"พ่อเมืองขอนแก่น" รุดตรวจสอบปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว อ.น้ำพอง หวั่นหน้าแล้งชาวบ้านเดือดร้อน ไม่พอใช้ จึงรีบแก้ปัญหา และตั้งแผนรองรับ เพื่อบรรเทาทุกข์ให้ชาวบ้านได้ทันท่วงที...


เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 3 ก.พ.61 นายสมศักดิ์ จังตระกุล ผวจ.ขอนแก่น พร้อมด้วย นายเรืองโชค ชัยดำรงค์กุล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานขอนแก่น พล.ต.กาจบดินทร์ ยิ่งดอน ผอ.สำนักปฏิบัติภารกิจรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดที่ 9 (ขอนแก่น) และนายศุภชัย ลีเขาสูง นายอำเภอน้ำพอง หน.ส่วนราชการในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่น ร่วมกันลงพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านเสียว ม.13 ต.วังชัย อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น


นายสมศักดิ์ เปิดเผยถึงการนำคณะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียวครั้งนี้ว่า เนื่องจากได้รับการรายงานปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของชลประทานขอนแก่น ว่า พื้นที่จังหวัดขอนแก่น 26 อำเภอนั้น มีอ่างเก็บน้ำในความดูแลของชลประทานที่ 6 จำนวน 14 อ่าง แต่อ่างเก็บน้ำห้วยเสียว ซึ่งอยู่ในพื้นที่บ้านเสียว ม.13 ต.วังชัย อ.น้ำพองนั้น ความจุอ่าง 520,000 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างมากพอสมควร ซึ่งในขณะที่ปีนี้มีปริมาณน้ำเก็บกักในอ่างมีอยู่ 52% เท่านั้น จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้พอใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้


...

ผวจ.ขอนแก่น กล่าวต่ออีกว่า ทุกปีที่ผ่านมาในช่วงหน้าแล้งพื้นที่ อ.น้ำพอง บางส่วน เช่น ชาวบ้านที่ต้องใช้น้ำในอ่างเก็บน้ำห้วยเสียว จำนวน 8 หมู่บ้าน มากกว่าหนึ่งพันครอบครัว ต้องประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค เพราะน้ำในอ่างจะแห้งขอด จนเหลือน้ำที่ขุ่น ไม่สามารถนำไปใช้ได้ และไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำประปา จำเป็นต้องมีการวางแผนรองรับ 


"ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่เองก็มีการปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันคือปรับเปลี่ยนการปลูกพืช การทำนา ซึ่งจากในอดีตชาวบ้านจะทำนาปรังเป็นส่วนใหญ่ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านหันมาใช้พื้นที่นาปลูกอ้อยแทน ปลูกมันสำปะหลัง และทำนาปรังบ้างเล็กน้อย ซึ่งชาวบ้าน 8 หมู่บ้านรอบพื้นที่อ่างเก็บน้ำ ทำการเกษตรทั้งหมดรวม 110 ไร่ และจากการพูดคุยกับชาวบ้าน ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปีนี้น้ำในอ่างเก็บน้ำเพียงพอต่อการเกษตร เลี้ยงสัตว์และนาปรัง รวมทั้งเพียงพอต่อการผลิตน้ำประปาด้วย" นายสมศักดิ์กล่าว 


ผวจ.ขอนแก่น กล่าวอีกว่า แม้ชาวบ้านจะบอกว่า น้ำที่มีอยู่น่าจะพอใช้ในช่วงหน้าแล้งนี้ แต่เพื่อความไม่ประมาท จังหวัด และอำเภอ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีแผนรองรับ เช่น การขุดบ่อบาดาล เพราะถ้ามีบ่อบาดาลจะช่วยให้แก้ไขปัญหาได้ในระยะยาว แต่ถ้าจะให้แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ทันท่วงที หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรีบจัดหาน้ำมาช่วยบรรเทาทุกข์ให้ชาวบ้านก่อน.