มีตัวอย่างความร่วมมือของภาคเอกชนในการพัฒนาเมืองที่น่าสนใจที่จังหวัดขอนแก่น ในรูปแบบของบริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ซึ่งมีสาระสำคัญและแนวคิดการดำเนินการโดยสังเขป ดังนี้

แนวคิดและรูปแบบที่ริเริ่มในการพัฒนาเมืองขอนแก่นนั้นมาจากข้อมูลพื้นฐานที่ว่า จังหวัดขอนแก่นแบ่งการปกครองออกเป็น 26 อำเภอ 198 ตำบล 2,331 หมู่บ้าน มีประชากรทั้งสิ้น 1,801,753 คน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในปี พ.ศ.2558 จำนวน 187,271 ล้านบาท เป็นลำดับที่ 1 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีประเด็นยุทธศาสตร์ 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ (1) การยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเชื่อมโยงโอกาสจากประเทศอนุภาคลุ่มนํ้าโขง (2) การพัฒนาคุณภาพคนและสังคม (3) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (4) การเสริมสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และ (5) การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และเมืองแห่งการประชุมสัมมนา (Meeting, Incentive Travel, Convention, Exhibitions : MICE City)

ในการพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะตามยุทธศาสตร์ที่ 5 นั้น นอกจากจะอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐโดยใช้แผนพัฒนากลุ่มจังหวัด แผนพัฒนาจังหวัด แผนพัฒนาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนแผนงานโครงการตามงบประมาณของส่วนราชการต่างๆ ที่มาดำเนินการในพื้นที่จังหวัดแล้ว

ภาคเอกชนถือเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมือง โดยมีการจัดตั้ง บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด (Khon Kaen Think Tank : KKTT) เมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่งเป็นการรวมตัวของกลุ่มธุรกิจชั้นนำ 20 บริษัท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของจังหวัดตนเองในเชิงออกแบบและพัฒนาเมืองอย่างถูกหลักวิชาการ และมีการระดมทุนจากทุกบริษัท บริษัทละ 10 ล้านบาท รวม 200 ล้านบาท เป็นเงินทุนประเดิมและจดทะเบียนบริษัท KKTT

...

ทั้งนี้ การนำร่องและขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาที่สำคัญโดยเห็นว่า จังหวัดขอนแก่นประสบปัญหาข้อจำกัดประการหนึ่งในการพัฒนาเมือง คือการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็วทำให้เกิดความแออัดของชุมชนและการจราจร ทำให้ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ไม่เพียงพอต่อการรองรับการขยายตัวของเมือง

ดังนั้น บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง จำกัด ได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาเมืองในระยะยาวจึงได้ลงทุนจัดทำบริการรถโดยสารสาธารณะรูปแบบใหม่ “ขอนแก่นซิตี้บัส” ภายใต้วงเงิน 33 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้กับประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง ในย่านชุมชนเมือง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 ที่ผ่านมา

นอกจากการริเริ่มขอนแก่นซิตี้บัสดังกล่าวแล้ว บริษัทได้ดำเนินการลงทุนพัฒนา ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit : LRT) โดยร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและการจราจร (สนข.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งถือเป็นการพัฒนาระบบสัญจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) ภายใต้ระบบบการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

ในการพัฒนาระบบสัญจรอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่น เริ่มต้นจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบโครงการขอนแก่น Smart City (ระยะที่ 1) ก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบาสายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น พร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างเมืองและการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยการลงทุนจากภาคเอกชน เพื่อการสร้างโครงสร้างเมืองอย่างนำสมัยและยั่งยืน ในราวเดือนมีนาคม 2559 โดยให้ สนข.ศึกษาโครงการ จากนั้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2559 ได้มีการรับฟังความคิดเห็นในการศึกษาออกแบบรายละเอียดระบบขนส่งสาธารณะและผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมีการลงประชามติเลือกระบบ LRT ดำเนินการภายในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น

อีกไม่นานเราจะเห็นโฉมของเมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบที่ขอนแก่น.

“ซี.12”