พด.เผย 2 เดือน ไทยนิยมยั่งยืน ทั้ง 3 กิจกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน คืบหน้ากว่าร้อยละ 30 พร้อมเร่งดำเนินการต่อเนื่อง ขณะที่เกษตรกร ระบุ พอใจการจัดอบรมให้ความรู้ โดยเฉพาะการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน เพราะจะได้นำไปปรับใช้ในพื้นที่ต่อไป...
เมื่อวันที่ 18 ก.ค. นายสุรเดช เตียวตระกูล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ขณะนี้กรมพัฒนาที่ดิน มีการดำเนินงานโครงการไทยนิยมยั่งยืนของกรมพัฒนาที่ดิน งบประมาณปี 2561 (เพิ่มเติม) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับงบประมาณใน 2 แผนงาน 3 โครงการ จำนวน 150.4777 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการสร้างฝายชะลอน้ำและจัดหาแหล่งน้ำในชุมชน ผ่านกิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ จำนวน 1,097 แห่ง งบประมาณ 109.700 ล้านบาท ขณะนี้ได้ดำเนินการสร้างฝายเเล้วเสร็จ 187 เเห่ง และอยู่ระหว่างการดำเนินการ 950 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.68 โครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อผลิตสินค้าเกษตรอื่นที่เหมาะสมกิจกรรมจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตข้าวในพื้นที่ไม่เหมาะสม เป้าหมาย 6,832 ไร่ เกษตรกร 860 ราย งบประมาณ 29.6801 ล้านบาท ซึ่งได้ดำเนินการจัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำแล้วจำนวน 2,904 ไร่ อบรมเกษตรกรแล้วจำนวน 689 ราย คิดเป็นร้อยละ 43.52 และโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการของรัฐ กิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน งบประมาณ 11.0976 ล้านบาท ขณะนี้มีเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมอบรมแล้วกว่า 3,500 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.45 ส่งผลให้การดำเนินโครงการไทยนิยมยั่งยืนคืบหน้าร้อยละ 32.21 และหลังจากนี้จะเร่งดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกโครงการ
...
นายสุรเดช กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา กรมพัฒนาที่ดิน ได้ดำเนินงานโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อการอนุรักษ์ดินและน้ำ ที่เร่งดำเนินการกับพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีการทำประชาพิจารณ์ ระดมความคิดเห็น และดำเนินการก่อสร้างฝาย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำให้ขณะนี้ได้ทยอยสร้างฝายในอีกหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเชื่อว่า หากการสร้างฝายแล้วเสร็จจะช่วยให้คนในชุมชนมีน้ำใช้เพียงพอกับความต้องการ ทั้งการเพาะปลูก อุปโภคบริโภค ในช่วงฤดูแล้ง
ส่วนการดำเนินงานโครงการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมในการปลูกข้าวเพื่อทำเกษตรผสมผสานนั้น ได้ส่งเจ้าหน้าที่ หมอดินอาสา ลงพื้นที่ให้ความรู้ อบรม พร้อมทำความเข้าใจให้แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรผลมีผลผลิตและรายได้ที่ดีขึ้นกว่าเดิม และโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการของรัฐ กิจกรรมฝึกอบรมหลักสูตรการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการพัฒนาที่ดิน ซึ่งล่าสุดได้มีการจัดอบรม ณ ศูนย์วิจัยการอนุรักษ์ดินและน้ำ อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โดยได้รับความสนใจจากเกษตรกรผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมอบรมกว่า 100 ราย ซึ่งการอบรมจะมีการให้ความรู้เกษตรกรในเรื่อง ความเหมาะสมของดิน การจัดการดินด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ การวิเคราะห์ดินและการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน การจัดการดินมีปัญหา การจัดการพืชให้เหมาะสมกับดิน พร้อมทั้งให้เกษตรกรแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติจริงตามฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิ ฐานการวิเคราะห์ดิน ฐานการเรียนรู้น้ำหมักชีวภาพ พด. 2 พด.6 และ พด.7 ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมักสูตรพระราชทาน และหญ้าแฝก นอกจากนี้ยังมีการฝึกอบรมเรื่อง การประยุกต์ใช้ที่ดินตามศาสตร์พระราชา และการเข้าถึงสารสนเทศและการใช้ประโยชน์ Application ของกรมพัฒนาที่ดิน
ด้านนายธีรภัทร์ แจ่มจันทร์ เกษตรกรผู้เข้าร่วมอบรมจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โครงการจัดอบรมที่เกิดขึ้นถือเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมาก ทำให้เกษตรกรได้รับความรู้ในเรื่องของดินและน้ำ วิธีการปรับปรุงบำรุงดินเพื่อการทำเกษตรกรรม การเพาะปลูกพืชด้วยวิธีการที่มีต้นทุนต่ำ เพื่อเพิ่มผลผลิตที่ดีขึ้น มีรายได้ในการจุนเจือครอบครัว
ขณะที่นางรัชนก ดีสาระ กล่าวว่า ได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการอบรมของกรมพัฒนาที่ดิน เนื่องจากอยากได้ความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินให้มากขึ้น จากก่อนหน้านี้ ที่ได้ทำการเกษตรแบบเก่า มีการใช้สารเคมี แต่ในระยะยาวสารเคมีเหล่านี้ได้ส่งผลต่อดินทำให้ปลูกพืชไม่เจริญเติบโตเช่นเดิม จึงต้องการหาความรู้เรื่องดินและให้ความสำคัญกับดิน โดยปรับเปลี่ยนรูปเเบบการทำการเกษตรลดการใช้สารเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น.