แฟ้มภาพ

คณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงทุจริตเงินคนจน ฟันดาบแรกเสนอไล่ออก ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งขอนแก่น กับหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคมรวม 2 คน ชงเรื่อง อ.ก.พ.กระทรวง พม.พิจารณาลงโทษ ชี้พบทุจริตปลอมแปลงเอกสารและจ่ายเงินไม่ครบ พร้อมตั้งกรรมการสอบทางละเมิดเรียกค่าเสียหาย ส่วนผลสอบศูนย์คนไร้ที่พึ่งเชียงใหม่คาด พ.ค.นี้ทราบผล ด้าน ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่งสมุทรปราการหอบหลักฐานบุกทำเนียบร้องนายกฯ ให้ฟันวินัย-อาญาอดีตปลัด พม.เชื่อโกงเงินคนจนทำกันเป็นขบวนการ ส่วนคดีโกงเงินกองทุนเสมา ประธานสอบเสนอ รมว.ศึกษาธิการลงโทษทางวินัยข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีก 10 คน

หลายหน่วยงานยังคงเดินหน้าเพื่อเอาผิดกับขบวนการโกงเงินคนจน ล่าสุดคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงเสนอโทษให้ไล่ออก ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่นแล้ว หลังพบว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเงินคนจน โดยเมื่อวันที่ 2 พ.ค.นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ พส.ดำเนินการสอบวินัยร้ายแรงศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจังหวัด 2 แห่ง ในส่วนของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น คณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรงได้สอบสวนแล้วเสร็จ เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา และเตรียมเสนอคณะอนุกรรมการสามัญ (อ.ก.พ.) ประจำกระทรวง พม.พิจารณาโทษไล่ออกจากราชการ กับผู้อำนวยการศูนย์ฯ ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัด พส. และหัวหน้าฝ่ายสวัสดิการสังคม สังกัดกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ รวม 2 คน โดย อ.ก.พ.ประจำกระทรวง พม. จะประชุมวันที่ 4 พ.ค.นี้ จากนั้นจะตั้งคณะกรรมการสอบทางละเมิด เพื่อคำนวณความเสียหายที่ผู้ถูกกล่าวโทษจะต้องชดใช้

...

นางนภากล่าวอีกว่า พฤติการณ์การทุจริตของ ผอ.ศูนย์คนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น และหัวหน้าฝ่ายจัดสวัสดิการสังคมนั้น คือการปลอมแปลงเอกสาร และจ่ายเงินให้กลุ่มเป้าหมายไม่ครบ ไม่ใช่เรื่องการไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ส่วนเงินที่ทุจริตไปไหนหรือส่งให้ใครเป็นเงินทอนหรือไม่นั้น ผลสอบไม่ได้ชี้ชัด เพียงระบุชาวบ้านได้เงินไม่ครบ ในส่วนพนักงานราชการอีก 2 คนของศูนย์ฯขอนแก่น ที่ถูกสอบวินัยไม่ร้ายแรง ขณะนี้ผลสอบยังไม่แล้วเสร็จ ส่วนศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งจ.เชียงใหม่ คาดว่าคณะกรรมการฯ จะสรุปผลการพิจารณาโทษได้ภายในเดือน พ.ค.นี้ ป.ป.ท. ได้ส่งข้อมูลบุคคลซึ่งถูกตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงให้ พส. 2 ครั้ง 35 แห่ง มีผู้ถูกกล่าวหา 156 คน ในจำนวนผู้ถูกกล่าวหา 156 คน มีบุคคลที่อยู่ระหว่างการดำเนินการทางวินัย 20 คน ส่วนบุคคลที่เหลือ 136 คน จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ทั้งนี้ ได้ย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานในปีงบประมาณ 2560 ออกจากพื้นที่ตามข้อมูลที่ ป.ป.ท.จัดส่งให้ครั้งที่ 1 จำนวน 19 คน และสั่งตรวจสอบข้อมูลที่ ป.ป.ท. จัดส่งให้เพิ่มเติมครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาสั่งย้ายข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าหน่วยงานในปีงบประมาณ 2560 ออกจากพื้นที่เพิ่มเติม

อธิบดี พส.ยังกล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ ไปยื่นข้อมูลเปิดโปงการทุจริตเงินสงเคราะห์ให้นายกรัฐมนตรีนั้น ถือเป็นเรื่องส่วนบุคคล เท่าที่ทราบก็เป็นข้อมูลกว้างๆ คงอยากขยายความผ่านสื่อให้รับรู้และเรียกร้องความเป็นธรรม จริงๆแล้วก็มีช่องทางเสนอข้อมูลหรือข้อร้องเรียนผ่านกระทรวงและกรมได้อยู่แล้ว อยากให้เชื่อมั่นตามที่ รมว.พม.ย้ำว่า ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ใครถูกก็ว่าไปตามถูก เพราะมีกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนเรื่องที่ ป.ป.ท.พบการจัดซื้อผ้าห่มกันหนาวของศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สิงห์บุรี สูงเกินราคากลางนั้น ตนได้พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์โดยตรงไปยัง ผอ.ศูนย์ฯสิงห์บุรีได้รับการชี้แจงว่าเป็นการเร่งรัดการจัดซื้อด้วยความจำเป็น ตนก็ได้ให้รายงานถึงเหตุผลที่ต้องจัดซื้อราคาสูงกว่าราคากลาง และทำไมต้องจัดซื้อเร่งด่วน เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณา

วันเดียวกันที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล นางฐณิฎฐา จันทนฤกษ์ ผอ.ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.สมุทรปราการ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้ลงโทษทั้งทางวินัยและอาญานายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ขณะนี้กำลังถูกตรวจสอบกรณีทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง นางฐณิฎฐากล่าวว่า หลักฐานการกระทำความผิดอดีตปลัด พม.ที่มีไม่ใช่เชิงการทุจริตของข้าราชการทั่วไป แต่ทำกันเป็นกระบวนการ เป็นแก๊งมิจฉาชีพ อย่างหมู่บ้านสหกรณ์สันกำแพง จ.เชียงใหม่ มีประชาชนอยู่เพียง 2,500 คน แต่โอนเงินไปหลาย 10 ล้านบาท เมื่อเบิกจ่ายเงินแล้วข้าราชการที่เกี่ยวข้องลาออกทันที และที่ศูนย์พัฒนาราษฎรบนพื้นที่สูง จ.เชียงใหม่ โอนเงินไปให้กลุ่มเครือญาติผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีประชากร 3 แสนคน แต่เบิกจ่ายเงินถึง 60 กว่าล้านบาท

นางฐณิฎฐากล่าวอีกว่า หลักฐานที่ตนนำมายื่นเป็นการสรุปข้อมูลงบประมาณที่โอนลงไปในแต่ ละพื้นที่ และเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรที่ต้องได้รับบริการ กระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) นั้นเริ่มจากปลายทาง อยากให้สอบตั้งแต่ต้นทางตรงนี้ถือว่าเป็นอาชญากรยักยอกเงินแผ่นดิน จ.สมุทรปราการ ถูก ป.ป.ท. ตรวจสอบอยู่นั้นมีประชาชน 1.2 ล้านคน ต้องได้งบฯเฉลี่ย 7-8 ล้านบาท แต่ได้รับเพียง 7 แสนบาท รวมถึงพบว่าผู้ใหญ่บ้านบางคนรับเงิน เพราะแจ้งว่าเป็นผู้มีรายได้น้อย แต่เมื่อไปตรวจสอบกลับพบว่าบ้านมีฐานะ ข้อมูลตรงนี้ได้รายงานผู้ว่าฯสมุทรปราการแล้ว และพร้อมให้ ป.ป.ท.ตรวจสอบ แต่ถ้าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องเท็จจริงก็ขอให้ผู้บริหาร ที่เกี่ยวข้องออกมาชี้แจง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นนางฐณิฎฐาได้มอบเอกสารหลักฐานให้ตัวแทนศูนย์ บริการประชาชน ก่อนจะเดินทางไปยื่นเรื่องเดียวกันที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)

...

ส่วนเรื่องการทุจริตเงินกองทุนเสมา นายอรรถพล ตรึกตรอง ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกับนายสุชาติ เดชอิทธิรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ว่า ล่าสุดพบบัญชีที่ไม่สามารถค้นพบได้ว่าเป็นของใครแต่เกี่ยวข้องกับกองทุนเสมาพัฒนาชีวิต 68 บัญชี ในช่วงปี 2548-2559 พบว่าการโอนเงินให้กับผู้รับทุนใช้เพียงเลขบัญชีเท่านั้น ธนาคารไม่สามารถทราบได้ว่าบัญชีใดเป็นจริงหรือปลอม ต่อมาในปี 2560 การโอนเงินต้องใช้ทั้งชื่อและเลขบัญชีประกอบกัน แต่พบว่าธนาคารก็ยังโอนเงินไปบัญชีปลอมหลายรายการ ทางธนาคารรับเรื่องไปตรวจสอบว่าเกิดอะไรขึ้น มีเจ้าหน้าที่ธนาคารเกี่ยวข้องหรือไม่

“ตั้งแต่ปี 2548-2561 พบหลักฐานการโอนเงินรวม 34 ครั้ง เป็นเงิน 240,173,163 บาท ในจำนวนนี้เป็นเงินที่โอนถูกต้องตรงกับผู้มีสิทธิ์รับทุน 134,425,281 บาท คิดเป็น 56% ของจำนวนเงินทั้งหมด ส่วนผลการสืบสวนขณะนี้มีความคืบหน้าไป 99% พร้อมสรุปเสนอ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ วันที่ 7 พ.ค.นี้ สำหรับผู้กระทำผิดนอกจากนางรจนา สินที อดีตข้าราชการ ซึ่งถูกไล่ออกจากราชการแล้ว เตรียมเสนอพิจารณาลงโทษทางวินัยผู้เกี่ยวข้องอีก 10 คน ส่วนจะเป็นข้าราชการระดับใดยังไม่สามารถบอกได้ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ รมว.ศึกษาธิการ” นายอรรถพลกล่าว