มท.1 ย้ำหนักทุกจังหวัดเร่งฟื้นฟูพื้นที่ประสบอุทกภัย พร้อมมอบนโยบายเตรียมการรับมือภัยหนาวที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 30 ปี...
เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ห้องประชุม วีไอพี. ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางมารับทราบปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา จากผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอ รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และหน่วยงานชลประทานในพื้นที่ กว่า 100 คน พร้อมมอบนโยบายในการจัดการแก้ไขปัญหาทั้งปัญหาอุทกภัย ภัยหนาว รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ทางจังหวัดนครราชสีมาจะต้องเผชิญอีกในปี 2554 ที่กำลังจะมาถึง
โดยมีนายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครราชสีมา รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยได้รับทราบ โดยเฉพาะปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นซ้ำซากเรื้อรังในพื้นที่ อ.พิมาย, อ.ปักธงชัย รวมถึงเขตอำเภอเมือง ที่ตำบลหนองบัวศาลา และบริเวณตำบลหัวทะเล อ.เมืองฯ ซึ่งมีสภาพพื้นที่เป็นแอ่งกระทะ และต้องรองรับปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลจากพื้นที่ตอนบน ที่มีอยู่ถึง 3 อำเภอ ประกอบด้วย อ.สูงเนิน, อ.โชคชัย และ อ.ปักธงชัย โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นทางจังหวัดนครราชสีมาร่วมกับทางกองทัพภาคที่ 2 ได้ดำเนินการก่อสร้างคันดินกั้นน้ำในพื้นที่กองทัพภาคที่ 2 ซึ่งอยู่เหนือ ต.หนองบัวศาลา จนแล้วเสร็จ แต่ปรากฏว่าด้วยพื้นที่ ต.หนองบัวศาลายังคงต้องรองรับน้ำจากพื้นที่ตอนบนอีกหลายช่องทางทำให้ยังคงเกิดปัญหาน้ำไหลบ่าเข้าท่วมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น เพื่อเข้าให้การช่วยเหลือพี่น้องที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในทุกพื้นที่ พร้อมกับได้สั่งการให้หน่วยงานทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันในการวางแนวทางการ แก้ไขปัญหาต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม โดยทางกระทรวงมหาดไทยพร้อมที่จะให้การสนับสนุนงบประมาณในการแก้ไขปัญหาอย่าง เป็นระบบ
นายชวรัตน์ กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือขณะนี้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยใน หลายจังหวัด และเพื่อให้การฟื้นฟูและช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง จึงได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตาม หลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยเฉพาะการฟื้นฟูซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ที่ได้รับความเสียหาย หากพื้นที่ใดได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง จนเกินขีดความสามารถที่จังหวัดจะดำเนินการเองได้ ให้ขอรับการสนับสนุนจากส่วนกลาง
สำหรับความเสียหายด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ที่มีมูลค่าความเสียหายเกินกว่าวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการ จังหวัด ที่มีอยู่จังหวัดละ 50 ล้านบาท ให้เสนอเรื่องต่อคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ/จังหวัด เพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลางจากรัฐบาลต่อไป ส่วนนโยบายในการรับมือกับปัญหาภัยพิบัติต่างๆ นั้น ทางกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือให้ความช่วยเหลือต่างๆให้มีความพร้อมอย่างเต็มที่ อย่างเช่นในช่วงที่เกิดปัญหาอุทกภัยอย่างที่เป็นอยู่ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ต้องมีการเตรียมพร้อมเครื่องมือให้ความ ช่วยเหลือทั้ง เรือท้องแบน เครื่องสูบน้ำ รวมถึงอุปกรณ์ขนย้ายข้าวของของประชาชน เพื่อให้ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด เป็นต้น
นายชวรัตน์ กล่าวอีกว่า จากการติดตามคาดหมายลักษณะอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า ในปีนี้ ประเทศไทยจะมีสภาพอากาศหนาวเย็นที่สุดในรอบ 30 ปี โดยจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวตั้งแต่ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2553 ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 - 5เดือนและจะสิ้นสุดฤดูหนาวประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยมีภาคเหนือและ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่คาดว่าจะมีอากาศหนาวจัดรวม 11 จังหวัด ประกอบด้วย ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน เลย อุดรธานี หนองคาย สกลนคร และนครพนม ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวที่กำลังจะมาถึง จึงได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ในทั้งระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และระดับท้องถิ่น ให้มีครอบคลุมทั่วทั้งพื้นที่ พร้อมดำเนินการสำรวจและจัดทำบัญชีผู้ประสบภัยหนาว ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามแผนรับมือของจังหวัด จัดเตรียมเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอต่อการบรรเทาความเดือดร้อน พร้อมทั้งวางแผนแจกจ่ายเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เป็นไปอย่างทั่วถึง โดยปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังและหลักเกณฑ์ที่กำหนดอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประเมินสถานการณ์ภัยหนาวและรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทราบทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้ปรับแผนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวให้สอดคล้องกับสภาพ อากาศและความเดือดร้อนของประชาชนในแต่ละพื้นที่.
...