สุดทึ่ง ชาวบ้านที่สกลนคร หันมาตั้งฟาร์มเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อใช้กำจัดขยะในชุมชน และทำปุ๋ยอินทรีย์ ด้าน ม.เกษตรฯ หนุนตั้งเป้าขายทำเป็นอาหารสัตว์ หลังพบมีคุณค่าทางโภชนาการสูง...

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.2561 ที่ศูนย์วิจัยกำจัดขยะอินทรีย์ชุมชน บ.โนนศาลา ม.12 ต.เชียงเครือ อ.เมือง จ.สกลนคร ดร.สมควร โพธารินทร์ หัวหน้าโครงการ อ.คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร นายรามินทร์ ศรีโยหะ ผู้ช่วยงานวิจัย นายอำพร วงศ์ยะมะ ผู้ใหญ่บ้านโนนศาลา ม.12 นำผู้สื่อข่าวชมขั้นตอนการเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อใช้ในการกำจัดขยะในชุมชน ภายในโรงเลี้ยงในศูนย์วิจัยกำจัดขยะอินทรีย์ชุมชน บ.โนนศาลา

โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร กับชาวบ้านในหมู่บ้านโนนศาลา หลังจากที่นายรามินทร์ซึ่งเป็นชาวบ้านในหมู่บ้าน ได้ค้นพบคุณสมบัติพิเศษของหนอนแมลงวันลายในการย่อยสลายขยะอินทรีย์ และได้ทำการทดลองเลี้ยงด้วยตนเองจนได้รับผลสำเร็จเบื้องต้น ก่อนที่จะนำเสนอโครงการต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมพัฒนาต่อยอดและสนับสนุนทางด้านวิชาการ จนกระทั่งนำมาสู่โครงการความร่วมมือระหว่างชาวบ้านและมหาวิทยาลัย ในการสนับสนุนเงินทุนให้กับโครงการ จนนำมาสู่การจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะอินทรีย์ชุมชน

...

ที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้จัดสร้างโรงเลี้ยงเป็นอาคารถาวรขนาดเล็ก แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกล้อมรอบด้วยมุ้งตาข่ายขนาดเล็กเพื่อป้องกันแมลงวันลายบินหนี ด้านในจัดสภาพแวดล้อมด้วยต้นไม้ขนาดเล็กหลากหลายชนิด จำลองสภาพให้คล้ายกับธรรมชาติเพื่อให้แมลงวันลายใช้เป็นที่อาศัย โดยมีถาดใส่น้ำเชื่อมที่เป็นอาหารหลักของเจ้าแมลงวันลายวางไว้มุมหนึ่ง ด้านข้างเป็นตับไม้ขนาดเล็กที่จำลองไว้สำหรับใช้เป็นที่ให้แมลงวันลายมาวางไข่ ซึ่งหลังจากที่ได้ไข่แล้วก็จะนำไข่ไปเพาะเลี้ยงอนุบาลในอาคารส่วนที่ 2 โดยจะนำไข่ใส่ลงไปในภาชนะพลาสติกที่เป็นกระบะที่บรรจุอาหารของตัวอ่อนไว้ เมื่อไข่ฟักออกมาเป็นตัวหนอนก็สามารถกินอาหารได้ทันที ซึ่งอาหารทั้งหมดก็มาจากขยะอินทรีย์ในครัวเรือน ทั้งเศษข้าวเศษผักและใบไม้ต่างๆ

นอกจากนี้ ด้านนอกอาคารยังได้จำลองการเลี้ยงแบบธรรมชาติ โดยนำขยะบรรจุลงในท่อซีเมนต์ขนาดใหญ่ เมื่อแมลงวันลายมาวางไข่จนกระทั่งฟักออกมาเป็นตัวหนอน ก็จะจัดการขยะที่อยู่ในท่ออย่างรวดเร็ว และเมื่อขยะถูกย่อยสลายแล้วก็สามารถนำไปเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้ ส่วนตัวหนอนแมลงวันนั้นก็นำไปเป็นอาหารสัตว์ต่อไป โดยวงจรชีวิตของแมลงวันลายจะมีชีวิตประมาณ 7 วันเท่านั้น จากนั้นจะเริ่มวางไข่ระยะฟักไข่ 4 วัน 19-23 วัน จะเป็นตัวหนอนแล้วเป็นดักแด้ ก่อนจะโตเป็นแมลงวัน คุณประโยชน์คือในระหว่างที่เป็นตัวหนอนและดักแด้ สามารถย่อยสลายขยะหรือเศษอาหารได้อย่างรวดเร็ว จนขยะไม่มีกลิ่นเหม็นรบกวนหรือรุมตอมต่างจากแมลงวันทั่วไปทั้งน่ารำคาญและเป็นพาหะนำโรค 

นายรามินทร์ ศรีโยหะ ผู้ริเริ่มการทดลองเลี้ยง กล่าวว่า จุดเริ่มต้นมาจากการที่ตนเองทิ้งเศษข้าวเศษอาหารลงไปในถังแล้วพบว่ามีหนอนชนิดนี้มาช่วยย่อยเศษขยะอินทรีย์ได้อย่างรวดเร็ว จึงทำการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองจากรายงานต่างๆ จนทราบว่าเป็นหนอนแมลงวันลาย หรือ black sodier fly ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสายพันธุ์ที่แตกต่างจากแมลงวันบ้านทั่วไปหลังจากศึกษา และทดลองเลี้ยงจนประสบผลสำเร็จในเบื้องต้นแล้ว จึงคิดว่าหนอนชนิดนี้มีประโยชน์มหาศาลในการจัดการกับขยะที่เป็นปัญหาในทุกชุมชน โดนเฉพาะขยะอินทรีย์ที่มักเกิดการเน่าเหม็น

ผู้ริเริ่มการทดลองเลี้ยง กล่าวต่อว่า ด้วยความที่บ้านอยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้นำแนวคิดที่จะถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนไปเสนอกับมหาวิทยาลัย จนกระทั่งนำมาสู่โครงการวิจัยนี้โดยร่วมกันกับชาวบ้านภายในหมู่บ้าน ในการใช้หนอนแมลงวันลายกำจัดขยะอินทรีย์ในครัวเรือน นอกจากจะได้ประโยชน์จากการกำจัดขยะแล้ว ยังได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่เกิดจากการย่อยสลาย ขณะที่หนอนตัวเต็มวัยก็นำไปเป็นอาหารสัตว์ เช่น ไก่ หรือปลา ที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ได้ ทำให้ประหยัดเงินจากการซื้อหัวอาหารได้

ด้าน ดร.สมควร โพธารินทร์ กล่าวว่า โครงการนี้มุ่งเน้นที่สองอย่างคือปุ๋ยอินทรีย์จากการย่อยสลายขยะของหนอนแมลงวันลาย ที่สามารถย่อยได้อย่างรวดเร็ว โดยพบว่าสามารถย่อยขยะได้เร็วกว่าไส้เดือนดินถึง 5 เท่า และนอกจากนี้ตัวหนอนเองจากการวิเคราะห์พบว่ามีโปรตีนสูงถึง 40-50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ได้อย่างดี โดยหนอนแมลงวันลายหากเปิดดูในเว็ปไซด์ต่างประเทศ หนอนสดจะขายกันกิโลกรัมละ 1,200 บาท แต่หากเป็นหนอนอบแห้งราคาจะประมาณ 1,600 บาทต่อกิโลกรัม และยังสามารถนำไปแปรรูปได้หลากหลายด้วย

...

หัวหน้าโครงการ กล่าวอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยจึงสนใจที่จะส่งเสริมให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย จากการเลี้ยงหนอนแมลงวันเพื่อขายเป็นอาหารสัตว์ แต่หากในอนาคตมีการเลี้ยงกันมากไม่มีตลาดขายหนอนแมลงวันลายก็ยังมีประโยชน์ในการช่วยกำจัดขยะในครัวเรือน และเป็นอาหารสัตว์ของเกษตรกรในชุมชนได้อีกด้วย ซึ่งในอนาคตก็จะมีการพัฒนาศูนย์ฯ แห่งนี้ให้เป็นศูนย์เรียนรู้และวิจัยของมหาวิทยาลัยในอนาคตด้วย

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจอยากเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย สามารถสอบถามได้ที่ โทร 08-5917-8857 หรือ 09-9239-2664 ซึ่งทางเราพร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้นี้ให้กับทุกคนเพื่อไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ โดยไม่มีการหวงความรู้แต่อย่างใด.