เผยยกมาตรฐานการผลิต "ปลาร้า" เพื่อยกระดับสินค้าให้เป็นที่ยอมรับ ใช้อ้างอิงในการส่งออก โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน ขณะที่ผู้ประกอบการผลิตปลาร้า ชี้เป็นผลดีแน่นอน
นายพิศาล พงศาพิชณ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่คนไทยนิยมบริโภคอย่างแพร่หลายและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้การผลิตปลาร้าขยายตัวเติบโตขึ้นจากระดับครัวเรือนหรือธุรกิจขนาดเล็ก เป็นการผลิตขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยมีปริมาณการผลิตสูงถึง 40,000 ตัน/ปี มีมูลค่าตลาดในประเทศรวมปีละกว่า 800 ล้านบาท ขณะเดียวกันไทยยังมีการส่งออกปลาร้าไปต่างประเทศด้วย โดยเฉพาะตลาดกลุ่มประเทศอาเซียน อาทิ สปป.ลาว เวียดนาม กัมพูชา และประเทศที่มีคนเอเชียไปอาศัยอยู่จำนวนมาก ทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป (EU) และกลุ่มตะวันออกลาง มูลค่าการส่งออกปลาร้าของไทยรวมกว่า 20 ล้านบาท/ปี ซึ่งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้น
นายพิศาล กล่าวต่อไปว่า ปลาร้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการหมักปลากับเกลือ เติมรำข้าว หรือรำข้าวคั่ว หรือข้าวคั่ว ในอัตราส่วนและระยะเวลาการหมักที่เหมาะสม เพื่อให้ได้กลิ่นรสที่มีลักษณะเฉพาะของปลาร้า ก่อนบรรจุในภาชนะบรรจุ ที่สามารถป้องกันการปนเปื้อนได้ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากไทยยังไม่มีเกณฑ์กำหนดคุณภาพที่เป็นมาตรฐานสำหรับใช้อ้างอิงการซื้อขายปลาร้า ประกอบกับการรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีการค้าขายอย่างเสรี จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าที่เป็นที่ยอมรับ
จากเหตุผลดังกล่าว กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย มกอช. จึงร่วมกับกรมประมง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดทำร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่อง “ปลาร้า” ขึ้น เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตปลาร้าที่มีคุณภาพ มีความปลอดภัยได้มาตรฐานสากล นอกจากนี้ ยังสามารถใช้มาตรฐานฯ ดังกล่าวเป็นเครื่องมืออ้างอิงในการค้าทั้งในประเทศและการส่งออก ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค ทั้งในและต่างประเทศส่งผลต่อการขยายตลาดผลิตภัณฑ์ปลาร้าของไทยให้เติบโตขึ้น
...
สำหรับสาระสำคัญของมาตรฐานฯ ดังกล่าว มีข้อกำหนดเกณฑ์คุณภาพ ได้แก่ ลักษณะทั่วไป สี กลิ่น และรสชาติ ทั้งยังกำหนดปริมาณเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) ในปลาร้า ต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 18 โดยน้ำหนัก ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถยับยั้งการเจริญของจุลินทรีย์ก่อโรคได้ นอกจากนั้น
ต้องไม่พบตัวอ่อนพยาธิตัวจี๊ด และตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับ และต้องไม่มีสิ่งแปลกปลอม เช่น เส้นผม ดิน ทราย กรวด รวมถึงแมลง มอด ชิ้นส่วนของแมลง ขนสัตว์ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ด้วย
ขณะเดียวกันยังได้กำหนดเกี่ยวกับวัตถุเจือปนอาหารในปลาร้า เช่น ห้ามใช้สีและวัตถุกันเสียทุกชนิด ข้อกำหนดสารปนเปื้อน อาทิ ปริมาณสูงสุดของสารตะกั่ว ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม/กิโลกรัม
สารหนูในรูปอนินทรีย์ ไม่เกิน 2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และสารปรอท ต่ำกว่า 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เป็นต้น อีกทั้งยังมีข้อกำหนดด้านสุขลักษณะ ปริมาณจุลินทรีย์ ภาชนะบรรจุ การบรรจุ การแสดงฉลากทั้งร้านขายปลีกและขายส่งที่ต้องระบุชนิดปลา ส่วนประกอบ ชนิดของวัตถุเจือปน วันเดือนปี ที่ผลิต-หมดอายุ คำแนะนำในการเก็บรักษา-การบริโภค ตลอดจนชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้แบ่งบรรจุ รวมถึงการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรด้วย ในขั้นตอนของการกำหนดมาตรฐาน
ที่ผ่านมา มกอช. ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่างมาตรฐานฯ ปลาร้า เพื่อนำข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาปรับปรุงร่างมาตรฐานฯ ให้ถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ และอยู่ในแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ พร้อมประชาสัมพันธ์มาตรฐานฯ ปลาร้าให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการรับทราบ เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวก่อนที่มาตรฐานจะประกาศใช้ต่อไป
“มกอช.ได้ปรับปรุงรายละเอียดร่างมาตรฐานฯ และได้นำเสนอคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรพิจารณา ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรได้มีมติให้ออกประกาศกำหนด มาตรฐานสินค้าเกษตร : ปลาร้า มาตรฐานเลขที่ มกษ.7023-2561 ไว้เป็นมาตรฐานทั่วไป ใช้โดยสมัครใจ เพื่อส่งเสริมพัฒนายกระดับสินค้าปลาร้า ให้มีคุณภาพมาตรฐาน เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2561 และมีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ซึ่งล่าสุด มาตรฐานดังกล่าวได้ประกาศเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561” รองเลขาธิการ มกอช. กล่าว
ด้าน นายธวัชชัย มณีกุลทรัพย์ ผู้ประกอบการน้ำปลาร้าปรุงรสตราแม่น้อย อยู่ที่ จ.นครพนม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากกรณี มีการประกาศราชกิจจานุเบกษา เรื่องการควบคุมคุณภาพปลาร้า ในฐานะที่ตนเป็นผู้ประกอบการ จำหน่ายปลาร้าที่มีคุณภาพ ขึ้นชื่อของ จ.นครพนม ที่มีการพัฒนาปลาร้า ตั้งแต่ดั้งเดิมแบบภูมิปัญญาชาวบ้าน จนมาถึงการผลิตปลาร้าบรรจุ เป็นโรงงานขนาดเล็ก และมีการตรวจสอบจากหน่วยงานเกี่ยวข้อง จนได้รับการรับรองคุณภาพ รวมถึงผ่านการตรวจสอบคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งถือเป็นปลาร้าที่ส่งขายทั่วอีสาน เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าผู้บริโภค
“คิดว่าการออกกฎหมายควบคุมลักษณะดี เป็นเรื่องดีทั้งผู้บริโภค และผู้ผลิตจำหน่าย ที่จะต้องมีการปรับตัวพัฒนาคุณภาพการผลิต ทั้งเรื่องของ ความสะอาด ปลอดภัย รสชาติ กลิ่น เชื่อว่าสามารถพัฒนาได้ และไม่กระทบกระบวนการผลิต ถือเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำที่จะทำให้ผู้ผลิต พัฒนาตัวเอง เพื่อแข่งขันด้านการตลาด ให้สินค้ามีคุณภาพ นอกจากนี้สิ่งที่ตามมาคือผู้บริโภค จะได้รับประทานปลาร้าที่สะอาด ปลอดภัย อีกด้วย”
นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญในเรื่องการผลิต ตั้งแต่ดั้งเดิมภูมิปัญญาชาวบ้าน ยืนยันว่า ปลาร้าที่ดี จะต้องมีการหมักที่สะอาด และมีขั้นตอนการผลิตที่เป็นภูมิ ปัญญาชาวบ้าน ที่จะต้องมีระยะเวลาในการผลิต ไปจนถึงการคัดวัตถุดิบปลาที่นำมาผลิต ส่วนผสม ต่างๆ จะต้องมีการคัดสรร เพื่อให้ได้คุณภาพ หากมีขั้นตอนการผลิตที่ดี จะไม่กังวลเรื่อง รสชาติ กลิ่น ยืนยันว่าจะได้ปลาร้าที่มีคุณภาพตามที่ออกกฎหมายควบคุมแน่นอน
ทั้งนี้ หากการผลิตมีคุณภาพทุกราย สิ่งที่ตามมาคือ มูลค่าของปลาร้า รวมถึงตลาด จะเป็นการยกระดับอาชีพการผลิตปลาร้า ที่จะสามารถสร้างรายได้มากขึ้นให้กับกลุ้มผู้ผลผิตปลาร้า ส่วนรายที่ไม่มีคุณภาพจะต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน และในอนาคตจะทำให้กลายเป็นสินค้าคุณภาพ ส่งออกขายทั่วประเทศ เป็นการสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตมากขึ้น ซึ่งการผลิตปลาร้า ถือเป็นอาชีพภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่สร้างรายได้ดีพอสมควร หากผู้ผลิตมีการพัฒนาตัวเอง ตนในฐานะผู้ผลิตปลาร้าขึ้นชื่อของ นครพนม ขอสนับสนุนและเห็นด้วยกับการออกกฎหมายควบคุมลักษณะนี้ และหากผู้ผลิตปลาร้าที่ใส่ใจในคุณภาพ จะไม่หนักใจเลย ทั้งคุณภาพเรื่องรสชาติ เรื่องกลิ่น หรือส่วนผสมต่างๆ สามารถผลิตให้ได้มาตรฐานแน่นอน
...