายทอย ค้นพบที่ ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา มีอายุ 125-113 ล้านปี ตัวที่แปด...ราชสีมาซอรัส สุรนารีเอ เป็นไดโนเสาร์กินพืช พบกรามล่างซ้ายที่ ต.โคกกรวด อ.เมือง จ.นครราชสีมา
และ ตัวที่เก้า...สิรินธรน่า โคราชเอนซิส เป็นไดโนเสาร์อิกัวโนดอนต์ ประเภทกระดูกสะโพกแบบนก กินพืช อายุประมาณ 115 ล้านปี ค้นพบที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา
ส่วนซากฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวที่สิบ...มีการค้นพบที่จังหวัดกาฬสินธุ์ และเป็นสายพันธุ์ใหม่ของโลก ได้รับการรับรองจากสมาคมไดโนเสาร์โลกแล้วว่า ไม่เคยค้นพบจากที่ใดมาก่อน มีการตั้งชื่อเป็นไดโนเสาร์สกุลไทย และจะประกาศเร็วๆนี้...
ความสำคัญของซากฟอสซิลไดโนเสาร์ตัวนี้มีความสมบูรณ์มาก
จะถูกนำมาแสดงในงานครบรอบ 10 ปี “พิพิธภัณฑ์สิรินธร ความสำเร็จในทศวรรษแรก สู่ความร่วมมือในอนาคต” ระหว่างวันที่ 29 พ.ค.-30 มิ.ย.2562 ที่พิพิธภัณฑ์สิรินธร อ.สหัสขันธ์ จ.กาฬสินธุ์ ในการนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯไปเป็นประธานพิธีเปิดและทอดพระเนตรในงานนิทรรศการวันที่ 28 พฤษภาคมนี้...
ในงานจะมีไดโนเสาร์เอเชียจากประเทศจีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย สปป.ลาว บุกเข้ามาเยือนประเทศไทย และมีเครือข่ายนักวิชาการทั่วโลกมาร่วมแสดงความคิดเห็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ต่างๆ...ทั้งหมดจะมารวมตัวกันอยู่ที่นี่
ตอกย้ำ “อีสาน” คือแหล่งขุดค้น “ซากดึกดำบรรพ์” ที่มหัศจรรย์ยิ่งของประเทศไทย จากจำนวนของฟอสซิลที่พบเป็นจำนวนมากเป็นหมื่นชิ้นและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตมากกว่าสิบชนิด...
ดินแดนไดโนเสาร์ร้อยล้านปี แหล่งรวมซากดึกดำบรรพ์สำคัญ...
...
สู่งานวิจัยพัฒนาระดับโลก รอยอดีตเพื่อการอนุรักษ์ใช้ประโยชน์และทรงคุณค่าด้านการศึกษาเรียนรู้อย่างไม่มีวันจบสิ้น.