สุดยอด ชุมชนบ้านระเบิกขาม บุรีรัมย์ คว้าที่ 1 ระดับประเทศ ชุมชนขนาดกลาง ปลอดขยะ ปี 60 เผยความสำเร็จใช้พลัง “เยาวชน” ขับเคลื่อนกิจกรรม รูปแบบกรรมการหมู่บ้านรุ่นจิ๋ว สามารถลดขยะได้ถึง 90% ในเวลา 3 ปี...

นายวีระพงษ์ แลเพลิน ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 5 ตำบลเสม็ด อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า ชุมชนบ้านระเบิกขาม ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ โครงการประกวดชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ประจำปี 2560 ประเภทชุมชนขนาดกลาง ซึ่งเป็นกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชน ประชาชน และภาคีความร่วมมือต่างๆในพื้นที่ ให้เกิดการจัดการขยะในชุมชนตั้งแต่ต้นทาง โดยนำหลัก 3Rs มาประยุกต์ใช้ คือ Reduce การลดปริมาณขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle การนำกลับมาใช้ใหม่

สำหรับชุมชนบ้านระเบิกขาม มีประชากร 735 คน 150 ครัวเรือน แต่มีผู้อาศัยอยู่จริง 141 ครัวเรือน มีปริมาณขยะ 764.58 กก./วัน แยกเป็นขยะอินทรีย์ 537.20 กก./วัน ขยะรีไซเคิล 151.50 กก./วัน ขยะทั่วไป 63.80 กก./วัน และขยะอันตราย 11.90 กก./วัน ซึ่งเป็นปริมาณที่มาก หากไม่มีการจัดการที่ดีอาจทำให้เกิดปัญหาขยะล้น ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะและสุขภาวะของชุมชนได้ ซึ่งที่ผ่านมาชุมชนได้รับการสนับสนุนพัฒนาให้เป็นชุมชนต้นแบบของจังหวัดบุรีรัมย์ ในด้านการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น สิ่งแวดล้อม และการจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพื่อนำไปสู่ความเป็นชุมชนสีเขียว

ทั้งนี้ในการดำเนินกิจกรรมจัดการขยะของชุมชนมีวิธีการที่ค่อนข้างหลากหลาย และยึดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในชุมชนเป็นหลัก เช่น มีการนำขนมธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม “จนองจองได” มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความร่วมมือให้กับคนในชุมชน มีการจัดส่งปิ่นโตใส่แกงหรือขนมไปตามบ้านเรือนในงานแต่ง งานบวช หรืองานมงคลประเพณีต่างๆ รวมทั้งมีกิจกรรม “ใส่บาตรอิ่มบุญ หนุนสิ่งแวดล้อม” โดยขอให้ลูกศิษย์วัด เตรียมปิ่นโตเปล่ามากับพระตอนบิณฑบาต เพื่อให้ชาวบ้านใส่อาหารและขนม มีกิจกรรมการลดใช้ถุงพลาสติกตั้งแต่ต้นทางตามธรรมนูญหมู่บ้าน โดยร้านค้าในชุมชนซึ่งมี 6 ร้านต้องเข้าร่วม และคนในชุมชนต้องใช้ถุงผ้าหรือตะกร้าไปซื้อสินค้าเอง

...

ขณะที่ทุกครัวเรือน ได้รับการส่งเสริมให้มีการคัดแยกขยะประเภทต่าง เช่น พลาสติก แก้ว กระดาษ อลูมิเนียม มีการจัดตั้งธนาคารขยะสะสมบุญ ทอดผ้าป่าขยะรีไซเคิล ทำน้ำหมักชีวภาพ ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร ทำน้ำยาเอนกประสงค์จากน้ำหมัก เลี้ยงไส้เดือน ใช้วัสดุธรรมชาติแทนการใช้ถุงพลาสติก ซึ่งทำให้สามารถลดปริมาณขยะได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยจุดเด่นชองชุมชนได้ดำเนินการในรูปแบบของคณะกรรมการหมู่บ้าน และมีคณะกรรมการเยาวชนหมู่บ้าน เป็นกลไกการขับเคลื่อน โดยเฉพาะคณะกรรมการเยาวชนหมู่บ้าน จะมีหน้าที่ตรวจตราและเก็บขยะมูลฝอยรอบหมู่บ้าน มีการปั่นจักรยานทุกวันเสาร์และรายงานผลผ่านเสียงตามสาย ทำกิจกรรมบริเวณฐานการเรียนรู้ที่ครอบครัวของตนเองดำเนินการอยู่ ตลอดจนการสะสมการดำเนินกิจกรรมในสมุดความดี โดยคะแนนที่สะสมได้จะถูกใช้เป็นคะแนนจิตพิสัยในโรงเรียน เป็นต้น

“ชุมชนประสบความสำเร็จเรื่องการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง ทั้งที่เริ่มทำงานได้เพียงแค่ 3 ปี หรือตั้งแต่ปี 2557 ที่ผ่านมาเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายผลไปสู่การดึงภาคีแนวร่วมจากหน่วยงานภาคนอก เช่น สหกรณ์ สำนักงานเกษตรอำเภอ สถาบันการศึกษา ให้เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของชุมชน ดังนั้นรางวัลที่ได้รับ จึงถือเป็นรางวัลแห่งความสำเร็จ จากความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งในเดียวกันของทุกคนในชุมชนอย่างแท้จริง” ผู้ใหญ่วีระพงษ์ กล่าว