ชาวศรีสงคราม จ.นครพนม เร่งทำ "หุ่นปลายักษ์สมจริง" ให้มีสีสันสวยงามสมจริงมากที่สุด ช่วยหนุนการท่องเที่ยว พร้อมชวนชิมสารพัดเมนูเด็ดจากปลา...
เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม ช่วงนี้ชาวบ้านจาก พื้นที่ 9 ตำบล ในเขต อ.ศรีสงคราม ต่างเร่งร่วมมือร่วมใจกันประดิษฐ์ "หุ่นปลายักษ์" ที่มีความสวยงามสมจริง เริ่มตั้งแต่การทำโครงสร้างที่ถอดแบบมาจากปลาชนิดต่างๆ ในลุ่มน้ำสงคราม เพื่อทำหุ่นปลาด้วยการนำกระดาษมาประดับตกตกแต่ง ให้มีความสวยงาม ทั้งเกล็ด รูปร่างหน้าตา ที่ต้องใช้ความชำนาญ ที่พัฒนามาจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ก่อนทำการตกแต่งสีสันให้มีความสวยงามสมจริงมากที่สุด ที่สำคัญยังได้มีการนำมอเตอร์ไฟฟ้ามาประดิษฐ์ ออกแบบ ช่วยให้หุ่นปลาสามารถเคลื่อนไหวได้ทุกส่วน
ขณะที่ ทุกปีชาวบ้านรวม 9 ตำบล จะมีการประดิษฐ์หุ่นปลา ร่วมงานประเพณีเทศกาล เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีวิถีชีวิตชาวลุ่มน้ำสงคราม ทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ประชาชน นักท่องเที่ยว ได้รู้จัก อ.ศรีสงคราม เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน สร้างเงินหมุนเวียนสะพัดทุกปี ซึ่งจะมีทั้งปลาสดนานาชนิด
รวมทั้ง เป็นแหล่งผลิตสินค้าโอทอป ปลาส้ม, ปลาร้า และปลาแห้ง ที่ใหญ่ที่สุดของภาคอีสาน ทำให้มีการจัดงานเทศกาลปลาสืบสานประเพณี ต่อเนื่องมาทุกปี และในปีนี้กำหนดจัดงานมหกรรม เทศกาลปลาลุ่มน้ำสงคราม ครั้งที่ 17 ขึ้นระหว่าง วันที่ 21–25 ธ.ค.61
...
ส่วนไฮไลต์ของงาน คือวันที่ 22 ธ.ค.61 จะมีการจัดขบวนแห่ศิลปวัฒนธรรม ประเพณีท้องถิ่น ของชาวบ้านจากชุมชนต่างๆ ในพื้นที่ อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม รวม 9 ตำบล 1 เทศบาล ที่ชาวบ้านพากันประดับตกแต่ง ขบวนแห่หุ่นปลายักษ์ จากภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งจะเน้นให้ปลามีความสมจริงมากที่สุด มาร่วมขบวนแห่ยิ่งใหญ่
นายนิพนธ์ วงค์พุทธา อายุ 55 ปี ผู้ใหญ่บ้าน เผยว่า สำหรับลุ่มน้ำสงคราม ถือเป็นสายน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมายาวนาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำโขงที่สำคัญของภาคอีสาน โดยในช่วงหน้าฝนจะเกิดปัญหาน้ำเอ่อท่วม จะสามารถทำนาปรับได้ในช่วงหน้าแล้ง ส่วนหน้าฝนจะยึดอาชีพประมงจับปลาขาย ทำให้มีตลาดปลาขึ้นชื่อเป็นที่นิยมของประชาชน มาเลือกซื้อไปปรุงเป็นเมนูปลารสเด็ดแบบสดๆ ส่วนใหญ่จะเป็นปลาเนื้ออ่อน ไปจนถึงการแปรรูปปลาในรูปแบบต่างๆ
ทั้งนี้ ทำให้ชาวลุ่มน้ำสงคราม มีรายได้หมุนเวียนสะพัดจากอาชีพประมง ดังนั้นในช่วงเดือนธันวาคม ของทุกปี จึงมีการจัดงานเทศกาลปลาขึ้น เป็นการสืบสานประเพณี ส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยชาวบ้านจะร่วมใจกันทำหุ่นปลายักษ์ นานาชนิด ที่สวยงามสมจริงเคลื่อนไหวได้ รวมถึงสีสันจะต้องถอดแบบมาจาก ปลาตัวจริง เป็นสีสันร่วมแห่ในขบวน ซึ่งเป็นไฮไลต์สำคัญของงานทุกปี มีประชาชน นักท่องเที่ยวสนใจมาเที่ยวชมคึกคัก.