"สุวิทย์" ลงพื้นที่ช่วงถกครม.สัญจร ตรวจงาน "วิทย์สร้างคน" เพิ่มทักษะเยาวชน จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ ทำหมันแมลงวันทองศัตรูมะม่วงน้ำดอกไม้ ใน "หนองวัวซอ" นำร่องทำหมันด้วยรังสี หนุนส่งออกเต็มพิกัด...

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ลงพื้นที่ระหว่างการประชุมครม.สัญจร จ.บึงกาฬ - หนองคาย เยี่ยมชมโครงการโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม(Fabrication Lab) ภายในวิทยาลัยเทคนิคหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู ซึ่งสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) เข้าไปดำเนินงาน เพื่อพัฒนาทักษะความเป็นนวัตกรแก่เด็กและเยาวชนไทยทั้งระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาตามนโยบาย “วิทย์สร้างคน” รวมทั้งนำแนวคิดสะเต็มศึกษา ซึ่งประกอบด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสต์และคณิตศาสตร์ มาใช้ในการเสริมสร้างความเข้าใจของศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนพัฒนาความสามารถในการประยุกต์ใช้ศาสตร์สะเต็มศึกษาในการแก้ปัญหาจริงผ่านการเรียนรู้แบบผ่านการตั้งโจทย์และลงมือปฏิบัติจริง ซึ่งจะเป็นสถานที่ฝึกการเรียนรู้ ทดลองและลงมือสร้างชิ้นงานต่างๆ นำไปสู่ความเขาใจในศาสตร์ต่างๆ และการสร้างนวัตกรรมต่อไป

สำหรับโรงประลองต้นแบบทางวิศวกรรม หรือห้องเรียนเชิงวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม ตั้งเป้าจะสร้างให้ได้ 150 แห่งทั่วประเทศในสถานศึกษาและแหล่งเรียนรู้ทั่วประเทศ เพื่อสร้างนวัตกรให้ได้ 15,000 คน โดยโรงประลองฯ จะมีมหาวิทยาลัยพี่เลี้ยง 10 แห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เชียงใหม่, สงขลานครินทร์, บูรพา, ลาดกระบัง, พระจอมเกล้าพระนครเหนือ, พระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น และจะมีการสร้างรูปแบบการทำงานร่วมกันระหว่าง สวทช. มหาวิทยาลัย วิทยาลัยเทคนิค โรงเรียน ให้มีการถ่ายทอด แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เพื่อขยายผลสู่การเป็นประเทศแห่งนวัตกรในอนาคต และจะเกิดการสร้างงานใหม่ให้กับวิศวกรผู้ช่วย จำนวน 150 คน เพื่อส่งไปประจำสถานศึกษาทั่วประเทศและจะกลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกใหม่ในอนาคตได้

...

จากนั้นนายสุวิทย์ ได้หารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และพบปะเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะม่วงและผลไม้อื่น โดยในพื้นที่ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้ ประมาณ 7,000 ไร่ สำหรับการส่งออก ซึ่งพบปัญหาแมลงวันทองหรือแมลงผลไม้ ซึ่งเป็นแมลงศัตรูพืช โดยหนอนแมลงวันผลไม้ที่ฟักตัวออกมาจะกัดกินภายในผลไม้ทำให้เน่าเสีย และยังก่อให้เกิดปัญหาที่ต่างประเทศกีดกันไม่ให้นำผลไม้จากประเทศไทยผ่านเข้าประเทศปลายทางได้ ยกเว้นผลไม้ที่ผ่านการกำจัดแมลงทางกักกันพืช เช่น การอบไอน้ำ การฉายรังสี การรมด้วยสารเคมี เป็นต้น

ทั้งนี้ได้สั่งการให้สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(สทน.) ไปทำหมันแมลงวันทอง ให้พื้นที่ อ.หนองวัวซอ นำร่องทำหมันด้วยรังสี โดยการปล่อยแมลงวันผลไม้สายพันธุ์หลังขาวที่เป็นหมันร่วมกับวิธีอื่น ในพื้นที่ควบคุมแมลงวันผลไม้ พบว่า จำนวนแมลงวันผลไม้สายพันธุ์ปกติจะลดลง 96.02% เพราะจำนวนดักแด้ลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับก่อนการควบคุมแมลงวัน และการใช้แมลงวันสายพันธุ์หลังขาวในการตรวจสอบติดตามประชากรแมลงวัน พบว่า มีความถูกต้องในการจำแนกแมลงที่เป็นหมันออกจากแมลงในธรรมชาติมากกว่า ใช้เวลา และต้นทุนวัสดุน้อยกว่า เช่นเดียวกับหลายพื้นที่นำเทคนิคนี้มาใช้ พบว่าสามารถลดความเสียหายผลไม้ของเกษตรกรได้มาก โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะนำผู้ส่งออกผัก ผลไม้สดไปยังต่างประเทศ จัดทำเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรผู้เพาะปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้เพื่อการส่งออกทันทีถ้าทำสำเร็จ.