ขยะอิเล็กทรอนิกส์

ขยะติดเชื้อ

ขยะพลาสติก

ล้วนแล้วแต่เป็นขยะอันตรายซึ่งกลายเป็นวิกฤติสำคัญที่สร้างมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม และกำลังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมนุษย์

โดยเฉพาะ “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ปัจจุบันต้องยอมรับว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัย ซึ่งมนุษย์สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกต่อการใช้ชีวิตประจำวันนั้น ส่งผลให้จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มมากขึ้นแบบเป็นเงาตามตัว ไม่ว่าจะเป็น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ พัดลม ตู้เย็น และเครื่องซักผ้า เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธว่า เมื่ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกเหล่านี้หมดอายุการใช้งานลงก็จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ทันทีอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้

การหาวิธีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีจึงถือเป็นอีกหนึ่งทางออกที่สำคัญ นอกเหนือจากการลดปริมาณการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์

อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นจังหวัดที่สะท้อนถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นสถานที่รับขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วประเทศไทยมากำจัด โดยประชาชนเกือบทุกครัวเรือนใน อ.ฆ้องชัย จะมีอาชีพรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งทำเป็นอาชีพเสริมและอาชีพหลัก โดยสมาชิกในครัวเรือนที่ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 659 คน ซึ่งจะมีการแบ่งประเภทการรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์กันอย่างชัดเจน เช่น หากครัวเรือนใดรับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทจอ ทั้ง จอคอมพิวเตอร์ จอโทรทัศน์ ก็จะไม่รับซื้อขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่น ทำให้ชาวบ้านที่ อ.ฆ้องชัยมีความชำนาญในการแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ จนบางครั้งสามารถนำขยะมารีไซเคิล เพื่อนำกลับไปใช้งานใหม่ได้

ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ระบุว่า อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ มีสถานประกอบการขอใบอนุญาตค้าของเก่า 28 ราย มีการจดทะเบียนพาณิชย์ประกอบกิจการและรับซื้อของเก่ากับองค์การบริหารส่วนตำบล 123 ราย ผู้ประกอบการร้านค้าของเก่า 181 ราย หากลงลึกไปถึงปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเก่าจะพบว่าในแต่ละเดือนจะมีปริมาณขยะสูงถึง 767 ตันต่อเดือน แต่ในจำนวนนี้จะเป็นขยะเหลือทิ้งอยู่ที่ 20 ตันต่อเดือน

...

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นจังหวัดที่มีการบริหารจัดการและคัดแยกขยะที่ดี โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่สามารถช่วยลดปริมาณขยะได้เดือนละหลายร้อยตัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชน

“อ.ฆ้องชัยมีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหาขยะ 7 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.พัฒนาระบบการดูแล เฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพประชาชน 2.พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ 3.สร้างความรู้ ทักษะที่ถูกต้องนำสู่การเกิดจิตสำนึกและวินัยของประชาชนและผู้ประกอบการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4.พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและรูปแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5.สร้างความเข้มแข็งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการทางกฎหมาย 6.สร้างกลไกบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และ 7.ส่งเสริมอาชีพทางเลือกที่มั่นคงทั้งผู้ประกอบการและประชาชน” อธิบดีกรมควบคุมโรค ขยายภาพโมเดลการกำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ และว่า โมเดลนี้สามารถนำไปเป็นต้นแบบเพื่อปฏิบัติตามแผนประเทศไทยไร้ขยะตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 ก.ย.2559 ได้

นพ.สุวรรณชัย ยังกล่าวถึงการดูแลสุขภาพชาวบ้านที่ประกอบอาชีพถอดชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ว่า กรมควบคุมโรคมีความเป็นห่วงในสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ เพราะถึงแม้บริเวณบ่อขยะจะมีการทำรั้วกั้น แต่ก็ยังน่าห่วงเพราะเป็นบ่อดินที่มีเพียงพลาสติกรองพื้น ซึ่งในระยะยาวอาจจะทำให้สารโลหะหนักซึมลงดินและปนเปื้อนน้ำใต้ดิน ทำให้ดินและน้ำที่ใช้ในการปลูกพืชเกษตรปนเปื้อนห่วงโซ่อาหาร ซึ่งท้ายที่สุดประชาชนอาจบริโภคสารโลหะหนักเข้าไปได้ ทั้งนี้ทางจังหวัดมีความต้องการจะรวมแหล่งจัดการขยะไว้ที่จุดเดียวเพื่อให้มีระบบ ในการป้องกันการปนเปื้อนโลหะหนักในน้ำและอากาศซึ่งจะกระทบสิ่งแวดล้อมในภาพรวม จะต้องมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

ทีมข่าวสาธารณสุข มองว่า 7 แผนยุทธศาสตร์ที่ใช้เป็นตัวขับ เคลื่อนในการกำจัดปัญหา ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นอีกหนึ่งโมเดลต้นแบบที่ดี ที่จะเป็นตัวช่วยขจัดเนื้อร้ายที่กัดกร่อนธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรม เพื่อช่วยทำให้สังคมและประเทศชาติปลอดจากขยะพิษได้

แต่สิ่งที่เราอยากฝาก คือ การกำจัดขยะต้องไม่ใช่ความรับผิดชอบของชาวบ้าน อ.ฆ้องชัย หรือเพียงภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น การจะแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพิษ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะหากปล่อยให้สารโลหะหนักรั่วไหลออกมาสู่ห่วงโซ่อาหาร ก็เท่ากับว่าเรากำลังเอาชีวิตของประชาชนไปแขวนอยู่บนเส้นด้าย เนื่องจากอาหารถือเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ของการดำเนินชีวิต

ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องเป็นหัวหอกสำคัญที่จะให้การสนับสนุนและกำกับ ดูแล รวมทั้งมีการส่งเสริมให้มีการลดปริมาณขยะ และนำขยะกลับมารีไซเคิล เพื่อใช้ใหม่อีกครั้งให้เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือต้องไม่ยอมปล่อยให้ประเทศไทยต้องกลายเป็นศูนย์รวมในการลักลอบนำเข้าขยะทุกชนิดโดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพิษต่างๆจากประเทศอื่นเข้ามาทิ้ง

ถึงเวลาที่คนไทยต้องตื่นตัว ตระหนักรู้ และร่วมกันปฏิเสธ ไปจนถึงการต่อต้าน

เพราะเศษเงินที่คนบางกลุ่มได้รับจากประเทศต้นทางของขยะพิษ ไม่สามารถเทียบได้กับสุขภาพของคนในชาติ ที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือ อาจจะร้ายถึงขั้นต้องสังเวยด้วยชีวิตเลยทีเดียว.

ทีมข่าวสาธารณสุข