ตม.ลาว รุดขอข้อมูลหลังสองพี่น้องชาวลาวขนเงิน 98 ล้าน ถูกศุลกากรหนองคายตรวจยึด พบแถบมัดเงินของ 4 ธนาคารไทย รวม 91 ล้าน ที่เหลือ 7 ล้านไม่มีตราธนาคารกำกับ คาดทำธุรกิจรับแลกเงิน นายด่านยัน ยอมยกเงินให้ตกเป็นของแผ่นดินจริง...
วันที่ 13 ธ.ค. ความคืบหน้ากรณีศุลกากรหนองคาย ทำการจับกุมนายสุบัน เตยสิริ อายุ 30 ปี และนายคำบอน เตยสิริ อายุ 24 ปี สองพี่น้องชาวลาว ขณะขับรถยนต์โตโยต้าซุกซ่อนเงิน 98 ล้านบาท ไว้ในรถ เหตุเกิดช่วงบ่ายวันที่ 12 ธ.ค.60 ซึ่งในวันนี้ นายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย ได้ให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรแยกจำแนกแถบมัดเงิน พบว่าเป็นแถบเงินของธนาคารกรุงไทย 79 ล้านบาท, ธนาคารกสิกรไทย 4 ล้านบาท, ธนาคารกรุงเทพ 4 ล้านบาท, ธนาคารทีเอ็มบี 4 ล้านบาท และไม่มีตราธนาคารกำกับ 7 ล้านบาท จากนั้นได้ทำหนังสือสอบถามไปยังธนาคารว่า ทั้งสองคนนำเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ไปแลกเปลี่ยนเป็นเงินบาทไทยจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
ขณะเดียวกัน พันตรีแอนเซอรี่ พลทะรังสี หัวหน้าห้องการตรวจคนเข้าเมืองลาว และร้อยเอกสุวันนี ทำมะวง นักวิชาการ ได้นำหนังสือจากรัฐบาลลาว มาพบนายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย เพื่อขอข้อมูลรายละเอียดทั้งหมด เนื่องจากเป็นประชาชนลาวถูกเจ้าหน้าที่ศุลกากรหนองคายควบคุมตัวไว้ โดยจะได้นำข้อมูลกลับไปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของ สปป.ลาวทราบ
...
ทั้งนี้ ในหนังสือดังกล่าวระบุว่า เป็นคำสั่งจากคณะหัวหน้ากรมใหญ่ตำรวจ กระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ลงชื่อโดย พันโทบุนเพ็ง วอละลาด หัวหน้าด่านตรวจคนเข้าเมืองสะพานมิตรภาพลาว – ไทย แห่งที่ 1 ซึ่งได้ตรวจสอบเงินที่ตรวจยึดไว้ ก่อนที่ทางศุลกากรหนองคายจะให้ข้อมูลรายละเอียของการจับกุม
นายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับทางการลาวอย่างเต็มที่ และอนุญาตให้พบกับผู้ต้องหาได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ลาวไม่ประสงค์จะพบทั้งสองคนแต่อย่างใด ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นก็ยังยืนยันว่า ชาวลาวทั้งสองคนทำธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่นครหลวงเวียงจันทน์จริง เมื่อรวบรวมเงินสกุลดอลลาร์ได้ก็นำมาแลกเป็นเงินบาทในไทย เพื่อไว้บริการประชาชนชาวลาว แต่เป็นการลักลอบนำเข้านำออกเงินตราโดยไม่แจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งตามสิทธิแล้วสามารถนำเงินออกนอกประเทศได้คนละ 450,000 บาทต่อวัน แต่ต้องเจ้าหน้าที่ศุลกากรทราบ หากเกินกว่านั้น หรือตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ต้องขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนทุกครั้ง กรณีนี้เป็นคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2560 มีอายุความ 15 ปี
นายนิมิตร กล่าวด้วยว่า หลังจากทำการตรวจยึดจับกุม ศุลกากรได้ทำการสอบสวนร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ส. หาที่มาของเงิน เนื่องจากเป็นเงินจำนวนมากที่เคยตรวจยึดได้ โดยได้สอบปากคำอย่างละเอียดไม่พบความเชื่อมโยงกับยาเสพติดแต่อย่างใด ทั้งสองคนยังยืนยันว่าครอบครัวทำธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งที่นครหลวงเวียงจันทน์จะใช้สกุลเงินกีบ เงินบาท และเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
ทั้งนี้ ทั้งสองคนยื่นความประสงค์ขอประกันตัว และยินยอมยกเงินทั้งหมด 98 ล้านบาท ให้เป็นทรัพย์สินของประเทศไทย ซึ่งตามประมวลระเบียบปฏิบัติของศุลกากร ระบุว่าในกรณีที่ผู้ต้องหาเป็นชาวต่างประเทศและมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าไม่สามารถหาหลักทรัพย์หรือบุคคลที่น่าเชื่อถือมาทำสัญญาประกันได้ และตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี ผู้ต้องหาสามารถประกันตนเองได้ โดยยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยึดเอกสารการเดินทางทุกชนิดไว้เป็นประกัน ประกอบกับมีทั้งสองคนมีทนาย เจ้าหน้าที่จึงให้ประกันตัว แต่ยึดหนังสือเดินทาง พร้อมไม่อนุญาตให้ออกนอกประเทศ จนกว่าคดีจะสิ้นสุด และในวันนี้ได้ให้ทั้งสองคนมารายงานตัวและสอบปากคำเพิ่มเติมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ง.
"มั่นใจว่ากรณีนี้เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นการลักลอบนำเข้า นำออกเงินตรา โดยไม่ผ่านเจ้าหน้าที่และสถาบันการเงินที่ถูกต้อง ซึ่งตามระเบียบศุลกากรอนุญาตให้นำเงินเข้าออกประเทศได้คนละ 450,000 บาทต่อวัน และต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง หากมากกว่านั้นต้องแจ้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยทราบเพื่อตรวจสอบธุรกิจและความจำเป็นในการนำเงินตราออกนอกประเทศ คาดว่าจะมีการกระทำลักษณะนี้บ่อยครั้ง จากการตรวจสอบพบว่าทั้งสองคนใช้รถยนต์คันดังกล่าวเข้าออกไปกลับภายในวันเดียว ช่วงระยะเวลา 2 เดือน 9 ครั้ง อาจจะเป็นการนำเงินมาแลกเปลี่ยนแบบระเบียบของศุลกากร ซึ่งจะต้องตรวจสอบอย่างละเอียด"นายนิมิตร กล่าว.
...