ถือว่าเป็นอีกหนึ่งประวัติศาสตร์ที่คนไทยต้องจารึกกับ โศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในเมืองไทยกับ เหตุการณ์ตึกถล่มโรงแรมรอยัลพลาซ่า ถ.จอมสุรางค์ยาตร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ความเสียหายในครั้งนั้นยังผลให้มีผู้ที่เสียชีวิตทั้งหมดถึง 137 คนบาดเจ็บ 227 คน ไทยรัฐ ออนไลน์ ย้อนรอย 17 ปีนาทีต่อนาที ในวันที่ 13 ส.ค.2536 อีกครั้ง เพื่อย้ำความจดจำและนำมาเป็นบทเรียน ...

วันที่ 13 ส.ค. 2536 เวลา 10.30 น.เสียงวิทยุ และทีวีประกาศดังลั่น ทำลายความสงบของ ถ.จอมสุราค์-ยาตร ใจความมีอยู่ว่า โรงแรมรอยัลพลาซ่า ตั้งอยู่เลขที่ 547 ถ.จอมสุรางค์-ยาตร อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นอาคาร 6 ชั้น ประกอบด้วยห้องพัก ห้องอาหาร และแหล่งบันเทิงที่ครบวงจรได้ถล่มทรุดลงมาขณะที่มีพนักงานของโรงแรม แขกที่พักอยู่ตาม
ห้องต่างๆ ข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ โครงการพัฒนาบุคลากรสามัญศึกษา พร้อมทั้งพนักงานบริษัทเชลล์ เข้าประชุมสัมมนา ประมาณ 380 คน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 137 คน และบาดเจ็บอีก 227 คนยังความตกใจให้กับผู้ที่รับข่าวสารมากมาย

หลังจากรับแจ้งเหตุ นายดำรง  รัตนพานิช ผวจ. นายบุญสม  พิรินทร์ยวง นายอำเภอเมือง พร้อมด้วย พล.ต.ต.สิทธิศักดิ์  อินทร์ถมยา ผบก.ภ. 4 พ.ต.อ.เถลิงศักดิ์  สุคนธมาน หน.ตร.นครราชสีมา พ.ต.ท.อำนาจ  อันอาตม์งาม สวญ.สภ.อ.เมืองนครราชสีมา และ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเดินทางไปที่เกิดเหตุ

ภายหลังการสืบค้นประวัติ โรงแรมรอยัลพลาซ่า พบว่า ขณะนั้นโรงแรมแห่งนี้มีคณะกรรมการ5 คน โดยมี นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไลเป็นประธาน เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2527 ตามใบอนุญาตเทศบาลเลขที่ 11/2527 ลงวันที่ 24 ต.ค. 2526 ขออนุญาตก่อสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้น รวมชั้นใต้ดินมีนายณรงค์ นันทผาสุข เป็นผู้ขออนุญาต มีจำนวนห้องทั้งหมด 62 ห้อง ต่อมาปี 2533 บริษัทรอยัลพลาซ่าโฮเต็ลได้ต่อเติมเป็นอาคาร 6 ชั้นตามใบอนุญาต ที่ 644/2533

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.2533 มีจำนวนห้องเพิ่ม 134 ห้อง และ ในปี 2536 ซึ่งได้ขออนุญาตก่อสร้างเพิ่มอีก 9 ห้อง ซึ่งกำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่โดยมีนายบำเพ็ญ พันธุ์รัตนะอิสระ เป็นวิศวกรออกแบบและสถาปนิก นายสุวัฒน์ ตัณฑนุข เป็นผู้ช่วยวิศวกร ห้างหุ้นส่วนจำกัด วงษ์สินไทย เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง และขออนุญาตก่อสร้างในสมัยนายนิวัตชัย สุชาดารัตน์ เป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครราชสีมา นายประชิต วงษ์มณี เป็นเทศมนตรีเทศบาลเมืองนครราชสีมา ผู้ควบคุมงานกองช่าง เป็นผู้อนุมัติ

ต่อมาไม่นาน กระทรวงมหาดไทย แต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนนายบำเพ็ญ พันธ์รัตนะอิสระ วิศวกรออกแบบ โดยมีนายเสรี สุธรรมชัย รองอธิบดีกรมโยธาธิการ เป็นประธาน เพื่อให้คณะกรรมการอนุกรรมการดำเนินการไต่สวนตามข้อบังคับ ก.ว. ว่าด้วยการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

ทั้งนี้ พล.ต.ท.วิรุฬท์  ฟื้นแสน ผบช.ภ. 2 ได้ประชุมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ และแต่งตั้งให้ พล.ต.ต.ประจิตต์ แสงสุบิน รอง ผบช.ภ. 2 รับผิดชอบควบคุมคดี โดยมอบหมายให้ พ.ต.อ.บำรุง  สุขพานิช รองผบก.ภ. 4 เป็นหัวหน้าชุดสอบสวน พ.ต.อ. จุฬา ชูเวช รอง หน.ตร.นครราชสีมา เป็นรองหัวหน้าสอบสวน พล.ท.อานุภาพ ทรงสุนทร แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ต.ท.วิรุฬท์ ฟื้นแสน ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.ประจิตต์ แสงสุบิน รอง ผบช.ภ.2 พล.ต.ต.สิทธิศักดิ์ อินทร์ถมยา ผบก.ภ. 4 นายดำรง รัตนพานิช ผวจ.นครราชสีมา นางชูศรี ศรีวิไลลักษณ์ นายกเทศมนตรี และหัวหน้าส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมวางแผนช่วยเหลือผู้รอดชีวิตพร้อมกับได้นำตัวนายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล นายสัญชัย สุรโชติมงคล นายชาตรี  ล้อเลิศรัตนะ และนายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ มาสอบปากคำที่สภ.อ.เมือง และได้ตั้งข้อหาทั้ง 4 คน ว่า

“กระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและบาดเจ็บ ซึ่งทั้งหมดให้การปฏิเสธ ส่วยนายเลิศ เอี่ยมวงษ์ศิริกุล และนายซิม แตมสำราญ ยังหลบหนีอยู่”

นายชวน  หลีกภัย นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย รมต.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รมช.กระทรวงมหาดไทย และอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อธิบดีกรมการปกครองในขณะนั้น เดินทางไปตรวจสอบที่เกิดเหตุ

“จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการละเลยเพิกเฉยในการดูแลการก่อสร้าง และเชื่อว่ายังมีอาคารสภาพดังกล่าวอีกหลายแห่ง เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังบูม จึงไม่ค่อยสนใจเรื่องของแบบแปลนการก่อสร้าง หรือมีการใช้อิทธิพลในท้องถิ่น โดยนายทุนใช้อิทธิพลกับข้าราชการจึงอยากให้มีการเข้มงวดถึงการเคารพกฎหมาย และหลักเกณฑ์” นายชวนกล่าว

พล.อ.ชวลิต  ยงใจยุทธ รมว.มหาดไทย สั่งให้จังหวัดนครราชสีมาจัดตั้งกองอำนวยการในบริเวณโรงแรมที่เกิดเหตุ เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้กระทรวงมหาดไทยกำลังพิจารณา พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร 2522 โดยจะปรับปรุงในบางส่วนเกี่ยวกับการให้หน่วยงานในท้องถิ่นดูแลในเรื่องการ อนุมัติและการกำกับดูแลอาคาร

เหตุโศกนาฏกรรมในครั้งนี้ส่งผลให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าให้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย นำมามอบให้เป็นกำลังใจแก่ผู้รอดชีวิต อีกทั้งสำนักงานประกันสังคมจ.นครราชสีมา ได้ให้การช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลและชดเชยให้แก่ผู้เสียชีวิตหรือพิการ

นายวิทยา วงศ์วัชรกาญจน์ ผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมดังกล่าวออกมาระบุว่าทางบริษัทฯ ให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้เสียชีวิต

ต่อมา เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยและทุกภาคส่วนลงพื้นที่และใช้เครื่องมืออุปกรณ์ขุดเจาะขนาดเล็ก เครื่องเจาะแรงอัดลม เครื่องตัดเหล็กไฟฟ้า ทำการขุดเจาะช่วยเหลือ

ด้าน พล.ต.ต.ประจิตต์  แสงสุบิน รองผบช.ภ. 2 เชิญตัว นายบำเพ็ญ พันธุ์รัตนะอิสระ วิศวกรและสถาปนิก มาสอบสวน โดยนำเอกสาร และแบบแปลนมาประกอบการสอบสวน ส่วนสาเหตุการถล่มนั้นเบื้องต้นคาดว่าเกิดจากการออกแบบก่อสร้างหรือการ ก่อสร้างไม่ถูกต้องตามแบบแปลน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะตั้งคณะกรรมการเพื่อสอบสวน โดยเฉพาะผู้ที่มีความรู้ ความชำนาญ ในการออกแบบก่อสร้างมาร่วมเป็นกรรมการ

ต่อมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 200,000 บาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย และมีพระราชเสาวนีย์แสดงความห่วงใย อีกทั้งขอบพระทัยทุกฝ่ายที่ให้ความช่วยเหลือ

ด้านนาย สมเกียรติ  พงษ์ไพบูลย์ เลขาธิการสภาองค์การครู กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่อุบัติเหตุแต่เป็นอุบัติการณ์ทางสังคมไทย เห็นว่าควรจะต้องมีการตรวจสอบสภาพของอาคารที่มีการต่อเติมทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่เป็นเมืองหลัก

น.พ.วิฑูร  แสงสิงแก้ว อธิบดีกรมการแพทย์ ได้สั่งให้แพทย์เคลื่อนที่พร้อมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ประกอบด้วย ศัลยแพทย์ และพยาบาล จำนวน 3 ทีม เข้าช่วยเหลือ

ต่อมาพบนางพรรณี  วีสะเพ็ญ หญิงมีครรภ์รายหนึ่งที่แพทย์จำเป็นต้องทำคลอดก่อนกำหนดเนื่องจากท่อนแขนซ้าย ถูกของหนักทับอาการสาหัส ปรากฏว่าเด็กที่คลอดเป็นเพศชาย ชื่อ ด.ช.ปาฏิหาริย์  วีสะเพ็ญ มีชีวิตได้เพียง 9 วัน ก็เสียชีวิต

วันที่ 15 ส.ค. 2536 นายกรัฐมนตรี เดินทางมายังศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอีกครั้ง เพื่อติดตามดูแลการช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในซากอาคาร จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่รพ.มหาราช พร้อมทั้งนำกระเช้าดอกไม้และมอบเงินช่วยเหลือและได้มอบหมายให้นายเอกสิทธิ์ ลิ้มสุวรรณ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิศวกรรมโครงสร้างคณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยช่วยพิจารณาสาเหตุการถล่มของโรงแรมดังกล่าว ส่วนเรื่องที่ผู้รับเหมามักจะสมยอมกันในการประกวดราคาการก่อสร้างของทางราชการ

ครม.ได้มีมติให้กำชับดูแลในเรื่องราคาก่อสร้าง ซึ่งผู้ตรวจรับงานไม่ควรปล่อยปละละเลยให้ผู้รับเหมาใช้ของไม่ตรงตามข้อกำหนด เพราะผลของการอนุมัติอาจจะไม่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่จะต่อเนื่องถึงอนาคต  

ด้าน นายไสว  พราหมณี อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ อดีตผู้ว่าฯ นครราชสีมา กล่าวถึงกรณีที่ตนมีส่วนในการพิจารณาอนุมัติการต่อเติมอาคารโรงแรมดังกล่าว ว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องซึ่งการขออนุญาตก่อสร้างและต่อเติมอาคารเป็นเรื่องของ เทศบาลเมือง และการขอก็มีใบอนุญาตประกอบการโรงแรม เรื่องดังกล่าวเป็นของคณะกรรมการส่วนจังหวัด

นพล.ต.ต.ประจิตต์  แสงสุบิน รอง ผบช.ภ. 2 กล่าวว่าด้านการดำเนินคดีขณะนี้ได้แจ้งข้อหากับ นายเลอพงศ์  พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการ และพวกในข้อหาร่วมกันกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต แต่ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธ ควบคุมตัวไว้ที่ สภ.อ.เมืองนครราชสีมา

ส่วน นายเลิศ  เอี่ยมวงษ์ศิริกุล และนายซิม  แตมสำราญ กรรมการบริษัท กำลังติดต่อขอมอบตัวกับพนักงานสอบสวนอยู่ สำหรับนายบำเพ็ญ  พันธุ์รัตนะอิสระ วิศวกรและสถาปนิก กับนายสุวัฒน์ ตัณฑนุข ผู้ช่วยวิศวกร ต่างยืนยันว่าได้ออกแบบแปลนการก่อสร้างถูกต้องตามหลักวิชาการทุกอย่าง และพนักงานสอบสวนก็ยังไม่ได้แจ้งข้อหากับบุคคลทั้ง 2 ทั้งนี้ต้องตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ก่อน

เวลา 17.00 น. นายเลอพงศ์ พัฒนจิตวิไล ประธานกรรมการโรงแรมรอยัลพลาซ่าและพวกอีก 4 คนได้มอบตัวพร้อมกับให้การปฏิเสธ

วันที่ 16 ส.ค.2536 ผบช.ภ. 2 ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อหาสาเหตุและตรวจ สอบแบบแปลนว่าถูกต้องหรือไม่ ต่อมานายเลอพงศ์  พัฒนจิตวิไล นายชาตรี ล้อเลิศรัตนะ นายสัญชัย  สุรโชติมงคล และนายวิทยา  วงศ์วัชรกาญจน์ ได้รับการประกันตัวจาก พล.ต.ท.วิรุฬ  ฟื้นแสน ผบช.ภ. 2 ในวงเงินคนละ 2 ล้านบาท

...

ทีมงามสอบสวนพบสาเหตุการทรุดของโรงแรมมาจากฐานรากระหว่างรอยต่ออาคารเก่า กับส่วนใหม่ที่ต่อเติม ทำให้ทรุดตัวกะทันหัน และ จากการตรวจสอบพบน้ำใต้ดินที่ไหลสู่ฐานราก เจ้าของโรงแรมแก้ปัญหาโดยทำบ่อแล้วสูบน้ำใต้ดินออก ทำให้ฐานรากลดขีดสมรรถภาพในการรับน้ำหนัก เพราะน้ำที่ซึมถูกดูดออกไปเป็นดินด้วย โดยทำติดต่อกัน 2 ปี จึงทำให้เกิดโพรงเมื่อความหนาแน่นของดินใต้ฐานรากของแนวต่ออาคารเก่ากับใหม่ มีความหนาแน่นน้อย ฐานรากจึงรับน้ำหนักไม่ไหว

บริษัทกรุงเทพประกันภัยชี้แจงว่า ทางโรงแรมจะไม่ได้รับเงินชดเชยจำนวน 125 ล้านบาท เนื่องจากกรมธรรม์ระบุว่าประกันเฉพาะอัคคีภัยเท่านั้น

ด้าน พล.ต.อ.สวัสดิ์  อมรวิวัฒน์ อ.ตร. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาสาเหตุอาคารถล่มจำนวน 29 คน ทำการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานดำเนินคดีกับผู้ กระทำผิดพ.ต.ต.สำเริง  แสงวิรุฬ ผู้ช่วยผบช.ภ. 2 ได้ตรวจพบว่ามีการใช้วัสดุก่อสร้างอื่นแทนแบบที่กำหนดเอาไว้ ซึ่งเป็นโครงเหล็กรองรับน้ำหนัก ส่วนที่ต่อเติมทั้งหมดและจากการตรวจแบบที่ก่อสร้างอาคารครั้งแรก ไม่มีการลงเสาเข็ม ต่อมาผู้เชี่ยวชาญได้เสนอมาตรการตรวจสอบความปลอดภัยของอาคารและสิ่งก่อสร้าง โดยมาตรการระยะสั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์เสนอตัวร่วมกับ มหาวิทยาลัยของรัฐและวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเปิดบริการตรวจสอบหรือเรียกตรวจสอบแบบและข้อมูลของอาคารต่างๆ และมาตรการระยะยาวจะมีการประชุมประสานงานระหว่างกระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการควบคุมอาคารและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อหาวิธีดำเนินการ ที่จะเกิดผลทางปฏิบัติ

เวลา 18.00 น. นายซิม แตมสำราญ อายุ 55 ปี กรรมการบริษัทเข้ามอบตัวกับ พ.ต.ท.สังวรณ์ ภู่ไพจิตรกุล สวส.สภ.อ.เมืองนครราชสีมา เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหากระทำการประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และบาดเจ็บสาหัส ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ